วันนี้ (7 ตุลาคม 2567) น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยในงานสัมมนาเวทีกรุงเทพธุรกิจ ฟอรั่ม ASEAN Economic Outlook 2025 : The Rise of ASEAN, A Renewing Opportunity โดยแสดงวิสัยทัศน์เรื่องพลิกเศรษฐกิจไทยผงาดอาเซียน ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับความร่วมมืออาเซียน โดยผลักดัน 4 ประเด็นสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจอาเซียนให้ขยายตัว 4-5% ทุกปี เพื่อให้เป็นเซฟโซนสำหรับนักลงทุนในอุตสาหกรรมสมัยใหม่
น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำกรอบความร่วมมือเอเชีย ครั้งที่ 3 (ACD) ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ และได้หารือกับหลายประเทศก็สนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เช่น อุตสาหกรรม AI และอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยี โดยส่วนใหญ่เห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพ โดยเฉพาะการบริการด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นที่นิยมทั่วโลก
ขณะเดียวกันในช่วงระหว่างวันที่ 9 - 11 ตุลาคม 2567 ยังเตรียมเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) อย่างเป็นทางการ เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 - 45 พร้อมทั้งการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง โดยการเดินทางไปในครั้งนี้ รัฐบาลจะนำเสนอนโยบายด้านต่าง ๆ บนเวทีอาเซียน เพื่อสร้างยุทธศาสตร์ความร่วมมือร่วมกันของประเทศสมาชิกด้วย
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้กำหนด 4 ประเด็นใหญ่เกี่ยวกับความร่วมมือของอาเซียนที่สำคัญเพื่อนำไปสื่อสารโอกาสของอาเซียนและประเทศไทย ประกอบด้วย
1.การยกระดับทางด้านเศรษฐกิจ
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์มวลรวมของอาเซียน (GDP) มีมูลค่า 3.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 119 ล้านล้านบาท ขยายตัวเฉลี่ย 4-5% ต่อเนื่องทุกปี ขณะที่จำนวนประชากรก็มีจำนวนมากถึง 670 ล้านคน ถือเป็นตลาดที่น่าลงทุนแห่งหนึ่งของโลก และมีความปลอดภัยต่อนักลงทุน
นายกฯ ยอมรับว่า การเดินทางไปประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่ สปป.ลาว ครั้งนี้ รัฐบาลจะแจ้งให้ประเทศสมาชิกต่าง ๆ ได้รับทราบถึงความร่วมมือทุกด้าน พร้อมทั้งการปลดล็อกอุปสรรคที่มีทั้งด้านการค้า การลงทุน กฎระเบียบ และภาษี เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างกัน โดยรัฐบาลตั้งใจว่าเมื่อนักลงทุนมาลงทุนในประเทศไทยแล้วก็เหมือนกับลงทุนไปทั้งตลาดอาเซียน
2.อาเซียนเป็นภูมิภาคที่สงบสุข
นายกฯ ระบุว่า ในการเดินทางไปประชุม ACD ที่ผ่านมา ได้ประชุมร่วมกันกับประธานาธิบดีของอิหร่าน ซึ่งประเทศไทยได้แสดงจุดยืนเกี่ยวกับการสนับสนุนการเจรจาเพื่อให้เกิดสันติภาพ แต่ก็เคารพกฎหมายระหว่างประเทศ พร้อมทั้งเปิดพื้นที่ว่าประเทศไทยพร้อมเป็นพื้นที่ตัวกลางในการเจรจาสันติภาพของประเทศต่าง ๆ เหมือนกับในช่วงที่ผ่านมาที่มีการเจรจาระหว่างชาติมหาอำนาจ คือรัฐมนตรีต่างประเทศของจีน กับที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ซึ่งใช้ไทยเป็นที่หารือ
ทั้งนี้เห็นว่าเมื่ออาเซียนเป็นภูมิภาคที่สงบสุข จะเปิดโอกาสสำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่มายังภูมิภาค ล่าสุดก็เห็นนักลงทุนจากจีนกระจายการลงทุนในอาเซียน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) จากจีน หรือการผลิตโซลาร์เซลล์ ของมาเลเซีย
“ทั่วโลกกำลังสนใจเรื่อง AI และ Data Center อย่างที่ผ่านมา Google ก็ประกาศการลงทุนในไทยไปแล้ว 1,000 ล้านดอลลาร์ และจริง ๆ ยังมีอีกหลายบริษัทอยากเข้ามาลงทุน Data Center เพราะหลาย ๆ ประเทศมีปัญหาความขัดแย้ง จึงต้องหากพื้นที่เพื่อเก็บฐานข้อมูลไว้อย่างปลอดภัย เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ก็พร้อมเข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งจะส่งผลดีต่อการจ้างงานอีกมาก”
นอกจากนี้ในการเดินทางไปเวทีประชุมผู้นำอาเซียน ไทยจะนำประเด็นเรื่องของสถานการณ์ในเมียนมาไปหารือกับผู้นำประเทศต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้เกิดสันติภาพ รวมทั้งการเป็นประธานอาเซียนของอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในปี 2568 ประเทศไทย จะปรึกษาหารือเพื่อสนับสนุนในเรื่องการสร้างสันติภาพในเมียนมาอย่างต่อเนื่องด้วย
3.การเชื่อมโยงด้านการขนส่ง และคมนาคม
การพัฒนาด้านการขนส่งร่วมกันของอาเซียน จะช่วยยกระดับความเชื่อมโยงในด้านการเดินทางมากขึ้น ทั้งการเชื่อมโยงเส้นทาง ทางถนน รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง การพัฒนาท่าเรือ และการผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ เชื่อมโยงระหว่างอ่าวไทยกับทะเลอันดามัน เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่าย
ขณะเดียวกันอานคตของอาเซียนยังสามารถเป็นศูนย์กลางด้านการส่งออกอาหาร เพราะมีผลผลิตทางการเกษตรจำนนมาก สามารถยกระดับให้เป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) และเป็นคลังอาหารของภูมิภาคได้ โดยนำเอาเทคโนโลยี AI มาช่วยบริหารจัดการ และจัดส่งอาหารให้กับประเทศต่างๆ ตามความต้องการได้
4.การร่วมแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม
ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นวาระที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ จากปัญหาเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศในปัจจุบัน แม้ประเทศไทยจะมีเป้าหมายกับการเข้าสู่ภาวะการเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ.2050 ดังนั้นการบริหารจัดการและเตรียมความพร้อมเรื่องภัยพิบัติรัฐบาลจึงต้องเตรียมแผนเป็นแผนสำรองเอาไว้ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ และให้ความสำคัญเรื่องของคาร์บอนเครดิตด้วย
นายกฯ กล่าวว่า รัฐบาลจะเร่งรัดนโยบายต่าง ๆ โดยจะใช้เวทีอาเซียนหารือกับประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ เพื่อผลักดันความร่วมมือในด้านที่สำคัญต่อไป