บทสรุปทวิภาคี ผู้นำ 4 ประเทศ บนเวทีอาเซียนวันแรก รัฐบาลแพทองธาร

09 ต.ค. 2567 | 23:45 น.

บทสรุปทวิภาคี ระหว่างรัฐบาลแพทองธาร กับ 4 ผู้นำประเทศ บนเวทีอาเซียน ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว วันแรก 9 ตุลาคม 2567 ประเทศไทย ประกาศความร่วมมือหลายด้าน เช็คข้อมูลแบบเจาะลึกรวมไว้ที่นี่ครบทุกประเด็น

นายกรัฐมนตรี “แพทองธาร ชินวัตร” อยู่ระหว่างการเดินทางเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ระหว่างวันที่ 8 – 11 ตุลาคม 2567 โดยในห้วงการประชุม รัฐบาลยังมีกำหนดการหารือ “ทวิภาคี” กับผู้นำที่สำคัญหลายประเทศ

 

นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 สปป.ลาว

 

โดยเฉพาะในวันที่ 9 ตุลาคม 2567 นายกฯ และคณะได้หารือกับผู้นำชาติต่าง ๆ รวม 4 ประเทศ โดยสรุปได้ดังนี้

ทวิภาคี ไทย-สิงคโปร์

นายกรัฐมนตรี หารือทวิภาคี กับ นายลอว์เรนซ์ หว่อง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ โดยผู้นำทั้งสองได้เห็นพ้องความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ช่วงครึ่งปีหลังนี้ โดยประเทศสิงคโปร์เป็นอันดับหนึ่งที่ลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในไทย ซึ่งรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจดิจิทัล AI รวมถึง Digital transportation และต้องการให้สิงคโปร์ช่วยสนับสนุน

นอกจากนี้ ไทยกับสิงคโปร์ยังมีความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหาร โดยไทยอยากให้สิงคโปร์สนับสนุนสำหรับการส่งออกผลผลิตทางการเกษตรและอาหารของไทย เช่น ไข่ออร์แกนิค เนื้อหมู ส่วนในด้านการท่องเที่ยว จำเป็นต้องสนับสนุนและเพิ่มการท่องเที่ยวระหว่างกันให้มากขึ้น

 

นายกรัฐมนตรี หารือทวิภาคี กับ นายลอว์เรนซ์ หว่อง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์

 

ส่วนความร่วมมือทางการทหาร ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะขยายความตกลงในการฝึกซ้อมของเหล่าทัพร่วมกัน พร้อมทั้งสานต่อความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ และปัญหาภัยธรรมชาติ

ทวิภาคี ไทย-บรูไนดารุสลาม

นายกรัฐมนตรี เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนดารุสลาม (H.M. Sultan Haji Hassanal Bolkiah, Sultan and Yang Di-Pertuan of Brunei Darussalam) โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ Thailand’s Government Pension Fund (GPF) and Brunei Investment Agency (BIA) เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนร่วมกันของทั้งสองประเทศโดยเร็ว

รวมถึงการผลักดันความร่วมมือ the elimination of Double Taxation and the Prevention of Tax Evasion and Avoidance (DTA) เพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษี พร้อมผลักดันการจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ที่เกี่ยวกับความร่วมมือทางด้านฮาลาล เช่น ความมั่นคงทางอาหารและการลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลในอนาคต

อีกทั้งสองฝ่ายจะอำนวยความสะดวกทางการค้าสินค้าเกษตรและด้านเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรที่ยั่งยืนและการจัดการน้ำด้วย

 

นายกรัฐมนตรี เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนดารุสลาม

 

ทวิภาคี ไทย-กัมพูชา

นายกรัฐมนตรี หารือทวิภาคีกับ สมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาแนต นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา ทั้งสองฝ่ายได้หารือประเด็นความร่วมมือที่สำคัญ โดยด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำประเด็นสำคัญ คือ 

  • หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศ ควรดำเนินงานต่อเนื่องตามแผนปฏิบัติการเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน 
  • ไทยเสนอโครงการ “หกประเทศ หนึ่งจุดหมายปลายทาง” (Six Countries, One Destination) เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว 
  • ไทยส่งเสริมบริการขนส่งสินค้าทางรถไฟระหว่างทั้งสองประเทศเพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์ข้ามพรมแดน โดยพร้อมปรับปรุงการเชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์ระหว่างไทย กัมพูชา และเวียดนามตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการร่วมสำหรับความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย-กัมพูชา 

ส่วนการพัฒนาพื้นที่ชายแดนนั้น ไทยพร้อมจัดการการแก้ไขปัญหาข้ามพรมแดนในประเด็นสำคัญที่มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ได้แก่ การหลอกลวงทางออนไลน์ ไทยยินดีกับคณะทำงานเฉพาะกิจร่วมระหว่างหน่วยงานตำรวจไทยและกัมพูชา ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 

ขณะที่การค้ามนุษย์ที่เชื่อมโยงกับการหลอกลวงทางออนไลน์ ทั้งสองฝ่ายจะช่วยเหลือเหยื่อ และทำลายเครือข่ายอาชญากรรมทั้งหมด เช่นเดียวกับการลักลอบค้ายาเสพติด ไทยและกัมพูชาจะแบ่งปันข้อมูลข่าวกรองเพิ่มขึ้น และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนหารือเพิ่มความร่วมมือต่อต้านยาเสพติดตามแนวชายแดน

 

นายกรัฐมนตรี หารือทวิภาคีกับ สมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาแนต นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา

 

ทวิภาคี ไทย-เวียดนาม

นายกรัฐมนตรี หารือทวิภาคีกับ นายฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยผู้นำทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องจะเร่งอำนวยความสะดวกและลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายมูลค่าการค้า 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  หรือประมาณ 850,000 ล้านบาท 

ทั้งนี้ไทยขอให้เวียดนามสนับสนุนการลงทุนของไทยในเวียดนาม โดยเฉพาะด้านปิโตรเคมี พลังงานและธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งไทยและเวียดนามจะส่งเสริมความร่วมมือตามยุทธศาสตร์ Three Connects เพื่อเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน เศรษฐกิจท้องถิ่น และยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืน 

นอกจากนี้ทั้งสองฝ่ายจะสนับสนุนการเพิ่มเที่ยวบินระหว่างกันมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเปิดเที่ยวบินตรงระหว่างจังหวัดของไทยกับเมืองต่าง ๆ ในเวียดนาม โดยการท่องเที่ยวประเทศไทย เป็นจุดหมายปลายทางอันดับ 1 ของนักท่องเที่ยวชาวเวียดนาม ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปเที่ยวเวียดนามเป็นอันดับ 6 ทั้งนี้ เวียดนามสนับสนุนแนวคิด 6 สถานที่ท่องเที่ยวร่วมกันหรือ Six Countries, One Destination ของไทยเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาค

 

นายกรัฐมนตรี หารือทวิภาคีกับ นายฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม