สรุป 45 ประเด็นร้อน “สถานบันเทิงครบวงจร” ชง ครม.ชี้ชะตา

06 ต.ค. 2567 | 10:30 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ต.ค. 2567 | 10:53 น.

สรุปรายละเอียด 45 ประเด็นร้อน “สถานบันเทิงครบวงจร” นโยบายเรือธงหารายได้ใหม่เข้าประเทศ หลังกระทรวงการคลัง เปิดรับฟังความคิดเห็นร่างกฎหมายเสร็จสิ้น เช็คข้อมูลทั้งหมดรวมไว้อย่างครบถ้วน ก่อนชง ครม.ชี้ชะตา

ก้าวสำคัญของการผลักดันแหล่งรายได้ใหม่อย่าง “ธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร” หรือ เอนเตอร์เทนเม้นท์คอมเพล็กซ์ (Entertainment Complex) ของรัฐบาล หลังกระทรวงการคลัง เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. .... เสร็จสิ้นเรียบร้อย และได้สรุปผลการรับฟังความคิดผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อร่างกฎหมาย รวมทั้งหมดกว่า 45 ประเด็น

สำหรับผลการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. .... ฐานเศรษฐกิจ ขอขยายความในรายละเอียดเกี่ยวกับการรับฟังความคิดเห็นทั้งหมด 45 ประเด็น สรุปได้ดังนี้

 

ภาพประกอบข่าว “ธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร” (Entertainment Complex)

 

1. ชื่อของร่าง พ.ร.บ.

  • มีความเห็นว่าชื่อกว้างเกินไป ควรเจาะจงกว่านี้
  • มีข้อเสนอให้แก้ไขชื่อเป็น "พระราชบัญญัติสถานประกอบการท่องเที่ยวครบวงจร" (Integrated Resort Act) 
  • ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการของประเทศอื่นที่มองกิจการประเภทนี้ว่าเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว และอาจส่งผลต่อภาพลักษณ์ในเชิงบวกต่อโครงการมากกว่า

2. วันที่ร่าง พ.ร.บ. มีผลใช้บังคับ

  • มีความเห็นว่าไม่จำเป็นต้องกำหนดให้บทบัญญัติแห่งหมวด 6 และหมวด 7 ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วัน โดยการกำหนดระยะเวลา 180 วันมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จัดตั้งสำนักงาน และเตรียมความพร้อมในการดำเนินการต่างๆ

3. องค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายสถานบันเทิงครบวงจร

  • มีข้อเสนอให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมาจากการเปิดรับสมัครสรรหา
  • ควรมีผู้แทนจากหลากหลายสาขา เช่น พัฒนาชุมชน สิทธิมนุษยชน เด็กและเยาวชน เศรษฐศาสตร์ สังคมวิทยา สุขภาพจิต
  • ควรมีผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ เช่น คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ สภาองค์กรชุมชน สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

4. อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายฯ

  • มีความเห็นว่าคณะกรรมการนโยบายมีอำนาจมากเกินไป
  • ควรกำหนดให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการบริหาร หรือกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ในร่าง พ.ร.บ. เลย

5. องค์ประกอบของคณะกรรมการบริหาร

  • มีข้อเสนอคล้ายกับคณะกรรมการนโยบายฯ
  • เพิ่มเติมให้มีผู้แทนจากภาคธุรกิจเอกชนและภาคการท่องเที่ยว
  • ควรมีคณะกรรมการบริหารระดับพื้นที่จังหวัดที่มีการตั้งสถานบันเทิงครบวงจร

 

ภาพประกอบข่าว “ธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร” (Entertainment Complex)

 

6. อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหาร

  • ควรกำหนดให้มีอำนาจในการพิจารณาสั่งยกเลิกสถานบันเทิงครบวงจรในพื้นที่ที่ทำแล้วผลเสียมากกว่าผลดี
  • มีความเห็นว่าไม่ควรมีคณะกรรมการบริหาร เนื่องจากเลขาธิการสามารถดำเนินการได้

