เทียบฟอร์มชัดๆ มาเลเซียขี่ไทย บิ๊กเทค ขนเงินทุ่มลงทุน Data Center

01 ต.ค. 2567 | 06:15 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ต.ค. 2567 | 07:11 น.

เทียบตัวเลขลงทุน Data Center ไทย VS มาเลเซีย 3 บิ๊กเทคคอมพานี AWS- Google-ไมโครซอฟท์ ยอดรวมลงทุนมาเลเซีย 3.43 แสนล้านบาท ส่วนไทย อยู่ที่ 1.98 แสนล้านบาท

หลายคนกำลังดีใจที่เห็นบิ๊กเทคคอมพานีโลก ทั้ง   AWS  ไมโครซอฟท์  และ Google แห่เข้ามาลงทุน Data Center ในไทย โดยคาดหวังว่าจะช่วยให้ไทยเป็นศูนย์กลางดิจิทัลภูมิภาคนี้   อย่างไรก็ตามการเป็นดิจิทัลฮับภูมิภาคไม่ใช่เรื่องง่าย   เพราะทุกชาติในภูมิภาคอาเซียนต่างจับจ้องการเป็นผู้นำดิจิทัล  หรือ ศูนย์กลางดิจิทัลภูมิภาค   

เทียบฟอร์มชัดๆ มาเลเซียขี่ไทย บิ๊กเทค ขนเงินทุ่มลงทุน Data Center    

โดยเฉพาะมาเลเซีย  ถือเป็นคู่แข่งสำคัญ   โดยหากพิจารณาจากเม็ดเงินลงทุน ที่บิ๊กเทคคอมพานี  ประกาศลงทุน  Data Center ระหว่างไทยกับมาเลเซียแล้วจะเห็นได้ว่าบิ๊กเทคคอมพานีโลก  มีความชัดเจน  และลงทุนในมาเลเซียมากกว่าไทย

AWS

มาเลเซีย: AWS วางแผนลงทุนมากกว่า 6.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2.1 แสนล้านบาท) จนถึงปี 2581

ไทย: AWS จะลงทุน 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.9 แสนล้านบาท) ภายในปี 2580

Google

มาเลเซีย: Google ประกาศทุ่มเงินทุน 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 7.3 หมื่นล้านบาท สร้าง Data Center และ Cloud Region ในมาเลเซีย ถือเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 13 ปี เพื่อสนับสนุนการใช้งาน AI และนโยบาย ​Cloud-first ของรัฐบาล  คาดว่าการลงทุนดังกล่าวนั้นจะช่วยกระตุ้นการจ้างงานได้ถึง 26,500 ตำแหน่งภายในปี 2573  และจะสร้าง GDP ให้ประเทศได้มากถึง 3.2 พันล้านดอลลาร์หรือประมาณ 1.1 แสนล้านบาท

เทียบฟอร์มชัดๆ มาเลเซียขี่ไทย บิ๊กเทค ขนเงินทุ่มลงทุน Data Center

ไทย : Google ประกาศแผนการลงทุนในประเทศไทยมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  หรือกว่า 36,000 ล้านบาท เพื่อสร้าง Data Center และ Cloud Region ในกรุงเทพฯ และชลบุรี   โดยผู้บริหาร Google ระบุว่าเป็นการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยโดยจะช่วยจ้างงานในพื้นที่ได้อีกอย่างน้อย 14,000 ตำแหน่ง และมีส่วนต่อการเพิ่ม GDP ได้อย่างน้อย 1.4 แสนล้านบาท ในช่วงปี 2568 – 2572

ไมโครซอฟท์

มาเลเซีย : ไมโครซอฟท์เตรียมลงทุน 2,200 ล้านดอลลาร์ (ราว 81,000 ล้านบาท) ตลอด 4 ปีข้างหน้า เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของมาเลเซีย ถือเป็นเม็ดเงินลงทุนก้อนใหญ่สุดในครั้งเดียวในรอบ 32 ปีของมาเลเซีย  โดยเงินลงทุนดังกล่าวจะสร้างโครงสร้างพื้นฐานเอไอและคลาวด์ในมาเลเซีย สร้างศูนย์ความเป็นเลิศด้านเอไอ และฝึกการใช้เอไอให้ชาวมาเลเซีย 200,000 คน

เทียบฟอร์มชัดๆ มาเลเซียขี่ไทย บิ๊กเทค ขนเงินทุ่มลงทุน Data Center

ไทย : ไมโครซอฟท์ ประกาศแผนตั้ง Data Center ขึ้นในไทย พร้อมลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน “คลาวด์-AI” รวมทั้งเสริมสร้างทักษะด้าน AI ให้บุคลากรไทย 100,000 คน    อย่างไรก็ตามไม่ระบุตัวเลขการลงทุนที่ชัดเจนเหมือนในมาเลเซียและอินโดนีเซีย

ซึ่งหากพิจารณาเม็ดเงินลงทุน ในมาเลเซียของบิ๊กเทคคอมพานี 3 ราย AWS- Google-ไมโครซอฟท์  จะอยู่ที่ 10.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ  หรือ ประมาณ 3.43 แสนล้านบาท   ส่วนไทย อยู่ที่   6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.98 แสนล้านบาท

ทำไม? มาเสย์เนื้อหอมกว่าไทย

“ฐานเศรษฐกิจ” ได้วิเคราะห์สาเหตุบิ๊กเทคคอมพานีโลกให้น้ำหนักกับการลงทุน Data Center  ในมาเลเซีย มากกว่าไทย  และที่ผ่านมาบิ๊กเทคคอมพานีโลก เรียกร้องให้ไทยเร่งดำเนินการมาตลอด

นโยบายรัฐบาลชัดเจน

โดยมาเลเซีย ที่มีนโยบายชัดเจนต้องการเป็นศูนย์กลางดิจิทัลภูมิภาคเช่นเดียวกับไทย  รัฐบาลมาเลเซียเปิดตัวโครงการ Digital Ecosystem Acceleration ขึ้นในปี 2022 เพื่อยกเว้นภาษีให้กับกลุ่มนักลงทุนที่เข้ามาสร้าง Data Center 

ต้นทุนพลังงานถูกกว่า

และที่ถูกใจนักลงทุนเป็นพิเศษ  คือ พลังงาน  โดยมาเลเซีย มีการผลิตไฟฟ้าราคาถูกและมีกำลังการผลิต 113 เมกะวัตต์ ซึ่งมากกว่าอินโดนีเซียหรือไทยประมาณ 4 เท่า   ขณะที่ อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยซึ่งเป็นต้นทุนหลักในการดำเนินธุรกิจ โดยพบว่าค่าไฟฟ้าเฉลี่ยของประเทศมาเลเซียอยู่ที่ 3.74 บาทต่อหน่วยในขณะที่ประเทศไทยมีค่าไฟฟ้าเฉลี่ยสูงกว่าอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย

นอกจากนี้มาเลเซียยังมีโครงการ Green Lane Pathway ของบริษัท Tenaga Nasional Bhd. หรือ (TNB) กำลังดำเนินการเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ให้บริการศูนย์ข้อมูลโดยเฉพาะโดยนำเสนอแหล่งพลังงงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อจ่ายพลังานสู่ศูนย์บริหารและจัดเก็บข้อมูลที่มาเลเซียกำลังผลักดันในประเทศเป็นศูนย์กลางของศูนย์บริหารและจัดเก็บข้อมูลของภูมิภาค เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของแผนแม่บทแห่งชาติที่ต้องการดึงดูดการลงทุนด้านเทคโนโลยีขั้นสูงจากต่างประเทศ

มีเคเบิ้ลใต้น้ำมากกว่าไทย

นอกจากนี้ มาเลเซีย ยังจำนวนสายเคเบิ้ลใต้น้ำที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตระหว่างภูมิภาคที่มากกว่า โดยพบว่า มาเลเซียมีสายเคเบิลใต้น้ำ 20 เส้นซึ่งมากกว่าประเทศไทยถึง 12 เส้น และสัดส่วนประชากรที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตซึ่งเป็นฐานของผู้ใช้บริการดิจิทัลที่มากกว่า พบว่า มาเลเซียมี 96.8% เข้าถึงอินเตอร์เน็ตซึ่งสูงกว่าประเทศไทยที่มี 89.5% ที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ต

ความพร้อมบุคลากร

คนมาเลเซียสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดีกว่าไทย   ขณะที่รัฐบาลมาเลเซียเร่งการพัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถเฉพาะทางเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นของบริษัทข้ามชาติ (MNC) ที่กำลังย้ายฐานการผลิตและศูนย์การบริหารยังภูมิภาคอาเซียนเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและความมั่นคงด้านพลังงาน มาเลเซียมีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ FDI หดตัวลงร้อยละ 12 ในปี 2565 ในทางกลับกัน การลงทุนตรงจากต่างประเทศในภูมิภาคอาเซียนกลับมีการเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 5

มาเลเซียกำลังสร้างร่วมมือกับกระทรวงอุดมศึกษา ทรัพยากรมนุษย์ และวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สำหรับการเตรียมความพร้อมให้กับแรงงานในประเทศเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอาเซียน อีกทั้ง ยังเตรียมการขยายระยะเวลาใบรับรอง Nomad Pass ให้กับพนักงานฝ่ายการผลิต และสร้างมาตรการระยะสั้นอื่นๆ เช่น การอนุญาตให้ผู้สำเร็จการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM) ในทุกสัญชาติที่ศึกษาในประเทศมาเลเซียสามารถอยู่และทำงานในมาเลเซียได้เพิ่มขึ้น เพื่อให้นักเรียนชาวมาเลเซียซึมซับทักษะต่างประเทศจากนักศึกษาต่างชาติที่ศึกษาในมาเลเซีย

