ศุลกากรเดินหน้ารีดภาษี 1.22 แสนล้าน ตามเป้าปีงบ 68 รับมีความท้าทาย

07 ต.ค. 2567 | 23:07 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ต.ค. 2567 | 00:26 น.

ศุลกากรเผยเป้าจัดเก็บรายได้ปีงบ 68 เพิ่มขึ้น 7% อยู่ที่ 1.22 แสนล้านบาท หลังปีงบ 67 เก็บรายได้ทะลุเป้า 3.28% รับมีความท้าทาย ต้องบริหารจัดการ

นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ผลการจัดเก็บรายได้ปีงบประมาณ 2567 รวมทั้งสิ้น 624,304 ล้านบาท แบ่งเป็น

  • กรมศุลกากรจัดเก็บรายได้ 117,949 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 3,749 ล้านบาท คิดเป็น 3.28%
  • การจัดเก็บรายได้แทนหน่วยงานอื่น จำนวน 506,355 ล้านบาท หลังดำเนินมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ เพื่ออุดรอยรั่วไหลในการจัดเก็บภาษีอากรอย่างต่อเนื่อง

นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร

ขณะที่การจัดเก็บแวต (VAT) สินค้าราคาต่ำกว่า 1,500 บาท ซึ่งเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่เดือนก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อสร้างความเท่าเทียมให้ผู้ประกอบการในประเทศ ใน 3 เดือนที่ผ่านมา สามารถจัดเก็บภาษีได้แล้ว 300 ล้านบาท และกรมศุลจะตรวจสอบสินค้านำเข้าต่อเนื่องจนกว่ากรมสรรพากรจะแก้กฎหมายเก็บจากแพลตฟอร์มต่างๆ ได้ 

ส่วนเป้าการจัดเก็บรายได้ปีงบประมาณ 2568 อยู่ที่ 122,200 ล้านบาท ถือเป็นเป้าหมายที่ท้าทายมาก ถ้าดูจากฐานเดิมปีงบ 2567 เพิ่มขึ้นถึง 7% โดยกรมต้องไปบริหารจัดการมให้ดี 

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยท้าทาย คือ เขตการค้าเสรี หรือ FTA มีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบ เช่น ประเทศนิวซีแลนด์ เดิมเรา เก็บภาษีนม UHT ได้แต่ปีหน้าภาษีเหลือ 0 เป็นต้น  ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจไทย ถ้าเศรษฐกิจไทยฟื้นการจัดเก็บก็จะเพิ่มขึ้น 

ขณะที่ในเรื่องการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สินค้าผิดกฎหมาย  กรมศุลกากรได้ขานรับนโยบายรัฐ และเพิ่มความเข้มงวดในการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ศุลกากรในทุกช่องทางการขนส่ง 

โดยปีงบประมาณ 2567 กรมศุลกากรตรวจยึดสิ่งผิดกฎหมายเข้ามาในและออกไปนอกราชอาณาจักร จำนวนรวมทั้งสิ้น 39,282 คดี มูลค่า 2,607 ล้านบาท ได้แก่ 

  1. ยาเสพติด อาทิ ยาไอซ์ เฮโรอีน โคเคน ยาบ้า จับกุมได้ 138 คดี มูลค่า 1,605.80 ล้านบาท
  2. บุหรี่ซิกาแรต จับกุมได้ 1,991 คดี ปริมาณ 37.75 ล้านมวน มูลค่า 207.81 ล้านบาท
  3. บุหรี่ไฟฟ้า อุปกรณ์บุหรี่ไฟฟ้า น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า /บารากู่ บารากู่ไฟฟ้า จับกุมได้ 393 คดี จำนวน 1.4 ล้านชิ้น มูลค่า 145.63 ล้านบาท
  4. สินค้าที่ไม่มีใบอนุญาต จับกุมได้ 3,483 คดี จำนวน 36 ล้านชิ้น มูลค่า 710.40 ล้านบาท งเช่น-สินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) จับกุมได้ 38 คดี ปริมาณ 465,698 ชิ้น มูลค่า 77.93 ล้านบาท
  5. สินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา จับกุมได้ 545 คดี ปริมาณ 1.14 ล้านชิ้น มูลค่า 47.19 ล้านบาท