7. อำนาจหน้าที่ของสำนักงานกำกับการประกอบธุรกิจ

  • ควรกำหนดให้สำนักงานเป็นศูนย์กลางรับคำขอและเอกสารต่างๆ รวมถึงค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง
  • ควรแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสำนักงานให้ทำหน้าที่ประสานระหว่างหน่วยงานกำกับดูแล

8. สถานะของสำนักงาน

  • มีความเห็นว่าควรเป็นส่วนราชการสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี

9. การใช้เงินและทรัพย์สินของสำนักงาน

  • ควรมีความชัดเจนว่าสามารถใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินได้อย่างไรบ้าง
  • ควรกำหนดหลักเกณฑ์และสัดส่วนการนำส่งเงินและทรัพย์สินเป็นรายได้แผ่นดิน
  • ควรกระจายเงินและทรัพย์สินไปยังพื้นที่ตั้งของสถานบันเทิงครบวงจร

10. คุณสมบัติและการแต่งตั้งเลขาธิการ

  • มีความเห็นว่าการกำหนดอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์อาจทำให้ได้เลขาธิการที่ขาดประสบการณ์
  • ควรมีกระบวนการที่โปร่งใส ให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากกว่านี้

11. อำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงาน

  • ควรระบุให้ชัดเจนว่าเวลาทำการคือเมื่อใด
  • ควรกำหนดให้เจ้าพนักงานมีอำนาจเรียกเอกสาร หลักฐาน และข้อมูล ด้วย
  • ควรกำหนดอำนาจให้สามารถระงับการดำเนินการหรือการบริการชั่วคราวในกรณีที่มีเรื่องร้องเรียน
  • มีความเห็นว่าไม่ควรให้อำนาจกว้างๆ เพื่อลดปัญหาการใช้ดุลยพินิจ

12. ประเภทธุรกิจสถานบันเทิงในสถานบันเทิงครบวงจร

  • ควรกำหนดเพิ่มจาก 4 ประเภทเป็น 7 ประเภท
  • ควรสนับสนุนให้มีพื้นที่สำหรับส่งเสริมวัฒนธรรมไทย
  • ควรเพิ่มรายละเอียดของแต่ละประเภทธุรกิจ เช่น ขนาดพื้นที่ขั้นต่ำของห้างสรรพสินค้า
  • ควรเปลี่ยน "ห้างสรรพสินค้า" เป็น "ศูนย์การค้า"
  • ควรกำหนดนิยามของ "สถานที่เล่นเกม" ให้ชัดเจน
  • ควรกำหนดให้มีพื้นที่สำหรับส่งเสริมสินค้า OTOP
  • ควรเพิ่มประเภทธุรกิจที่พัฒนาประเทศได้มากขึ้น เช่น ศูนย์ประชุมขนาดใหญ่ พิพิธภัณฑ์

 

ภาพประกอบข่าว “ธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร” (Entertainment Complex)

 

13. การกำหนดหลักเกณฑ์การกาสิโน

  • ไม่ควรกำหนดให้ต้องขออนุญาต เพื่อความคล่องตัว
  • ควรกำหนดให้ชัดเจนว่าการเล่นต้องใช้บัญชีของตนเองเท่านั้น
  • ควรกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับชิป
  • ควรกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับกติกาและเครื่องมือในการเล่นหรือการพนัน

14. สัดส่วนผู้ถือหุ้นของผู้รับใบอนุญาต

  • ควรกำหนดสัดส่วนผู้ถือหุ้นไทยอย่างน้อยร้อยละ 30-51
  • ควรกำหนดให้เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่จดทะเบียนในไทย
  • ควรป้องกันนอมีนีต่างชาติ

15. กระบวนการคัดเลือกผู้รับใบอนุญาต

  • ควรมีการเปิดประมูลโดยชอบธรรม
  • ควรเปิดโอกาสให้ต่างชาติมาลงทุน

16. การเปลี่ยนแปลงกรรมการ ผู้บริหาร หรือผู้ถือหุ้น

  • ไม่ควรกำหนดให้การเปลี่ยนแปลงผู้บริหารหรือกรรมการต้องได้รับอนุญาตก่อน หากมีคุณสมบัติครบถ้วน
  • ควรอนุญาตให้เปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นได้ในบางกรณี เช่น ไม่เกินร้อยละ 25

17. อายุใบอนุญาต

  • มีความเห็นว่า 30 ปีอาจยาวนานเกินไป ควรปรับลดเป็น 10 ปี
  • มีความเห็นว่า 30 ปีอาจสั้นเกินไป ควรเพิ่มเป็น 50-60 ปี หรือให้ต่ออายุได้อีก 30 ปี
  • ควรเริ่มนับอายุใบอนุญาตจากวันที่เริ่มดำเนินกิจการได้

18. จำนวนใบอนุญาต

  • ควรกำหนดให้ชัดเจนไว้ในร่าง พ.ร.บ. โดยไม่ควรกำหนดให้มีใบอนุญาตมากเกินไป เช่น ไม่เกิน 3-7 รายในประเทศไทย
  • ควรกำหนดจำนวนใบอนุญาตในแต่ละพื้นที่ เช่น กรุงเทพฯ ไม่เกิน 2-3 ราย นอกกรุงเทพฯ ไม่เกิน 5-7 ราย

19. การรวมศูนย์การพิจารณาตามกฎหมายอื่น

  • ควรให้คณะกรรมการนโยบายฯ เป็นผู้มีอำนาจอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต ให้ความเห็นชอบ หรือเป็นผู้มีอำนาจในการรับจดทะเบียนหรือรับแจ้งตามกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง (One Stop Service)

20. สถานที่ตั้งของสถานบันเทิงครบวงจร

  • ควรกำหนดให้ชัดเจนไว้ในร่าง พ.ร.บ. เช่น ต้องมีที่ตั้งนอกเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อกระจายรายได้
  • ควรกระจายไปยังภูมิภาคที่มีศักยภาพในการส่งเสริมการท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ ชลบุรี ระยอง หัวหิน หรือกรุงเทพมหานคร

 

ภาพประกอบข่าว “ธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร” (Entertainment Complex)

 

21. ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต

  • มีความเห็นว่าค่าธรรมเนียมสูงเกินไป อาจทำให้มีผู้ประกอบการจำนวนน้อยราย
  • ควรกำหนดเพิ่มค่าใบอนุญาตรายปี
  • ไม่ชัดเจนว่าในปีแรกที่ได้รับอนุญาต เมื่อได้ชำระค่าธรรมเนียมครั้งแรกแล้ว จะต้องชำระค่าธรรมเนียมรายปีในปีแรกด้วยหรือไม่
  • ไม่ควรกำหนดค่าธรรมเนียมในร่าง พ.ร.บ. เพราะใบอนุญาตมีอายุ 30 ปี อาจไม่เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจในอนาคต

22. ค่าธรรมเนียมการเข้ากาสิโน

  • กำหนดค่าธรรมเนียมการเข้าเล่นของคนไทยไว้สูงเกินไป ควรกำหนดไว้ประมาณ 1,000 - 2,000 บาท
  • ควรพิจารณากำหนดค่าธรรมเนียมการเข้าเล่นรายปีไว้ด้วย โดยอาจกำหนดไว้ประมาณ 20,000 - 40,000 บาท
  • ควรกำหนดไม่ให้เพิ่มค่าธรรมเนียมการเข้าเล่นของคนไทยเป็นระยะเวลา 10 ปี เหมือนประเทศสิงคโปร์
  • ควรกำหนดค่าธรรมเนียมการเล่นของคนไทยในกาสิโนให้เท่ากันทั่วประเทศ

23. เอกสารเชิญชวนยื่นข้อเสนอ

  • ควรให้คณะกรรมการนโยบายฯ กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของเอกสารเชิญชวนยื่นข้อเสนอในการประมูลเพื่อเข้าประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร

24. การโอนสิทธิตามใบอนุญาต

  • อาจไม่มีกรณีการโอนสิทธิตามใบอนุญาตให้บุคคลอื่นบางส่วนได้

25. ทุนสำรอง

  • ควรกำหนดให้มีการดำรงทุนสำรองขั้นต่ำของผู้รับใบอนุญาต เพื่อเป็นประกันการจ่ายเงินแก่ผู้เล่นพนัน ค่าปรับจากรัฐ และสร้างความเชื่อมั่นต่อธุรกิจกาสิโน

26. สัญญาเช่า

  • ไม่ควรอนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาเช่าหรือถือครองที่ดินเกินกว่า 25 ปี

27. พื้นที่กาสิโน

  • ควรกำหนดพื้นที่การเล่นเกมให้ชัดเจน โดยไม่มากหรือไม่น้อยจนเกินไป
  • ควรกำหนดอัตราส่วนของพื้นที่กาสิโนไว้ในร่าง พ.ร.บ. โดยอาจกำหนดไว้ที่ร้อยละ 5 - 20
  • ควรกำหนดพื้นที่กาสิโนตามสัดส่วนประมาณการรายได้ของสถานบันเทิงครบวงจร
  • พื้นที่กาสิโนควรสามารถเปิดทำการตลอด 24 ชั่วโมง

28. การยกเว้นกฎหมายอื่น

  • ควรกำหนดให้ได้รับยกเว้นจากกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายว่าด้วยการผังเมือง กฎหมายว่าด้วยควบคุมอาคาร กฎหมายว่าด้วยควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กฎหมายว่าด้วยควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น

29. ประเภทของกาสิโน

  • ควรกำหนดให้คณะกรรมการนโยบายฯ มีอำนาจกำหนดการเล่นชนิดอื่นเพิ่มเติมจากมาตรา 52 ได้
  • ควรกำหนดให้มีการเล่นมวย หรือม้า
  • ควรกำหนดให้มีพนันออนไลน์
  • ควรกำหนดให้มี Sport Betting และการเล่นที่ใช้ทักษะของผู้เล่นประกอบด้วย เช่น Poker
  • ควรศึกษาว่าประเภทของกาสิโนที่เล่นในต่างประเทศเทียบเคียงด้วย

30. การกำหนดหลักเกณฑ์การกาสิโน

  • ไม่ควรกำหนดให้ต้องขออนุญาต เพื่อความคล่องตัว
  • ควรกำหนดให้ชัดเจนว่าการเข้าเล่นหรือเข้าพนันในสถานประกอบการกาสิโนต้องเป็นการเล่นโดยใช้บัญชีของตนเองเท่านั้น
  • ควรกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับชิป
  • ควรกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับกติกาและเครื่องมือในการเล่นหรือการเข้าพนัน เพื่อป้องกันการโกง

 

ภาพประกอบข่าว “ธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร” (Entertainment Complex)

 

31. การเข้ากาสิโน

  • ควรกำหนดอนุญาตให้สามารถใช้ข้อมูลชีวภาพ สำหรับควบคุมการเข้าออกสถานประกอบการกาสิโน เพื่อรักษาความปลอดภัย

32. บุคคลที่อาจเข้าสถานประกอบการกาสิโน

  • ควรกำหนดให้บุคคลที่จะเข้าสถานประกอบการกาสิโนแสดงรายการบัญชีหรือเงินสดเพื่อที่จะนำไปเข้าเล่นหรือเข้าพนัน
  • ควรกำหนดให้เฉพาะคนต่างชาติ หรือคนไทยที่กำลังจะเดินทางออกนอกประเทศหรือกลับเข้ามาในประเทศไทย เข้าเล่นในสถานประกอบการกาสิโนเท่านั้น

33. สัดส่วนพนักงาน

  • ควรกำหนดให้สัดส่วนของพนักงานคนไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 80

34. การกำหนดลักษณะของพนักงานที่เกี่ยวข้องกับกาสิโน

  • การกำหนดลักษณะของพนักงานที่เกี่ยวข้องกับกาสิโน อาจก่อให้เกิดภาระกับหน่วยงานของรัฐและผู้ประกอบการ
  • ควรกำหนดลักษณะของพนักงานเฉพาะที่เป็นพนักงานระดับบริหารหรือที่มีหน้าที่สำคัญเกี่ยวกับกาสิโนเท่านั้น

35. การเชิญชวน โฆษณา ประชาสัมพันธ์ หรือจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายเกี่ยวกับกาสิโน

  • ควรกำหนดให้ชัดเจนในร่าง พ.ร.บ. ว่า ผู้รับใบอนุญาตสามารถจัดให้มีบรรดากิจกรรมส่งเสริมการขายที่กระทำกันตามปกติประเพณีของการประกอบสถานบันเทิงครบวงจรในระดับสากลได้
  • ควรกำหนดห้ามมิให้มี Junket โดยควรระบุนิยามของ Junket ไว้ในร่าง พ.ร.บ.

36. หลักประกันการชำระเงิน

  • ควรกำหนดให้สามารถนำสิทธิการเช่า และทรัพย์สินอื่น ๆ ในสถานบันเทิงครบวงจร ไปเป็นหลักประกันการชำระหนี้ได้

37. การให้สินเชื่อกับผู้เข้าเล่น

  • ควรกำหนดให้สามารถให้สินเชื่อแก่ผู้เข้าเล่นหรือเข้าพนันในสถานประกอบการกาสิโน ไม่ว่าบุคคลดังกล่าวจะเป็นคนไทยหรือคนต่างชาติ
  • ควรกำหนดให้เข้มงวด โดยอาจกำหนดวงเงินที่อาจให้สินเชื่อ อัตราดอกเบี้ย และกำหนดเวลาชำระหนี้
  • ควรกำหนดห้ามให้สินเชื่อแก่ผู้เข้าเล่นหรือเข้าพนันในสถานประกอบการกาสิโน ที่เป็นคนไทยหรือมีถิ่นที่อยู่ในไทย

38. บทกำหนดโทษ

  • มีความเห็นว่าโทษเบาเกินไป
  • ควรกำหนดให้มีโทษพักใบอนุญาต
  • ควรเพิ่มค่าปรับของผู้รับใบอนุญาตที่ปล่อยปละละเลยหรือยินยอมให้บุคคลต้องห้ามเข้าไปในสถานประกอบกาสิโน
  • ควรกำหนดให้มีโทษอาญาในบางกรณี
  • ควรกำหนดให้มีโทษเพิกถอนกิจการ และอายัดทรัพย์สินหรือที่ดินของกิจการที่เพิกถอน

39. การคุ้มครองผลประโยชน์ของนักลงทุน

  • ควรมีการคุ้มครองผลประโยชน์ของนักลงทุนในสถานบันเทิงครบวงจรโดยการให้อำนาจสำนักงานในการทำสัญญาเพื่อเยียวยาในกรณีมีการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายหรือเงื่อนไขอื่น ๆ
  • การระงับข้อพิพาทควรกำหนดให้ใช้กลไกอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศได้

 

ภาพประกอบข่าว “ธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร” (Entertainment Complex)

 

40. รายงานบัญชีของผู้รับใบอนุญาต

  • ควรกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตเปิดเผยรายงานบัญชีของสถานบันเทิงครบวงจรต่อรัฐสภา เพื่อความโปร่งใส