5 จุดแข็งไทย

ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ระบุว่าไทย เป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ในการลงทุน Data Center และ Cloud Service เพื่อรองรับการขยายตัวของปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI และบริการด้านดิจิทัลต่าง ๆ ที่กำลังเติบโตสูงในภูมิภาค เนื่องจากมี ข้อได้เปรียบอย่างน้อย 5 ด้าน คือ

1. ทำเลที่ตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลางที่สามารถเชื่อมต่อกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะศักยภาพในการเป็น Connecting Hub สำหรับกลุ่มประเทศ CLMVT ที่มีประชากรรวมกันกว่า 250 ล้านคน

2. มีความมั่นคง ปลอดภัยสูง มีความเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติต่ำ Data Center เป็นธุรกิจที่ต้องการ ความมั่นคงสูง เพราะต้องรักษาข้อมูลสำคัญของลูกค้าในปริมาณมหาศาล ซึ่งประเทศไทยได้เปรียบในเรื่องนี้ เนื่องจากไม่มีแผ่นดินไหว ไต้ฝุ่น หรือภัยพิบัติรุนแรงเหมือนหลาย ๆ ประเทศ อีกทั้งไทยมีความเป็นกลาง ไม่ใช่ประเทศคู่ขัดแย้งในเวทีระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีกฎระเบียบด้านดิจิทัลที่มีมาตรฐานสากล เช่น กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) และกฎหมายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cyber Security Act) ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน

3. โครงสร้างพื้นฐานมีคุณภาพสูง ทั้งระบบไฟฟ้าที่มีความเสถียร และมีศักยภาพในการจัดหาพลังงานสะอาด ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการลงทุน Data Center อีกทั้งมีโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงติด 1 ใน 10 ของโลก และเครือข่าย 5G ที่ครอบคลุมพื้นที่มากที่สุดในอาเซียน สามารถรองรับการส่งข้อมูลได้ในปริมาณสูง

4. ตลาดในประเทศขยายตัวสูง ทั้งดีมานด์จากการยกระดับองค์กรต่าง ๆ ไปสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) การกำหนดนโยบาย Cloud First Policy ของรัฐบาล สัดส่วนการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตอยู่ในระดับสูงถึง 88% ของประชากร มีผู้ใช้งาน Social Media กว่าร้อยละ 70 ของประชากร และประชาชน มีทักษะในการทำธุรกรรมการเงินผ่านระบบดิจิทัล เช่น PromptPay, Mobile Banking, e-Payment รวมทั้ง การใช้แอปพลิเคชันเพื่อรับสิทธิตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา

5. สิทธิประโยชน์ที่จูงใจจากบีโอไอ ไม่ว่าจะเป็นการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล การอนุญาตให้ถือครองที่ดินเพื่อประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริม การอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน การลดหย่อนภาษีเงินได้สำหรับบุคลากรทักษะสูง การบริการข้อมูลและช่วยจัดหาสถานที่ตั้งโครงการ การช่วยประสานงานในการขอใบอนุญาตจากหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงมาตรการช่วยบรรเทาผลกระทบจากกติกาภาษีใหม่ (Global Minimum Tax) ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยที่บริษัทเทคโนโลยีระดับโลกให้ความสำคัญ

เทียบฟอร์มชัดๆ มาเลเซียขี่ไทย บิ๊กเทค ขนเงินทุ่มลงทุน Data Center

ทั้งนี้ ในช่วงปี 2567-2570 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ไทยน่าจะสามารถดึงดูดการลงทุน Data Center ได้เป็นมูลค่าราว 7.8 พันล้านดอลลาร์ฯ โดยเป็นรองแค่มาเลเซียที่คาดว่าจะมีมูลค่าการลงทุนสูงกว่าไทยราว 3 เท่า ภายใต้กระแสการลงทุน Data Center ที่ผลักดันให้ไทยเป็นฮับแห่งหนึ่งของภูมิภาค น่าจะหนุนให้มูลค่าตลาดบริการ Data Center ไทยเติบโตก้าวกระโดดตามแนวโน้มความต้องการในตลาดอาเซียนที่กำลังขยายตัว โดยคาดว่าตลาดบริการ Data Center ไทยน่าจะเติบโตเฉลี่ยกว่า31.2% ต่อปี ขณะที่มาเลเซียน่าจะเติบโตราว 36.8% ในระยะ 4 ปีข้างหน้า