"สศอ." ปั้นฮาลาลไทยสร้างมูลค่ากว่า 335 ล. ปี 67 เตรียมดันขึ้นฮับฮาลาลอาเซียน

24 ก.ย. 2567 | 07:36 น.
อัพเดตล่าสุด :24 ก.ย. 2567 | 07:36 น.

"สศอ." ปั้นฮาลาลไทยสร้างมูลค่ากว่า 335 ล. ปี 67 เตรียมดันขึ้นฮับฮาลาลอาเซียน เผยแผนปี 68 จะเดินหน้าพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศอัจฉริยะอุตสาหกรรมฮาลาล และเข้าร่วมงานแสดงสินค้าระดับโลก

นางศิริเพ็ญ เกียรติเฟื่องฟู รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า การดำเนินโครงการยกระดับอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลแห่งอนาคต (Halal Food of the Future) ขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ไทยสู่สากล ในปี พ.ศ. 2567 ในภาพรวมสามารถสร้างมูลค่าทางการค้าได้สูงถึง 335 ล้านบาท 

ทั้งนี้ ถือว่าเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการของไทยมีความพร้อมเข้าสู่สนามการแข่งขันในตลาดฮาลาลโลก

อย่างไรก็ดี ในปี 2568 กระทรวงอุตสาหกรรมมีแผนพัฒนาส่งเสริมผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมฮาลาลเพิ่มเติม เช่น พัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศอัจฉริยะอุตสาหกรรมฮาลาล (Halal Intelligence Unit) ประกอบด้วยฐานข้อมูลที่จำเป็นสำหรับผู้ประกอบการครอบคลุมในทุกมิติ เร่งขยายตลาดสินค้าและบริการฮาลาลไทย 

โดยการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าระดับโลกในภูมิภาคต่าง ๆ เพิ่มขึ้นทั้งภูมิภาคตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือ พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลแห่งอนาคต (Halal Future Food) เช่น อาหารพร้อมรับประทาน (Ready-to-Eat) เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มมุสลิมรุ่นใหม่ พัฒนาผลิตภัณฑ์แฟชั่นฮาลาล โดยมุ่งเน้นด้านการออกแบบ เชื่อมโยงเอกลักษณ์พื้นถิ่น รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ยา สมุนไพร และเครื่องสำอาง  เป็นต้น 

"สศอ." ปั้นฮาลาลไทยสร้างมูลค่ากว่า 335 ล. ปี 67 เตรียมดันขึ้นฮับฮาลาลอาเซียน

"ทุกฝ่ายได้ให้การตอบรับที่จะร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ภาครัฐ เอกชน และหน่วยงานเครือข่ายต่าง ๆ ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ สถาบันอาหาร สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ สถาบันส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เป็นต้น ซึ่งทำให้เชื่อมั่นได้ว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายได้ตามแผน คือ ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการผลิตและการส่งออกสินค้าฮาลาลในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Halal Hub) ภายในปี พ.ศ. 2570”

นางศิริเพ็ญ กล่าวอีกว่า การดำเนินโครงการ Halal Food of the Future ดังกล่าว เพื่อกระตุ้นให้เกิดการปรับตัวของธุรกิจแปรรูปอาหารฮาลาลไปสู่การยกระดับมาตรฐานการผลิตในระดับสากล มุ่งเน้นการจัดทำต้นแบบแนวทางการพัฒนาผู้ประกอบการให้มีความพร้อมในการขอรับรองมาตรฐานฮาลาลตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ตั้งแต่วัตถุดิบ เครื่องปรุง อาหารสด การแปรรูป ไปจนถึงผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปในตลาดเป้าหมายที่มีศักยภาพแต่ละภูมิภาคทั่วโลก 
 

โดยใช้จุดแข็งของอัตลักษณ์อาหารไทย (Soft Power) ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน จนสามารถผลิตสินค้าที่ดีต่อสุขภาพ ปลอดภัย สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค และเป็นไปตามหลักการศาสนาอิสลาม เพื่อส่งออกสู่ตลาดสากล และผลักดันให้ประเทศไทยสามารถเป็น 1 ใน 10 ของประเทศผู้ส่งออกอาหารของโลกได้ภายในปี 2570

"สศอ." ปั้นฮาลาลไทยสร้างมูลค่ากว่า 335 ล. ปี 67 เตรียมดันขึ้นฮับฮาลาลอาเซียน  

นางศิริเพ็ญ กล่าวต่อไปอีกว่า ล่าสุดเพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาลในภูมิภาคอาเซียนได้กำหนดจัดกิจกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลไทยภายใต้ (ร่าง) แผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2567 - 2570) ในปี พ.ศ. 2567 (Quick Win) ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินกิจกรรมดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว ประกอบด้วย 

  • การจัดกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทย (Kick Off) ในงาน Halal Inspirium เป็นการเปิดตัว “ศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย” มีการจัดแสดงสินค้าและบริการฮาลาลไทย จากผู้ประกอบการไทย จำนวน 40 บูธ การจัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจ โดยเชิญคู่ค้าที่สนใจเข้าร่วมงานทั้งหมด 37 บริษัท เกิดการจับคู่ธุรกิจ 139 คู่เจรจา รวมมูลค่าการค้าทั้งสิ้น 88.7 ล้านบาท   
  • กิจกรรมการขยายตลาดสินค้าและบริการฮาลาลไทยภายในประเทศ โดยเข้าร่วมงาน THAIFEX-Anuga Asia 2024 จัดพื้นที่แสดงผลิตภัณฑ์นวัตกรรมสินค้าฮาลาล 22 ผลิตภัณฑ์ จากผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการขอรับรองมาตรฐานฮาลาล จากสถาบันอาหาร โดยการสนับสนุนจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม  ได้แก่ ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ 6 ผลิตภัณฑ์ ขนมขบเคี้ยว เเละขนมหวาน 5 ผลิตภัณฑ์ เครื่องปรุงรสต่าง ๆ อาทิ ซอส น้ำพริก เเละผงแป้งสำเร็จรูป 5 ผลิตภัณฑ์ เครื่องดื่ม อาทิ เช่น รังนก เเละนมเเพะ 3 ผลิตภัณฑ์ สินค้าเกษตรแปรรูป เช่น ผลไม้อบเเห้ง เเละไข่ผำ 2 ผลิตภัณฑ์ และ Plant Based เช่น สเต็กเห็ดเเครง 1 ผลิตภัณฑ์ พร้อมการจับคู่เจรจาธุรกิจ มีมูลค่าการซื้อขายเกิดขึ้น รวมทั้งสิ้น 47.62 ล้านบาท จากผู้ซื้อหลายประเทศ
  • กิจกรรมการเจรจาภายใต้กรอบความร่วมมือในการขยายตลาดสินค้าและบริการฮาลาลไทย ในการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-บรูไน  ณ ประเทศบรูไน โดยได้จัดแสดงและนำเสนอสินค้าและบริการฮาลาลของไทย จำนวน 9 บริษัท ประกอบด้วยสินค้าประเภทอาหาร เครื่องแต่งกาย และเครื่องสำอาง  มีผู้เข้าร่วมงานจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สมาคม หอการค้า ผู้จัดจำหน่าย รวมถึงสื่อต่างๆ จำนวน 147 คน มียอดสั่งซื้อสินค้าแล้ว 3.2 ล้านบาท ประมาณการว่าจะมีมูลค่าการค้าภายในปีนี้ทั้งสิ้นราว 16.9 ล้านบาท 
  • กิจกรรมการประชุมระดับรัฐมนตรีแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (The IMT-GT Ministerial Meeting) ณ ประเทศมาเลเซีย และการประชุมกลุ่มย่อย โดยร่วมออกบูธนิทรรศการ และจัดแสดงศักยภาพของผลิตภัณฑ์สินค้าฮาลาลของไทย ได้แก่ แคปปลาหมึก ซอสผัดกะเพรา ผงโรยข้าว ทูน่าหยอง น้ำพริกกุ้ง โจ๊กคัพ เครื่องแต่งกายมุสลิม พร้อมจัดทำแบบสำรวจความต้องการผลิตภัณฑ์และบริการด้านฮาลาลไทย เพื่อให้เกิดความร่วมมือด้านการผลิต การค้าและบริการภายใต้แผนงาน IMT-GT ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม สิ่งทอ เวชภัณฑ์ โรงแรม การท่องเที่ยว และร้านอาหาร  

 
“เฉพาะตลาดอาหารฮาลาลโลกปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 61% ของตลาดฮาลาลโลกที่มีมูลค่ารวม 2.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งครอบคลุมสินค้าและบริการที่หลากหลาย ทั้งอาหาร เครื่องสำอาง แฟชั่น การท่องเที่ยว ประเมินว่าตลาดอาหารฮาลาลโลกจะมีมูลค่าทางการตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 1.89 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี ค.ศ. 2027"

นอกจากนี้ ในระยะยาวมีแนวโน้มขยายตัวเร็วกว่าอาหารทั่วไป ตามจำนวนประชากรมุสลิมโลกที่จะเพิ่มขึ้น โดยมีตลาดใหญ่อยู่ในภูมิภาคเอเชีย แอฟริกา และตะวันออกกลาง โดยการแข่งขันในตลาดอาหารฮาลาลโลก ส่วนใหญ่เป็นการแข่งขันกันเองระหว่างประเทศ Non-Muslim Country ซึ่งมีอินเดีย บราซิล จีน และสหรัฐฯ เป็นผู้นำตลาด

สำหรับประเทศไทยแม้ว่าจะเป็นผู้ผลิตอาหารรายสำคัญของโลก แต่สัดส่วนในการส่งออกอาหารฮาลาลของไทยยังค่อนข้างต่ำ โดยมีส่วนแบ่งตลาดเพียง 2.70% ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก”