จากกรณีรัฐบาลแจกเงิน 10,000 บาทให้แก่ประชาชนกลุ่มเปราะบาง และผู้พิการ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินประมาณ 145,000 ล้านบาท โดยได้ดำเนินการโอนเงินไปตั้งแต่วันที่ 25-30 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา รายการ “เข้าเรื่อง” เผยแพร่ทางยูทูปช่องฐานเศรษฐกิจ ได้สนทนากับ ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เพื่อวิเคราะห์ผลของการดำเนินโครงการดังกล่าว
ดร.พิพัฒน์ ได้แสดงความคิดเห็นว่า การแจกเงิน 10,000 บาทให้แก่ประชาชนกลุ่มเปราะบาง และผู้พิการว่าเปรียบเหมือนการซื้อเวลา เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่รัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการระยะกลางและระยะยาวควบคู่กันไป เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว
การแจกเงิน 10,000 บาท จะไม่สามารถสร้าง "พายุหมุนทางเศรษฐกิจ" อย่างที่รัฐบาลคาดหวังไว้ เนื่องจากประชาชนอาจนำเงินไปออมแทนการใช้จ่าย ขณะที่บางส่วนอาจนำเงินไปชำระหนี้ ซึ่งการใช้จ่ายที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้ก่อให้เกิดการผลิตใหม่ เพราะอาจเป็นการซื้อสินค้าคงคลัง หรือสินค้าซื้ออาจเป็นสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ
พร้อมได้ให้มุมมองต่อการดำเนินนโยบาย ในลักษณะการจ่ายเงินโดยตรงให้แก่ประชาชนว่า ในภาวะปกติมักจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจน้อยกว่าจำนวนเงินที่ใช้ไป โดยคาดการณ์ว่ามาตรการนี้จะส่งผลต่อ GDP เพียง 0.2-0.3% เท่านั้น โดยที่เม็ดเงินที่ใช้คิดเป็นประมาณ 0.7- 0.8% ของ GDP ดังนั้นในส่วนของประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ของปี 2568 จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงสัดส่วนหนี้สาธารณะของไทย ที่กำลังเข้าใกล้ระดับ 70% ของ GDP ซึ่งจะสร้างข้อจำกัดทางการคลังมากขึ้นในอนาคต
นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอีกหลายประการ เช่น สินค้าจีนราคาถูกที่เข้ามาแข่งขันในตลาดไทยมากขึ้น ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสำคัญของไทย เช่น รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเคมี ,ปัญหาการปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวังของธนาคาร และยังมีปัจจัยด้านความไม่แน่นอนจากการเลือกตั้งสหรัฐฯ ซึ่งหากโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง อาจนำไปสู่สงครามการค้ารอบใหม่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการค้าโลกและเศรษฐกิจไทย
ทั้งนี้ ดร.พิพัฒน์แนะนำให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนการใช้งบประมาณไปกับการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาว และทำให้เกิดประโยชน์สูงที่สุดภายใต้ข้อจำกัดทางการคลัง เช่นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การปฏิรูปเศรษฐกิจในด้านต่างๆ การพัฒนาในด้านการศึกษา การสาธารณสุข หรือการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น
ในส่วนของการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายของปี ดร.พิพัฒน์มองว่า GDP อาจเติบโตได้ถึง 2.7-2.9% โดยได้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตามได้เตือนว่าความท้าทายที่แท้จริงจะอยู่ที่การรักษาแรงส่งทางเศรษฐกิจหลังจากผลของมาตรการกระตุ้นเริ่มหมดลง