“พิชัย” ถกผู้ว่าฯธปท. ดูแล “ค่าเงินบาท” เตรียมออกมาตรการแก้หนี้ครัวเรือน

03 ต.ค. 2567 | 10:10 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ต.ค. 2567 | 10:10 น.

“พิชัย ชุณหวชิร” รองนายกฯ และรมว.คลัง ถกแบงก์ชาติ ดูแล “ค่าเงินบาท” พร้อมนัดถกทางการปรับกรอบเงินเฟ้อ ภายในต.ค.นี้ เตรียมออกมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนทั้งระบบ

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังหารือกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นานกว่า 1 ชั่วโมง ว่า การลดดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนตัวยังยืนอยู่บนหลักการ ว่าเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 16 ต.ค.นี้

“พิชัย” ถกผู้ว่าฯธปท. ดูแล “ค่าเงินบาท” เตรียมออกมาตรการแก้หนี้ครัวเรือน

อย่างไรก็ตาม ที่ได้พูดคุยกับ ธปท. เพื่อแลกเปลี่ยนสถานการณ์เศรษฐกิจร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และ สหภาพยุโรป รวมถึงการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน 

"สถานการณ์เหล่านี้นำไปสู่เรื่องอัตราแลกเปลี่ยน หรือค่าเงิน ซึ่งไม่มีใครสามารถคาดเดาได้ว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งวันนี้ก็อ่อนค่าลงมาเล็กน้อย จากที่ติดตามดู สถานการณ์ค่าเงินบาทหลายวันมานี้ยังพอที่จะสามารถมอนิเตอร์ได้อยู่ และต้องปล่อยให้ กนง. ดู และคิดว่าที่ประชุมกนง. จะหยิบยกประเด็นสถานการณ์เศรษฐกิจดังกล่าว ขึ้นมาหารือ" 

สำหรับการแก้ปัญหาเรื่องของค่าเงินนั้น ไม่ใช่เรื่องที่สามารถทำได้ด้วยการแก้ไขตรงๆ ต้องดูว่าควรจะใช้เครื่องมือใด ก็ต้องลองไปตัดสินใจ และคณะกรรมการก็ต้องดูให้ละเอียด 

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ส่วนกรณีสถานการณ์เงินบาทแข็งค่า ที่มีผลต่อการส่งออกนั้น ก็ต้องมาพิจารณาและวิเคราะห์ว่ายอดส่งออก ปัจจุบันนี้เป็นอย่างไรบ้าง อย่างไรก็ตาม ในเชิงปริมาณของการส่งออก ไม่น่าจะมีผลกระทบ และส่วนตัวประเมินว่าการส่งออกก็น่าจะปรับตัวดีขึ้น ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 67 

"การกันคุยกันวันนี้ก็เข้าอกเข้าใจกันดี จริงๆ ผมกับ ธปท. เราเข้าใจกันมานานแล้ว เพราะว่าเราก็มองงานเดียวกัน ส่วนการที่คิดว่าจะแก้ไขทันทีนั้น ก็คงต้องดูผลกระทบอย่างอื่นด้วย ตอนนี้สิ่งที่สำคัญกว่า คือ การช่วยให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุน"

ทั้งนี้ ยังได้หารือเรื่องกรอบเงินเฟ้อ มองแนวโน้มในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ จะอยู่ที่ระดับ 1% และประเมินว่าทั้งปีมีแนวโน้มจะหลุดกรอบ ซึ่งภายในเดือนต.ค.นี้ จะมีการนัดประชุมผู้ว่าการ ธปท. ที่กระทรวงการคลัง เพื่อหารือเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นทางการ 

“การหารือกับ ธปท.ครั้งนี้ ถือว่ายังไม่จบ จะมีการนัดคุยกันอีกเรื่อยๆ ตั้งใจจะนัดกันภายในเดือนตุลาคมนี้อีกครั้งหนึ่ง โดยจะคุยกันแบบละเอียดมากขึ้น เพราะครั้งนี้ก็คุยกันแค่หลักการ”

นายพิชัย กล่าวว่า เรายังหารือถึงการแก้ไขหนี้ครัวเรือน ซึ่งสถาบันการเงินของรัฐ ดำเนินการไปแล้ว โดยหนี้ครัวเรือนอยู่ในส่วนของน็อนแบงก์ และสถาบันการเงิน สำหรับมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนที่จะออกมานั้น จะดูบุคคลที่มีโอกาสจะไปได้ มีความสามารถในการชำระหนี้อยู่ จะมีการปรับโครงสร้างหนี้กลุ่มดังกล่าวให้ จะร่วมมือกันระหว่างสถาบันการเงิน และภาครัฐโดยกระทรวงการคลัง

“ปกติเราจะไม่ไปลดหนี้ให้โดยไม่มีเหตุผล เพราะเป็นเรื่องของ moral hazard อย่างไรก็ตาม โครงสร้างที่จะทำเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ ให้หนี้ครัวเรือนผ่อนปรนได้ ส่วนรายละเอียดจะต้องลงลึกอีกนิดหนึ่ง เราได้หารือสถาบันการเงินไว้หลายแห่งแล้ว ผลกระทบยังไม่มากนัก“

ขณะที่กลุ่มต่อมา คือ กลุ่มเปราะบาง มีจำนวนเยอะมาก หลายแสนบัญชี แต่เม็ดเงินที่ค้างชำระหนี้วงเงินน้อย โดยกลุ่มดังกล่าวนี้อยู่ในเครดิตบูโรด้วย เราก็จะหาวิธีดูว่าจะช่วยเหลือกลุ่มนี้อย่างไร โดยส่วนของแบงก์รัฐได้ดำเนินการดูแลไปแล้วหลายแสนบัญชี ซึ่งเหลืออีกประมาณ 7-8 แสนบัญชี 

“เราขอเวลานิดนึง เพราะมีรายละเอียดเยอะ ถ้าทำก็อยากให้เป็นความร่วมมือสถาบันการเงิน และกระทรวงการคลัง เพราะธปท. ก็เข้ามาช่วยแล้ว ทั้งนี้ แนงทางดำเนินการดังกล่าว ซึ่งจะเป็นการยืดเวลาการชำระหนี้ ดูเรื่องการลดดอกเบี้ย ว่าจะสามารถทำได้หรือไม่“