นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ในระยะยาวภาคการส่งออกต้องเติบโตจากปัจจัยพื้นฐาน ไม่ใช่ปัจจัยความได้เปรียบด้านราคาผ่านค่าเงินหรืออัตราแลกเปลี่ยน
ปัจจัยพื้นฐานมีทั้งเรื่องผลิตภาพของอุตสาหกรรมส่งออก ประสิทธิภาพและต้นทุนการผลิต ผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองต่อตลาดโลก แบรนด์ของสินค้าที่แข็งแรง นวัตกรรมและการพัฒนาสินค้าและบริการตลอดเวลา ความสามารถในการเจาะตลาดใหม่ ๆ และรักษาตลาดเดิมได้
หลายปีที่ผ่านมา ส่วนแบ่งตลาดของสินค้าส่งออกไทยในตลาดโลกหลายประเภทแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลง การขยายตัวเพิ่มขึ้น ขึ้นอยู่กับอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ามากกว่า การเปลี่ยนแปลงของความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย
แต่การปล่อยให้ค่าเงินบาทผันผวนมากเกินไปย่อมส่งผลกระทบต่อรายได้และการผลิตของอุตสาหกรรมส่งออกอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ การปล่อยให้เงินบาทแข็งค่าไปเรื่อย ๆ ในอัตราแบบช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาหรืออัตราเร่งกว่าเดิม อาจทำให้ภาคส่งออกไทยในช่วงต้นปีหน้าอาจกลับมาหดตัวได้อีก
และการเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดจะลดลง และกลับมาติดลบหรือขาดดุลได้ และในที่สุดกลไกในตลาดปริวรรตเงินตราจะทำให้เงินบาทกลับมาอ่อนค่าได้อีกในช่วงกลางปีหน้า
ตลาดปริวรรตเงินตรา หรือ Foreign Exchange Market มีบทบาทในการจับคู่และช่วยเป็น Clearing House ในกรณีที่อุปสงค์ไม่เท่ากับอุปทาน ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง และเป็นแหล่งข้อมูลที่มีประโยชน์สำหรับผู้ทำธุรกรรมระหว่างประเทศที่ต้องการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตรา กลไกของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนทำให้เกิดประสิทธิภาพและมีต้นทุนที่ต่ำสำหรับผู้ทำธุรกรรมการค้าการลงทุนและการเงินระหว่างประเทศ
ตลาด Foreign Exchange Market นั้นต้องสะสม Stock ของเงินสกุลต่าง ๆ ไว้ เพื่อทำหน้าที่เป็น Clearing House ให้เกิดขึ้นในระบบการเงินระหว่างประเทศ ที่ต้องจัดการกับความแตกต่างระหว่างอุปสงค์และอุปทานในตลาดเงินตราระหว่างประเทศ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง
ในระยะสั้น การใช้มาตรการ Open Market Operation ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการซื้อดอลลาร์ ขายบาท ปล่อยสภาพคล่องเงินบาทเข้าสู่ระบบมากขึ้นจะช่วยประคองไม่ให้เงินบาทแข็งค่าเร็วเกินไปเพื่อให้ผู้ส่งออกปรับตัวในภาวะบาทแข็งดอลลาร์อ่อนและดอกเบี้ยดอลลาร์ขาลง
ขณะเดียวกัน การแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราควรทำด้วยความระมัดระวัง ไม่สวนภาวะตลาดมากเกินไป ตลาดปริวรรตเงินตรามีขนาดใหญ่มาก ถึงที่สุดแล้ว ทางการไม่สามารถกำหนดเป้าหมายตามที่ต้องการได้ ทำได้เพียงการบริหารจัดการไม่ให้ค่าเงินผันผวนเกินไปและไม่ฝืนกลไกตลาดปริวรรตเงินตรา
อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงค่าเงินเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศเอง ไม่ว่าจะเป็นการชำระเงินโดยเงินสกุลต่างประเทศหรือรับเงินสกุลต่างประเทศจะเกิดขึ้นภายหลังการส่งมอบสินค้าหรือบริการ การรอชำระหรือรับเงินสกุลเงินต่างประเทศ อาจทำให้เกิดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนหรือค่าเงินได้ การซื้อขายเงินตราต่างประเทศอาจเกิดขึ้นในตลาดทันที (Spot Market) หรือ ตลาดล่วงหน้า (Forward Market)
ผู้ทำธุรกรรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (ไม่ว่าในฐานะผู้นำเข้า ผู้ส่งออก นักลงทุน หรือ ผู้รับการลงทุน นักท่องเที่ยว) สามารถประกันความเสี่ยงหรือบริหารความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนได้โดยการใช้เครื่องมือทางการเงินในตลาดล่วงหน้า เช่น Forward Contract, Future Contract, Option, Swap เป็นต้น