นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ปีงบประมาณ 2568 สรรพสามิตประมาณการจัดเก็บรายได้ตามเอกสารงบประมาณ อยู่ที่ 6 แสนล้านบาท โดยเป็นประมาณการบนสมมติฐานของกระทรวงการคลังว่าจะไม่มีการใช้มาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ซึ่งความท้ายท้ายสำคัญยังคงเป็นรายได้จากภาษีน้ำมัน และภาษีรถยนต์ ที่มีการเปลี่ยนผ่านจากการใช้รถยนต์สันดาป ไปสู่รถอีวี
ส่วนการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2567 ซึ่งสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.67 นั้น คณะทำงานติดตามผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลมีมติปรับลดเป้าหมายประมาณการรายได้กรมสรรพสามิตปีงบประมาณ 2567 ลงจาก 598,000 ล้านบาท เหลือ 520,000 ล้านบาท เนื่องจากผลกระทบจากมาตรการต่างๆ ที่ช่วยผู้ประกอบการและประชาชน อาทิ มาตรการลดภาษีน้ำมัน ภาษีรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ผลการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิต 11 เดือนในปีงบประมาณ 2567 (ต.ค.66 – ส.ค.67) จัดเก็บได้จำนวน 482,026 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 10.7% และสูงกว่าเป้าหมายของกระทรวงการคลัง 1.06% กรมเชื่อว่าจะสามารถจัดเก็บได้ตามเป้าหมายอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กรมสรรพสามิต เดินหน้าขับเคลื่อน นโยบายและมาตรการต่าง ๆ ประเทศไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาษีสรรพสามิต มุ่งเน้น สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)
นายเอกนิติ กล่าวว่า กรมได้ดำเนินมาตรการรถยนต์ไฟฟ้า อีวี 3.0 และ อีวี 3.5 ที่มีผู้เข้าร่วมมาตรการรวม 32 ราย ส่งผลให้ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า ในปี 2566 สูงกว่าปีก่อนถึง 685% และทำให้ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตของยอดจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน อีกทั้งยังส่งผลให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน รวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยกว่า 8 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ ยังเตรียมเดินหน้าภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) เป็นกลไกราคาคาร์บอนภาคบังคับ อยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยผู้ประกอบการที่ส่งสินค้าออกไปยังประเทศปลายทางที่เสียภาษีในส่วนนี้ สามารถนำไปเจรจาลดหย่อนค่าธรรมเนียม Carbon Border Adjustment Mechanism หรือ CBAM ได้
สำหรับในระยะแรกจะมีการปรับใช้ภาษีคาร์บอนโดยใช้หลักการแปลงภาษีสรรพสามิตที่เดิมมีการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ให้อยู่ในรูปของภาษีคาร์บอน โดยไม่เป็นการสร้างภาระแก่ประชาชน
“ขณะนี้ภาษีคาร์บอน ของกรมสรรพสามิต ได้ส่งเรื่องไปรอเสนอที่ครม. เรียบร้อย แต่คาดว่าไม่ทันการประชุม ครม. วันที่ 1 ต.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม หากครม.อนุมัติแล้ว จะสามารถดำเนินการได้เลย เพราะเป็นการแก้ไขกฎกระทรวง ไม่ได้ออกกฎหมายใหม่”
ขณะที่ด้านสังคม กรมได้ออกมาตรการการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิต ไวน์ สุราแช่ และสถานบริการ โดยปรับอัตราภาษีตามมูลค่าจากเดิม 10% เป็น 0% และการปรับลดภาษีสถานบันเทิง จาก 10% เป็น 5% เพื่อลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการในการทำธุรกิจ และสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ นอกจากการ
“จากการดำเนินมาตรการดังกล่าว ส่งผลให้ในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา ยอดการจัดเก็บรายได้ภาษีสินค้าสุราแช่ชุมชนเพิ่มสูงขึ้นกว่า 39 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 16.6%”
ส่วนในด้านธรรมาภิบาล กรมยังได้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในการตรวจสอบว่าเป็นสินค้าที่ถูกกฎหมายผ่านการตรวจวิเคราะห์จากสรรพสามิตหรือไม่ ยกระดับการปฏิบัติงานเชิงรุก ตั้งแต่การเปิดศูนย์ปราบปรามสินค้าออนไลน์ และบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก ส่งผลให้ผลการปราบปรามสูงขึ้นกว่าปีก่อนถึง 27.4%
ทั้งนี้ กรมได้ยกระดับการทำงานอย่างต่อเนื่องด้วยการรับฟังผู้ประกอบการ นำองค์ความรู้ทักษะสมัยใหม่ ล่าสุดกรมได้พัฒนาเว็บไซต์ใหม่โดยเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงบุคลากรภายในของกรม เพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งานในทุกมิติ พร้อมทั้งเปิดตัวแชตบอต “น้องสมิตต์ (Smitt) ” เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการให้ข้อมูลภาษีสรรพสามิตเบื้องต้นแก่ผู้ประกอบการและประชาชน