41. การเสนอขายหุ้นต่อประชาชน

  • มีความเห็นว่าควรกำหนดห้ามมิให้ผู้รับใบอนุญาตระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทยและต่างประเทศ
  • หากอนุญาตให้เสนอขายหุ้น ควรกำหนดสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 24.99 เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่น แต่ไม่เสียอำนาจในการควบคุมกิจการ

42. การกระจายรายได้จากสถานบันเทิงครบวงจรให้ท้องถิ่น

  • ควรกำหนดเงินที่ได้รับจากค่าธรรมเนียมและภาษีเป็นรายได้ของจังหวัด
  • ควรมีการกระจายรายได้ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ที่มีการตั้งสถานบันเทิงครบวงจร
  • ควรกำหนดสัดส่วนการจัดสรรรายได้ระหว่างรัฐบาลกลางและท้องถิ่นให้ชัดเจน

43. การจัดตั้งกองทุนเพื่อเยียวยาผลกระทบทางสังคม

  • ควรกำหนดให้มีกองทุนเพื่อเยียวยาผลกระทบทางสังคม
  • ควรมีคณะกรรมการบริหารกองทุนที่สรรหาจากผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนภาคประชาสังคม ผู้แทนภาคประชาชน
  • ควรกำหนดให้มีสำนักงานกองทุน
  • ควรกำหนดแหล่งที่มาของเงินกองทุน เช่น ส่วนแบ่งจากรายได้ของสถานบันเทิงครบวงจร
  • ควรกำหนดวัตถุประสงค์การใช้เงินกองทุนให้ชัดเจน เช่น การป้องกันและแก้ไขปัญหาการพนัน การส่งเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่

44. การฟอกเงิน

  • มีความกังวลว่าสถานบันเทิงครบวงจรอาจกลายเป็นแหล่งของการฟอกเงิน
  • ควรกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินที่เข้มงวด
  • ควรกำหนดให้มีการตรวจสอบแหล่งที่มาของเงินที่นำมาใช้ในการเล่นกาสิโน
  • ควรกำหนดให้มีการรายงานธุรกรรมที่มีมูลค่าสูงต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  • ควรกำหนดให้มีการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)

45. ปัญหาด้านสังคม

  • มีความกังวลว่าอาจก่อให้เกิดปัญหาด้านการติดพนัน ความแตกแยกของสถาบันครอบครัว อาชญากรรม ศีลธรรม และความสงบเรียบร้อยของประเทศ
  • การตรากฎหมายอนุญาตให้มีกาสิโนในสถานบันเทิงครบวงจรอาจไม่สามารถแก้ปัญหาบ่อนหรือการพนันออนไลน์ที่ผิดกฎหมายได้
  • อาจก่อให้เกิดปัญหาการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ
  • ควรกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาสังคมที่อาจเกิดขึ้น เช่น:
  • การจำกัดการเข้าถึงของคนไทย
  • การให้ความรู้เกี่ยวกับการพนันอย่างรับผิดชอบ
  • การจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาและช่วยเหลือผู้ติดการพนัน
  • การส่งเสริมกิจกรรมทางเลือกที่สร้างสรรค์ในชุมชน
  • การเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่โดยรอบสถานบันเทิงครบวงจร
  • การกำหนดให้มีการศึกษาและติดตามผลกระทบทางสังคมอย่างต่อเนื่อง

 

สรุป 45 ประเด็นร้อน “สถานบันเทิงครบวงจร” ชง ครม.ชี้ชะตา

 

บทสรุป : สำหรับรายละเอียดทั้งหมด 45 ประเด็นร้อนจากการเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จะนำผลการรับฟังความคิดเห็นเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเร็ว ๆ นี้ เพื่อประกอบการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ต่อไป โดยจะพิจารณาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. ให้มีความสมบูรณ์และสอดคล้องกับความต้องการของทุกภาคส่วนต่อไป