นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลที่ดีขึ้น และมีแนวโน้มที่ชัดเจนว่ารายได้ที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการลดลงอย่างต่อเนื่อง จากที่เคยต่ำกว่าประมาณการ 2.7% ในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ เหลือเพียง 0.7% ในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ กระทรวงการคลังจึงมีความมั่นใจว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในปีงบประมาณนี้ได้ตามเป้าหมายอย่างแน่นอน
สำหรับในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 (ตุลาคม 2566 - สิงหาคม 2567) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ จำนวน 2,452,726 ล้านบาท โดยการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ การจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากร และกรมศุลกากรสูงกว่าประมาณการ
ขณะที่การจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตได้รับผลกระทบจากมาตรการปรับลดอัตราภาษีน้ำมันดีเชลและน้ำมันเบนชินเพื่อลดการะค่าใช้จ่ายด้านพลังงานแก่ประชาชนและผู้ประกอบการในช่วงเดือนตุลาคม 2566 - เมษายน 2567 รวมถึงมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค
“ส่งผลให้การจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิต่ำกว่าประมาณการรายได้ที่รวมประมาณการรายได้ สำหรับจัดทำงบบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม 17,498 ล้านบาท หรือ 0.7% ซึ่งมีแนวโน้มลดลงจากในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ อย่างไรก็ดี การจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตและรายได้รัฐบาลสุทธิ สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 10.7% และ 3.3% ตามลำดับ”
ขณะที่ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 (ตุลาคม 2566 - สิงหาคม 2567) รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น จำนวน 2,423,357 ล้านบาท ซึ่งมีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้นจำนวน 2,969,635 ล้านบาท โดยรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 508,170 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 450,998 ล้านบาท