แจกเงิน 10,000 บาท เหมือนลาภลอย ไม่เกิดพายุหมุนเศรษฐกิจ

05 ต.ค. 2567 | 01:14 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ต.ค. 2567 | 01:14 น.

ส่องพายุหมุนเศรษฐกิจ แจกเงิน 10,000 บาท 14.05 ล้านคน ดันเม็ดเงิน 1.4 แสนล้านบาทเข้าระบบเศรษฐกิจ คลังแนะคนตกค้างเร่งตรวจสอบปัญหา ให้ทันโอนซ้ำ 3 รอบ ซีไอเอ็มบีไทยชี้ เงินลาภลอย หนุนคนกระจายการใช้จ่าย ไม่กระจุกเฉพาะห้าง

จบไปเรียบร้อยสำหรับการโอนเงิน 10,000 บาท ตามโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการรัฐและคนพิการจำนวน 14.44 ล้านรายพบว่า โอนสำเร็จทั้งสิ้น 14.05 ล้านราย ยังเหลือที่จะต้องเก็บตกอีก 381,287 ล้านรายหรือ 2.64% ที่โอนไม่สำเร็จ ซึ่งรัฐบาลจะมีการโอนซ้ำอีก 3 รอบคือครั้งที่ 1 ภายในวันที่ 22 ตุลาคม ครั้งที่ 2 ภายในวันที่ 22 พฤศจิกายน และครั้งที่ 3 ภายในวันที่ 22 ธันวาคม 2567 

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า การโอนเงินรอบแรก ส่งผลให้มีเม็ดเงินเข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจแล้ว 140,573.41 ล้านบาท จึงขอให้พี่น้องประชาชนที่ได้รับเงินส่วนนี้แล้ว วางแผนการใช้จ่ายอย่างคุ้มค่าและให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อตนเองและครอบครัว 

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)

สาเหตุที่การโอนเงินไม่สำเร็จนั้น กลุ่มคนพิการเกิดจาก บัญชีเงินฝากธนาคารถูกปิด เลขบัญชีเงินฝากธนาคารไม่ถูกต้อง ส่วนผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เช่น ยังไม่ได้ผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขประจำตัวประชาชน บัญชีไม่มี การเคลื่อนไหว บัญชีเงินฝากธนาคารถูกปิด เลขบัญชีเงินฝากธนาคารไม่ถูกต้อง 

"ขอให้ผู้มีสิทธิดำเนินการผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขประจำตัวประชาชนหรือติดต่อ ธนาคาร เพื่อแก้ไขบัญชีเงินฝากธนาคารที่มีปัญหาข้างต้น เพื่อให้พร้อมรับเงินตามในรอบการจ่ายเงินซ้ำตามที่ประกาศ"      

สำหรับเม็ดเงินที่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 1.4 แสนล้านบาทจะมีผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจแค่ไหน ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทยเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า กรณีนี้อาจจะไม่ต้องใช้มุมมองนักเศรษฐศาสตร์ล้วนๆ แต่พฤติกรรมในเชิงเศรษฐศาสตร์นั้น คนมีรายได้น้อยจะมีสัดส่วนเกี่ยวกับอาหารสูงเกิน 10%ต่อเดือน เพราะต้องดำรงชีพ 

แจกเงิน 10,000 บาท เหมือนลาภลอย ไม่เกิดพายุหมุนเศรษฐกิจ

“แต่ส่งที่เกิดขึ้นพอได้เงินมาในลักษณะนี้หรือเรียกว่า “ลาภลอย” คน 14.5 ล้านคนได้รับเงินคนละ 10,000บาท ซึ่งในความเป็นจริงเมื่อเกิดลาภลอยในลักษณะนี้คนจะใช้จ่ายอะไรก็ได้โดยไม่จำกัดว่าจะเป็นอาหาร เครื่องดื่มหรือของใช้ที่จำเป็น” 

ดังนั้น คนจะใช้จ่ายเงินที่ได้มาเพื่อทำให้มีความสุขขึ้น อาจเป็นลักษณะชั่วคราว หรือซื้อของที่ไม่เคยใช้หรือเพื่อท่องเที่ยว หรือซื้อของตุนเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย บ้างอาจจะซื้อลอตตารี่โดยหวังจะถูกรางวลใหญ่ หรือนำไปใช้หนี้อาจไม่ทำให้เกิดพายุหมุนในระบบเศรษฐกิจอย่างที่คาดกัน แต่ก็มีข้อดีในระยะยาว หรือซื้อสินค้าไม่จำเป็น และอาจจะเห็นการใช้จ่ายที่กระจายตัวโดยไม่กระจุกเฉพาะในห้างสรรพสินค้า 

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่เสียดายที่นโยบายนี้ออกมาแล้ว ไม่ได้ทำควบคู่กับการให้ความรู้ทางการเงินกับประชาชน หรือไม่ได้ไกด์หรือบอกประชาชนว่า การได้เงินมา 10,000 บาทนั้น เป็นลาภลอยหรือครั้งเดียวในชิวิต และการจะนำเงินไปใช้ควรให้เป็นการใช้จ่ายที่มีผลระยะยาวต่อตัวเอง เช่น ซื้อของมีประโยชน์ หรือลงทุนบ้าง 

แจกเงิน 10,000 บาท เหมือนลาภลอย ไม่เกิดพายุหมุนเศรษฐกิจ

ทั้งนี้แม้ดูว่า พายุไม่ได้เกิดตามที่คาดการณ์ไว้ต่อเนื่องในระยะยาว (เป็นระยะสั้นที่สะท้อนผลในระยะยาวได้) แต่ส่วนตัวมองว่า แนวโน้มยังต้องดูแประชาชนกลุ่มนี้กว่า 14 ล้านคนต่ออีกยาว ซึ่งยังไม่สามารถหลุดพ้นความยากจน 

“ขณะที่เป้าหมายพายุหมุนเศรษฐกิจ 4 ลูกนั้น ต้องสำหรับประชาชนกว่า 40 ล้านคน อีกทั้งแต่ละกลุ่มคนก็มีพฤติกรรมไม่เหมือนกัน จะเป็นผู้มีรายได้น้อยหรือผู้มีรายได้ระดับกลาง จึงตอบชัดๆ ยาก”ดร.อมรเทพกล่าว 

ทั้งนี้จากการแถลงนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทเดิมนั้น รัฐบาลคาดหวังให้เกิดพายุหมุนต่อเศรษฐกิจถึง 4 ลูกคือ

  • พายุหมุนลูกแรก การใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็ก ถือเป็นกระตุ้นเศรษฐกิจไปยังฐานราก กระจายไปพร้อมกันทุกอำเภอทั่วประเทศ ช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ลดภาระค่าใช้จ่ายแก่ประชาชน
  • พายุหมุนลูกที่2 การใช้จ่ายระหว่างร้านค้าขนาดเล็กกับร้านค้าขนาดใหญ่ เงินที่ขายได้จะก้อนใหญ่ขึ้น
  • พายุหมุนลูกที่3 การใช้จ่ายระหว่างร้านค้าขนาดใหญ่กับร้านค้าขนาดใหญ่ ซึ่งจะทำให้เกิดการต่อยอดกำลังซื้อ การบริโภค หรือสร้างโอกาสในการลงทุนเพื่อประกอบอาชีพ
  • พายุหมุนลูกที่4 พลังการใช้จ่ายของประชาชนแต่ละคน จะเกิดผลต่อการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นทวีคูณ ช่วยฟื้นฟูภาคการผลิตของประเทศ และสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวม  

ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)รายงานความเชื่อมั่นของผู้บริโภคพบว่า ลดลงต่อเนื่องและมองไปข้างหน้าอีก 6 เดือนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงเช่นกัน ส่วนความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 51.6 ปรับลดลงตามภาคการผลิตเป็นสําคัญ ขณะที่ความต้องการในประเทศต่ำเป็นอุปสรรคที่ภาคธุรกิจมีความกังวลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

สำหรับข้อจํากัดในการดําเนินธุรกิจ 5 อันดับแรกได้แก่

  1. ต้นทุนการผลิตสูง
  2. ปรับราคาสินค้าได้ยาก
  3. ความต้องการในประเทศต่ำ
  4. แข่งขันในประเทศรุนแรง
  5. ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ

ส่วนในระยะต่อไป ต้องติดตาม 4 ปัจจัย ได้แก่

  1. การฟื้นตัวของการผลิตและการส่งออก
  2. ผลของการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและมาตรการภาครัฐ
  3. ผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมต่อกิจกรรมมทางเศรษฐกิจ
  4. ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์


หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,032 วันที่ 3 - 5 ตุลาคม พ.ศ. 2567