พักหนี้เกษตรกร ธ.ก.ส. ต่ออีก 2 ปี ครม.เคาะงบชดเชยสูงสุด 2.3 หมื่นล้าน

24 ก.ย. 2567 | 08:32 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ก.ย. 2567 | 08:38 น.

มติครม. 24 กันยายน 2567 เห็นชอบต่ออายุ พักหนี้เกษตรกร ลูกหนี้รายย่อย ธ.ก.ส. ระยะที่ 2 และระยะที่ 3 อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ชดเชยรวม 23,172 ล้านบาท และพัฒนาศักยภาพลูกหนี้

วันนี้ (24 กันยายน 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล ระยะที่ 2 และระยะที่ 3 หรือ "พักหนี้เกษตรกร" และการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ชดเชยรวม 23,172 ล้านบาท

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี แถลงรายละเอียดว่า มาตรการพักชำระหนี้ ธ.ก.ส. มีสาระสำคัญ คือมาตรการพักชำระหนี้ฯ ระยะที่ 1 จะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 กันยายน 2567 ดังนั้น เพื่อให้เกษตรกรผู้เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง กระทรวงการคลัง จึงเสนอมาตรการพักชำระหนี้ฯ ระยะที่ 2 และระยะที่ 3 รวมถึงการพัฒนาศักยภาพลูกหนี้

โดยใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 – 2570 จำนวนรวมทั้งสิ้น 23,172 ล้านบาท ดังนี้ 

  • งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 จำนวน 11,550 ล้านบาท 
  • งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2570 จำนวน 11,622 ล้านบาท

ทั้งนี้ได้มอบหมายให้ ธ.ก.ส. ทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณเป็นรายปีตามความเหมาะสมโดยคำนึงถึงสภาพคล่องของ ธ.ก.ส. ส่วนประเด็นการบวกกลับค่าใช้จ่ายในการคำนวณโบนัสประจำปี ให้ ธ.ก.ส. หารือความจำเป็นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ 

สำหรับมาตรการพักชำระหนี้ฯ ระยะที่ 2 และระยะที่ 3 รวมถึงการพัฒนาศักยภาพลูกหนี้ มีหลักเกณฑ์การดำเนินการเช่นเดียวกับการดำเนินมาตรการพักชำระหนี้ฯ ระยะที่ 1 โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

วัตถุประสงค์ 

  1. เพื่อลดภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ ธ.ก.ส. ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งยังไม่ฟื้นตัวและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง 
  2. เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนภาระดอกเบี้ยให้แก่ลูกหนี้ ธ.ก.ส. 
  3. เพื่อเพิ่มโอกาสนำเงินไปใช้ลงทุนปรับเปลี่ยนหรือขยายการประกอบอาชีพและฟื้นฟูศักยภาพตนเองในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 

กลุ่มเป้าหมาย

เกษตรกรที่เป็นลูกหนี้ ธ.ก.ส. ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ฯ ระยะที่ 1 (ทุกจังหวัดทั่วประเทศ) โดยเป็นผู้แสดงความประสงค์เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ฯ ระยะที่ 1 ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2567 จำนวน 1.85 ล้านราย ต้นเงินคงเป็นหนี้รวม 240,836 ล้านบาท 

ระยะเวลาโครงการ

  • ระยะที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2568 (1 ปี) 
  • ระยะที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2568 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2569 (1 ปี) 

ทั้งนี้รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้แทนเกษตรกรลูกหนี้ ธ.ก.ส. ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ฯ ระยะที่ 2 และระยะที่ 3 ในอัตราร้อยละ 4.50 ต่อปี โดยให้จัดสรรงบประมาณจ่ายคืน ธ.ก.ส. เต็มจำนวนเป็นรายปี แยกจากโครงการอื่นที่ได้รับชดเชยอย่างชัดเจนรวมกรอบวงเงินชดเชย จำนวน 21,172 ล้านบาท ดังนี้

  • ระยะที่ 2 กรอบวงเงินชดเชย 10,550 ล้านบาท 
  • ระยะที่ 3 กรอบวงเงินชดเชย 10,622 ล้านบาท 

ขณะเดียวกันรัฐบาลสนับสนุนค่าใช้จ่ายการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ธ.ก.ส. งบประมาณรวม 2,000 ล้านบาท (สำหรับการอบรมเกษตรกรปีละประมาณ 300,000 ราย รายละ 3,000 บาท จำนวน 2 ปี) 

แนวทางการดำเนินการ

ธ.ก.ส. ประเมินศักยภาพและความสามารถในการชำระหนี้ประจำปี Loan Review (LR) ของลูกหนี้เพื่อเข้าสู่มาตรการพักชำระหนี้ฯ ในระยะต่อไป 

ประโยชน์ที่จะได้รับ

ประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ฯ 

  1. ผ่อนคลายข้อกังวลจากการส่งชำระหนี้และเพิ่มรายได้ครัวเรือนระหว่างเข้าร่วมมาตรการชำระหนี้ฯ 
  2. ได้รับการฟื้นฟูอาชีพและพัฒนาศักยภาพในการดำรงชีวิตกลับคืนสู่หน่วยผลิตที่สำคัญของประเทศ
  3. มีเงินทุนหมุนเวียนและเพียงพอในการปรับเปลี่ยนการผลิตเพื่อเพิ่มรายได้ในครัวเรือนระหว่างเข้าร่วมมาตรการและลดปัญหาหนี้นอกระบบ และมีเงินออมเพิ่มขึ้น

ประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ

  1. เพิ่มการจ้างงานและเพิ่มเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ
  2. สร้างทางออกการแก้ปัญหาหนี้สินอย่างเป็นรูปธรรม 
  3. เสริมสร้างความมั่นคงของเศรษฐกิจฐานรากนำไปสู่การขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