"มสธ." รุกยกระดับผู้ประกอบการด้วยทุนพื้นที่-อัตลักษณ์ชุมชนสู่โลกออนไลน์

24 ก.ย. 2567 | 06:43 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ก.ย. 2567 | 02:43 น.

"มสธ." รุกยกระดับผู้ประกอบการด้วยทุนพื้นที่-อัตลักษณ์ชุมชนสู่โลกออนไลน์ มุ่งหวังให้เครื่องมือในการเพิ่มศักยภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่น ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ภาวิน ชินะโชติ ประธานกรรมการประจำสาขาวิชาวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการยกระดับผู้ประกอบการท้องถิ่น โดยเฉพาะด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 

การนำทรัพยากรในพื้นที่และอัตลักษณ์ของชุมชนมาเชื่อมโยงกับโลกออนไลน์ เพื่อเป็นเครื่องมือในการเพิ่มศักยภาพและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่น ผ่านการสัมมนาเชิงวิชาการในหัวข้อ บ่มเพาะองค์ความรู้ เสริมชุมชนท้องถิ่นสู่การพัฒนาอย่างมืออาชีพ

ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวถือเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับชุมชนท้องถิ่นในยุคที่การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อให้สามารถแข่งขันในระดับประเทศและนานาชาติ โดยเชื่อว่าการนำเทคโนโลยีและองค์ความรู้เข้ามาใช้ในการพัฒนาท้องถิ่น จะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ชุมชนสามารถเติบโตอย่างยั่งยืนและตอบสนองต่อความต้องการของยุคดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 

นายกูเฮง ยาวอหะซัน เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า การนำทุนพื้นที่และอัตลักษณ์ชุมชนมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ดี โดยต้องตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรในพื้นที่มี ซึ่งประกอบไปด้วยทั้งทรัพยากรธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม และความเชื่อมโยงทางสังคม ที่สามารถต่อยอดเพื่อสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

"มสธ." รุกยกระดับผู้ประกอบการด้วยทุนพื้นที่-อัตลักษณ์ชุมชนสู่โลกออนไลน์

"การพัฒนาเศรษฐกิจด้วยทุนพื้นที่และอัตลักษณ์ชุมชน จะต้องเกิดจากการร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ซึ่งปัจจุบันสามารถเสริมด้วยเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือในการเพิ่มศักยภาพและสร้างตลาดใหม่ให้กับชุมชนได้สะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ชุมชนไทยเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนต่อไป” 

พันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรัตน์ เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า การพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน และสตรีในชุมชนมีบทบาทสำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาดังกล่าว โดยถือว่าเป็นแรงผลักดันที่ไม่เพียงแต่สร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างสันติภาพที่ถาวร การสนับสนุนสตรีให้มีบทบาทมากขึ้นในด้านเศรษฐกิจ รวมถึงครอบครัว และช่วยสร้างความเข้มแข็งในชุมชน 

นางปัจฉิมา ธนสันติ อดีตอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า การพัฒนาทุนพื้นที่และอัตลักษณ์ชุมชน ที่ยั่งยืนควรได้รับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งรูปแบบของการจดเครื่องหมายการค้าของแบรนด์สินค้า รวมทั้งสร้างอัตลักษณ์สินค้าด้วยแบรนด์ชุมชนด้วยการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ 

"มสธ." รุกยกระดับผู้ประกอบการด้วยทุนพื้นที่-อัตลักษณ์ชุมชนสู่โลกออนไลน์

นายนิอันนุวา สุไลมาน นายกเทศมนตรีเมืองปัตตานี กล่าวว่า เมืองปัตตานีมีอัตลักษณ์เฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ศิลปวัฒนธรรม อาหารพื้นบ้าน หรือหัตถกรรมท้องถิ่น สิ่งเหล่านี้ถือเป็นทุนที่มีคุณค่า การนำเทคโนโลยีมาช่วยเสริมจะทำให้ชุมชนเข้มแข็งขึ้นและสามารถแข่งขันในระดับนานาชาติได้ 

นายพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวถึงว่า ศิลปะผ้าบาติกไม่ได้เป็นเพียงศิลปะท้องถิ่น แต่ยังมีศักยภาพที่จะยกระดับเป็นศิลปะระดับโลกได้ โดยมองเห็นโอกาสและความสามารถของคนในพื้นที่ที่จะร่วมกันพัฒนาผลงานผ้าบาติกให้มีความเป็นสากลและเติบโตสู่ตลาดโลกมากยิ่งขึ้น