"ท๊อป จิรายุส” ชี้ 5 ปัจจัยหนุนอาเซียนเข้าสู่ยุคทองคำ เงินทุนไหล 2.2 ล้านล้าน

07 ต.ค. 2567 | 10:07 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ต.ค. 2567 | 13:18 น.

ท๊อป จิรายุส มอง 5 ปัจจัย หนุนอาเซียนเข้าสู่ยุคทองคำ เม็ดเงินลงทุนไหลสู่ภูมิภาค 2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ชี้ไทยมีโอกาสเป็นฮับเทคโนโลยีการเงินภูมิภาค พร้อมแนะรัฐเร่งยกระดับกระทรวงดีอี-กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ สู่กระทรวงเกรด A รับโลกเปลี่ยนสู่เศรษฐกิจดิจิทัล- NET ZERO

นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ได้กล่าวในงาน "ASEAN Economic Outlook 2025: The Rise of ASEAN, A Renewing Opportunity" ซึ่งจัดขึ้นโดยกรุงเทพธุรกิจ ภายใต้หัวข้อ "The Growth of Finance in Southeast Asia"โดยพูดถึงโอกาสทางการเงินในภูมิภาคอาเซียนว่าตั้งแต่ปี 2024 เป็นต้นไป จะเป็นยุคทองคำของอาเซียนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่กำลังเคลื่อนตัวมาสู่อาเซียนอย่างต่อเนื่อง โดยภูมิภาคอาเซียนกำลังจะมีบทบาทสำคัญในเวทีเศรษฐกิจโลก เนื่องจากปัจจัยหลายประการที่ส่งผลให้ภูมิภาคนี้กลายเป็นพื้นที่ที่น่าจับตามองของนักลงทุนและผู้ประกอบการจากทั่วโลก

 

\"ท๊อป จิรายุส” ชี้ 5 ปัจจัยหนุนอาเซียนเข้าสู่ยุคทองคำ เงินทุนไหล 2.2 ล้านล้าน

“เดิมทีเศรษฐกิจโลกอยู่ภายใต้ระบบสากลที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นยุคของการแบ่งกลุ่มภูมิภาค (Regionalization) ที่ให้ความสำคัญกับการร่วมมือในระดับภูมิภาคมากขึ้น"

โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน  ที่มีแนวโน้มที่จะร่วมมือกันเข้มแข็ง ทุกประเทศสมาชิกอาเซียนจะลงนามร่วมกันภายใต้ “กรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน” หรือ “DEFA” (Digital Economy Framework Agreement) ที่จะร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียนให้รวมเป็นหนึ่งเดียว และจะมีประชากรรวมกันกว่า 600 ล้านคน ซึ่งจะส่งผลให้อาเซียนกลายเป็นภูมิภาคที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกและจะดึงดูดเม็ดเงินด้านเศรษฐกิจดิจิทัลเข้ามาในภูมิภาคราว  2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ  หรือประมาณ 66 ล้านล้านบาท

นายจิรายุส  กล่าวต่อไปว่าปัจจัยหลักที่ทำให้อาเซียนกำลังเข้าสู่ยุคทองคำ ประกอบด้วย ภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics): อาเซียนกำลังเป็นจุดศูนย์กลางความสนใจของโลก เนื่องจากความตึงเครียดระหว่างประเทศมหาอำนาจ เช่น จีนและสหรัฐอเมริกา ทำให้นักลงทุนมองหาโอกาสใหม่ในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะเมื่อมีแนวโน้มที่เศรษฐกิจจะกระจายการลงทุนออกจากจีน ทำให้ประเทศในอาเซียน เช่น ไทยและเวียดนาม ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น

 

\"ท๊อป จิรายุส” ชี้ 5 ปัจจัยหนุนอาเซียนเข้าสู่ยุคทองคำ เงินทุนไหล 2.2 ล้านล้าน

 

โครงสร้างประชากร (Demographics): อาเซียนเป็นภูมิภาคที่ยังคงมีประชากรวัยทำงานจำนวนมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่กำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในอาเซียน เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม ที่มีวัยแรงงานเฉลี่ยต่ำกว่า 30 ปี จึงเป็นจุดเด่นที่ทำให้ภูมิภาคนี้ยังคงมีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป

ค่าจ้างแรงงานที่ต่ำ (Wage Levels): ค่าแรงในประเทศอาเซียนยังคงต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ ทำให้ภูมิภาคนี้เป็นพื้นที่ที่เหมาะสำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานและการผลิต จึงเป็นจุดดึงดูดสำหรับการย้ายฐานการผลิตจากประเทศที่ค่าแรงสูงกว่า

ทรัพยากรธรรมชาติ (Natural Resources): อาเซียนมีทรัพยากรธรรมชาติที่ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ เช่น แร่ธาตุหายาก (Rare Earth) ที่มีอยู่ในเวียดนาม และแหล่งทรัพยากรใต้น้ำในอินโดนีเซีย ทำให้ภูมิภาคนี้ยังคงมีศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจจากทรัพยากรที่มีอยู่

 

สภาพแวดล้อมที่เสถียร (Peace and Stability): อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีสภาพแวดล้อมทางการเมืองที่เสถียรและไม่ค่อยมีความขัดแย้งภายใน ซึ่งสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนและส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจ

\"ท๊อป จิรายุส” ชี้ 5 ปัจจัยหนุนอาเซียนเข้าสู่ยุคทองคำ เงินทุนไหล 2.2 ล้านล้าน

 

นายจิรายุส กล่าวต่อไปว่าทิศทางของโลกในอนาคตจะขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจดิจิทัลและเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้หลายประเทศต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

 

 “ลมกำลังพัดมาทางฝั่งดิจิทัล” หมายถึง การที่ทุกภาคส่วนควรหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึง"

 

ถึงเวลาแล้วที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมควรจะได้รับการยกระดับให้เป็น "กระทรวงเกรด A" เพราะการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลไม่เพียงแต่ส่งผลต่อภาคธุรกิจและการลงทุน แต่ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ประเทศสามารถแข่งขันในระดับโลกได้ การทำให้กระทรวงดิจิทัลฯ มีบทบาทสำคัญในระดับสูง จะช่วยให้การพัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในประเทศเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

 

การวางแผนงบประมาณควรสอดคล้องกับทิศทางของโลกในแต่ละปี และเน้นให้ความสำคัญกับภาคส่วนที่จำเป็นที่สุดในเวลานั้น โดยในยุคที่เศรษฐกิจดิจิทัลและเทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นที่ต้องการ การจัดสรรงบประมาณให้กระทรวงดิจิทัลฯ มากขึ้นจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของประเทศในด้านเศรษฐกิจและสังคม

 

นอกจากนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ ควรเป็นหน่วยงานหลักที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตที่กำลังจะมาถึง

 

นายจิรายุส กล่าวต่อไปอีกว่า โลกกำลังเคลื่อนไปสู่ยุคที่เศรษฐกิจสีเขียวและการรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นหลักในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ดังนั้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยจำเป็นต้องได้รับการยกระดับเป็นกระทรวงเกรด A เพื่อทำหน้าที่หลักในการขับเคลื่อนนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรและการจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

โดยภายใน 6 ปีข้างหน้า ประเทศไทยต้องเผชิญกับมาตรการระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่จะมีผลกระทบต่อการส่งออก เช่น การตั้งเป้าหมายให้เป็น "Net Zero" และการเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Pricing) ซึ่งจะมีผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรม ดังนั้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงควรได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อเตรียมความพร้อมและให้คำแนะนำแก่ภาคธุรกิจในประเทศ”

“ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเป็น "ไข่แดง" ของอาเซียน เนื่องจากมีโครงสร้างเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น ระบบขนส่งและโลจิสติกส์ที่สามารถเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านได้ ทำให้การค้าขายและการขนส่งสินค้ามีความสะดวกมากขึ้น”

 

อย่างไรก็ตามไทยจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาภายในอย่างเร่งด่วน เช่น ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง โดยข้อมูลล่าสุดชี้ให้เห็นว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยอยู่ที่กว่า 80% ซึ่งถือว่าสูงมาก การแก้ไขปัญหานี้จะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ

 

นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ของไทยในปัจจุบันยังต้องเผชิญกับปัญหาความเชื่อมั่นจากนักลงทุน รวมถึงการปรับตัวให้สอดคล้องกับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ซึ่งเป็นปัจจัยที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสำคัญมากขึ้น

 

อีกทั้งยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาทักษะแรงงานของไทยให้สอดคล้องกับความต้องการของเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต เพื่อให้ประเทศไทยสามารถดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงและเป็นไปตามเทรนด์เศรษฐกิจใหม่ เช่น ดิจิทัล เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) และเทคโนโลยีการเงิน (Fintech) ทั้งนี้ ประเทศไทยต้องเร่งยกระดับทักษะของแรงงาน โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) และวิทยาศาสตร์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม ที่มีการผลิตแรงงานในสายเทคโนโลยีออกสู่ตลาดในจำนวนมากกว่าไทยถึง 50 เท่า

 

ส่วนโอกาสการเป็นศูนย์กลางภูมิภาคนั้น  ไทยควรเน้นการเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีทางการเงิน (Open Financial Web) ที่สามารถรองรับเงินดิจิทัลและการทำธุรกรรมในโลกอนาคต มากกว่าการเป็นศูนย์กลางการเงินแบบดั้งเดิมที่อิงกับสาขาธนาคารและตู้เอทีเอ็มทั่วประเทศ

 

"การมุ่งสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนในสาขาที่มีความต้องการสูงจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำทางการเงินในภูมิภาคอาเซียนได้"

 

แม้ว่าอาเซียนจะเป็นภูมิภาคแห่งโอกาส แต่ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงหลายประการ เช่น การแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านที่กำลังเร่งพัฒนาศักยภาพของตนเอง อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ตั้งเป้าที่จะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจด้านความยั่งยืนและเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียน ทำให้เกิดการแข่งกันในเชิงนโยบายเพื่อดึงดูดการลงทุนในภูมิภาคนี้

 

นายจิรายุส เสนอแนะว่าประเทศไทยควรปรับปรุงนโยบายภาครัฐให้สอดคล้องกับทิศทางของโลก โดยเฉพาะในด้านดิจิทัลและการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว รวมถึงการวางแผนงบประมาณอย่างชาญฉลาด เพื่อเตรียมพร้อมรับโอกาสที่มาถึงในอนาคต