จากกรณีที่เป็นกระแสในโซเชียลมีเดียของบริษัท “ดิไอคอนกรุ๊ป” (The iCon Group) ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อสุขภาพและความงาม ผ่านช่องทางหลักออนไลน์ ที่มีเซเลป ดารา อินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังหลายรายเป็นพรีเซนเตอร์ที่ผ่านมา ทำให้สังคมตั้งคำถามว่า การทำตลาดในลักษณะนี้ มีสูตรสำเร็จอย่างไร?
'ฐานเศรษฐกิจ' สอบถามตัวแทนจำหน่ายสินค้าหลากหลายแบรนด์ที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์บนโลกออนไลน์ ได้ข้อมูลว่า หากเป็นบริษัทขายสินค้าออนไลน์ทั่วไป ส่วนมากจะมีการผลิตสินค้าออกมาจริง และใช้งบประมาณในการจ้างรีวิวจากอินฟลูเอนเซอร์หลายระดับ จากนั้นก็จะมีการชักชวนให้ตัวแทนเข้ามาทำการร่วมจำหน่าย โดยมีเรทราคาการเปิดบิลขั้นต่ำหลักพันบาท ไปจนถึงระดับสูงหลักแสนบาท
ทั้งนี้ เมื่อมีความต้องการสต๊อกสินค้าเข้ามาจำนวนมาก ก็จะส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัทนั้น ๆ มีมูลค่าสูงขึ้น บริษัทก็จะนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการโปรโมทธุรกิจว่ามียอดรายได้จริง ก่อนนำไปใช้ชักชวนผู้คน หรือ ‘แม่ค้าออนไลน์’ เข้ามาเป็นตัวแทน ซึ่งแท้จริงแล้วรายได้ของบริษัทนั้น ไม่ได้สะท้อนความต้องการซื้อสินค้าจากผู้บริโภค แต่สะท้อนความต้องการสต๊อกสินค้าจากตัวแทนเพื่อนำไปขายต่อ ทำให้เกิดการขายไม่ออก เพราะ ‘มีแต่คนขาย ไม่มีคนซื้อ’
อินฟลูเอนเซอร์รายหนึ่งสรุปขั้นตอนการทำตลาดขายของออนไลน์ผ่านระบบตัวแทนไว้เป็นขั้นตอนดังนี้
“จากประสบการณ์แม่ค้าออนไลน์ที่ผ่านมาหลายแบรนด์ ส่วนมากแต่ละแบรนด์จะทำการตลาดในลักษณะนี้ บางแบรนด์เข้าใจ Cycle ของสินค้าว่ากระแสจะอยู่ไม่นาน เมื่อแบรนด์เดิมเริ่มอิ่มตัว เจ้าของที่ได้เงินไปแล้วก็จะไปเปิดแบรนด์ใหม่ และสร้างกระแสใหม่ขึ้น เป็นวงจรเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ ส่วนคนที่รู้ไม่เท่าทัน ก็กลายเป็นเหยื่อที่โดนแม่ทีมเล่นกับความโลภของคน สุดท้ายผู้ที่สต๊อกรายท้าย ๆ แล้วขายไม่ออกเหมือนผู้ที่ลุกช้า เลยต้องจ่ายรอบวง”อินฟลูเอนเซอร์รายหนึ่งกล่าว
สำหรับกรณีของ “ดิไอคอนกรุ๊ป” (The iCon Group) นั้น มีรายชื่อจดทะเบียน "ธุรกิจการตลาดแบบตรง" แต่ไม่ได้จดทะเบียนผู้ประกอบการธุรกิจขายตรง และไม่ได้อยู่ในสมาคมการขายตรงไทย
ข้อมูลของ สคบ. ระบุว่า "การทำธุรกิจตลาดแบบตรงนั้น" จะไม่มีพนักงานขาย เนื่องจากเป็นการขายสินค้า หรือบริการในลักษณะของการสื่อสารข้อมูลผ่านสื่อต่างๆ ผู้บริโภคจึงไม่สามารถจับต้องสินค้าหรือเห็นรูปร่างลักษณะของสินค้าได้อย่างชัดเจน ส่วน "ธุรกิจขายตรง" เป็นวิธีการจำหน่ายสินค้าหรือบริการที่มีลักษณะเข้าถึงตัวผู้บริโภค โดยมีผู้ขายที่เรียกชื่อตามกฎหมายว่า ผู้จำหน่ายอิสระหรือตัวแทนขายตรงเป็นผู้นำสินค้าไปอธิบาย
จากฐานข้อมูลของ สคบ. พบว่า มีผู้ประกอบธุรกิจขายตรงในไทย 638 บริษัท ส่วนผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงมีจำนวน 887 บริษัท ดังนั้น จึงแนะคนไทยตรวจสอบก่อนไปร่วมทำธุรกิจด้วย
โดยสมาคมการขายตรงไทย (TDSA) โพสต์เฟสบุ๊กให้ความรู้ไว้ดังนี้ "ธุรกิจขายตรงที่ดี" สร้างความยั่งยืนให้กับนักขายและลูกค้า แต่ "แชร์ลูกโซ่" สร้างความเสียหายให้กับผู้บริโภค ทำความรู้จักธุรกิจขายตรงที่ดี เพื่อไม่พลาดตกเป็นเหยื่อของแชร์ลูกโซ่
อย่างไรก็ตาม การธุรกิจมีความเสี่ยง ผู้ที่จะสนใจลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วน หากพบว่ามีจ่ายเงินปันผลจริง หรือธุรกิจที่มียอดขายเติบโตรวดเร็ว ควรมองถึงพื้นฐานของธุรกิจนั้น ๆ ด้วยว่า เติบโตขึ้นมาเพราะอะไร เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการดำเนินธุรกิจ