วันนี้ (8 ตุลาคม 2567) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะเดินทางเยือนสปป.ลาวอย่างเป็นทางการ พร้อมเข้าร่วมการหารือเต็มคณะกับนายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรี สปป. ลาว โดยนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้
ทั้งนี้ผู้นำทั้งสองประเทศ ได้หารือในประเด็นที่น่าสนใจร่วมกัน ที่เป็นปัญหาระหว่างกัน โดยการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติและปัญหาข้ามแดนที่สำคัญ โดยทั้งสองประเทศจัดลำดับความสำคัญ (top priorities) 5 ด้าน ได้แก่
เร่งแก้ปัญหายาเสพติด ปราบคอลเซ็นเตอร์
สำหรับ ปัญหายาเสพติด นั้นทั้งหน่วยงานของไทยและ สปป.ลาว ได้ร่วมกันจัดทำกรอบแนวทางเชิงรุกในการแก้ไขปัญหาตามชายแดน ซึ่งเป็นผลจากการหารือทางโทรศัพท์ระหว่างอดีตนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน กับนายกรัฐมนตรีนายสอนไซฯ ซึ่งวันนี้นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้เสนอให้มีการจัดการประชุมระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัดของไทย กับเจ้าแขวงชายแดน และหน่วยงานในพื้นที่ชายแดนของทั้งสองประเทศในต้นปีหน้า เพื่อติดตามและขับเคลื่อนการดำเนินการตามกรอบแนวทางดังกล่าว
ส่วนปัญหาที่ไทยและลาวจะให้ความจริงจังและให้ความสำคัญในการปราบปรามเครือข่ายอาชญากรรม online scams โดยที่ประชุมขอให้ไทย-สปป.ลาว เร่งรัดการจัดตั้งคณะทำงานปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์และ online scams ตามแนวชายแดนไทย-สปป. ลาว และขอให้มีการประชุมอย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาให้คืบหน้าเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
ขณะที่ปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งเชื่อมโยงกับปัญหา Online Scams เห็นควรให้ขยายผลเพื่อจับกุมและดำเนินคดีกับกลุ่มอาชญากรรมที่อยู่เบื้องหลัง ช่วยเหลือและส่งกลับผู้ที่ถูกหลอกลวงไปทำงานแล้ว และให้ผู้แทนตำรวจระดับสูงของทั้ง2ประเทศมีการหารือเพื่อนำไปสู่การปราบปรามเครือข่ายอาชญากรรมเหล่านี้อย่างเด็ดขาดโดยเร็วที่สุด
สำหรับประเด็นหมอกควันข้ามแดน ที่ประชุมยินดีที่ในเดือนนี้ กำลังจะมีการเปิดตัวแผนปฏิบัติการภายใต้ CLEAR Sky Strategy ระหว่างไทย สปป. ลาว และเมียนมา ซึ่งในระยะต่อไป ที่ประชุมขอให้มีการเชื่อมโยง Database และ Early Warning System เกี่ยวกับคุณภาพและสภาพภูมิอากาศของไทย สปป. ลาว และประเทศในภูมิภาคเข้าด้วยกัน
ร่วมมือบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำโขง
ขณะที่การบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำโขง นายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีนายสอนไซฯที่ได้ส่งสารแสดงความเสียใจเหตุการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่ของไทย และฝ่ายไทยได้แสดงความเสียใจ และเป็นกำลังใจ สปป.ลาว ที่มีอุทกภัยในหลายแขวงด้วยเช่นกัน
โดยผู้นำทั้งสองยินดีที่จะมีการลงนาม MOU ด้านการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการระหว่างกันในวันนี้ และจะใช้ประโยชน์จากกรอบความร่วมมือต่าง ๆ ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเพื่อการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ
เพิ่มความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ ไทยและ สปป. ลาว จะเพิ่มความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงระหว่างกัน โดยเฉพาะการค้าการลงทุน เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะสองฝั่งแม่น้ำโขง รวมทั้งความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ที่ ผ่านมายอดนักท่องเที่ยวระหว่างกันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ไทยพร้อมพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์และระบบสาธารณสุขในลาว ภายใต้แผนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ไทย-ลาว ระยะ 3 ปี (ค.ศ. 2022-2025) สำหรับความร่วมมือด้านแรงงานนั้น นายกรัฐมนตรียืนยัน ไทยต้องการให้แรงงานต่างชาติทุกคนได้เข้าถึงสิทธิและบริการต่าง ๆ ในระหว่างที่ทำงานในไทย ขอให้ไทยและ สปป.ลาว ร่วมกันส่งเสริมให้แรงงานลาวเข้ามาทำงานในไทยโดยผ่านกระบวนการที่ถูกต้อง พร้อมฝากสปป.ลาว ดูแลคนไทย และการลงทุนของไทย ในสปป.ลาว ด้วย
ลงนามความร่วมมือ 6 ฉบับ
จากนั้น ผู้นำ ทั้งสองประเทศ ได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนาม ความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยและสปป. ลาว จำนวน 6 ฉบับ และการส่งมอบผลการศึกษาและรายละเอียดการออกแบบโครงการก่อสร้างสะพานข้ามน้ำโขงเชียงแมน- หลวงพระบาง ดังนี้