เจาะแผน “รฟฟท.” ดึงเอกชนเวียดนาม พัฒนาระบบรถไฟฟ้าในไทย

11 ต.ค. 2567 | 00:27 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ต.ค. 2567 | 12:13 น.

“รฟฟท.” จับมือเวียดนามพัฒนาระบบราง เดินหน้าขยายบริการขนส่งทางรางเต็มสูบ ลุยใช้ทุนญี่ปุ่น รุกเทคโนโลยีเสริมศักยภาพ รัยนโยบาย 20 บาทตลอดสาย ขยายผู้โดยสารรถไฟสายสีแดงพุ่ง 50%

บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือ รฟฟท. หนึ่งในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจภายใต้กระทรวงคมนาคมที่เป็นผู้ดูแลกิจการรถไฟฟ้าต่างๆ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เช่น รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และรถไฟสายสีแดง

ล่าสุด รฟฟท.ได้มีโอกาสลงพื้นที่ศึกษาดูงานระบบขนส่งทางรางที่บริษัท HO CHI MINH CITY URBAN RAILWAYS NO.1 ในประเทศเวียดนาม เพื่อนำมาปรับใช้และต่อยอดระบบขนส่งทางรางในไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุดในอนาคต

เจาะแผน “รฟฟท.” ดึงเอกชนเวียดนาม พัฒนาระบบรถไฟฟ้าในไทย

จับมือเวียดนามพัฒนาระบบราง

นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือรฟฟท. ให้สัมภาษณ์ว่า รฟฟท. ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) กับบริษัท HO CHI MINH CITY URBAN RAILWAYS NO.1 เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงานและการจัดการระบบรถไฟฟ้า คาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบขนส่งในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะด้านการดำเนินงานและการซ่อมบำรุง

“จากการที่รถไฟฟ้าสายสีแดงของกรุงเทพฯ เปิดให้บริการมาแล้วกว่า 3 ปี พร้อมด้วยประสบการณ์ในการให้บริการแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ที่ดำเนินงานมากว่า 12 ปี ความร่วมมือนี้จึงถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน” นายสุเทพ กล่าว

นายสุเทพ ให้สัมภาษณ์ต่อว่า บริษัท HO CHI MINH CITY URBAN RAILWAYS NO.1 ได้วางแผนที่จะส่งบุคลากรมาฝึกงานและเรียนรู้การดำเนินงานกับ SRTET ในกรุงเทพฯ

นับเป็นการสร้างโอกาสความร่วมมือระหว่างสองหน่วยงาน เพื่อประโยชน์ระยะยาวทั้งในระดับประเทศและภูมิภาค นอกจากนี้ยังมีการวางแผนในอนาคตที่จะพัฒนาความร่วมมือเพิ่มเติมในด้านอื่นๆ

ลุยใช้ทุนญี่ปุ่น รุกเทคโนโลยี

ขณะเดียวกันความร่วมมือทั้งสองฝ่าย ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีนโยบายด้านการซ่อมบำรุง เพื่อยกระดับมาตรฐานการให้บริการและเทคโนโลยี อีกทั้งมีจุดร่วมหลายอย่างที่คล้ายกัน โดยมุ่งเน้นการใช้ทุนจากญี่ปุ่นผ่านองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) และการใช้ระบบรถไฟฟ้าของฮิตาชิเป็นส่วนสำคัญ

สายสีแดง ดันผู้โดยสารพุ่ง 3 หมื่นคน

ส่วนความคืบหน้าการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟสายสีแดง ตามนโยบายรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย ซึ่งเริ่มต้นเมื่อปีที่ผ่านมา ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก เนื่องจากมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นถึง 50% เกินจากที่คาดการณ์ไว้ในเบื้องต้นที่คาดว่าจะเพิ่มมากสุด 20%

ทั้งนี้ยังพบว่าก่อนเริ่มนโยบายดังกล่าว มีจำนวนผู้โดยสารมาใช้บริการอยู่ที่ประมาณ 19,000 คนต่อวัน แต่หลังจากที่เริ่มใช้นโยบายฯ พบว่าในปี 2567 มีจำนวนผู้โดยสารอยู่ที่ประมาณ 30,000 คนต่อวัน หรือมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นถึง 50%

“เมื่อรวมทั้งปี มีผู้โดยสารมาใช้บริการอยู่ที่ 7-9 ล้านคน ถือว่าบริษัทมีส่วนช่วยให้ประชาชนที่มาใช้บริการลดค่าครองชีพได้ ในแง่ของรายได้ไม่ส่งผลกระทบให้รายได้ลดลง ซึ่งในปีที่ผ่านมาพบว่ารายได้เทียบเท่ากับก่อนประกาศใช้นโยบายดังกล่าว นับว่าโครงการนี้ค่อนข้างประสบความสำเร็จ” นายสุเทพ กล่าว

นอกจากนี้บริษัทประเมินว่า ภายในปี 2568 จะมีผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟสายสีแดงเพิ่มขึ้นถึง 40,000 คนต่อวัน หรือประมาณ 15-20% เมื่อเทียบกับปีนี้ที่มีผู้โดยสารเฉลี่ย 30,000 คนต่อวัน

ซึ่งจากผลสำรวจความคิดเห็นผู้โดยสารที่ดำเนินการโดยนิด้าโพล โดยกลุ่มตัวอย่างประมาณ 2,000 คน พบว่าผู้โดยสารส่วนใหญ่มีความพึงพอใจในด้านคุณภาพการบริการ คุณภาพพนักงาน โดยเฉพาะในเรื่องของราคาที่คุ้มค่าอยู่ในระดับสูงราว 90%

สุเทพ พันธุ์เพ็ง

ต่อเวลา 1 ปี รับ 20 บาทตลอดสาย

ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบนำร่องให้โครงการรถไฟสายสีแดงและรถไฟฟ้าสายสีม่วง ดำเนินมาตรการตามนโยบายรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 นั้น

ปัจจุบันกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ,รฟท. และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) อยู่ระหว่างการประชุมเพื่อพิจารณาและจัดทำข้อเสนอการต่ออายุมาตรการขยายเวลารถไฟสายสีแดงและรถไฟฟ้าสายสีม่วง ออกไปอีก 1 ปี เพื่อสอดรับกับนโยบายดังกล่าว คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆนี้

ลุ้นปิดดีล “ไฮสปีด 3 สนามบิน”

นายสุเทพ ให้สัมภาษณ์ปิดท้ายว่า ส่วนประเด็นการเจรจาแก้ไขร่างสัญญาของรฟท.ร่วมกับบริษัท เอเชีย เอราวัน จำกัด ผู้รับสัมปทานในโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) นั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการเร่งรัดแก้ไขร่างสัญญาร่วมกัน

อย่างไรก็ตามหากมีการลงนามสัญญาแล้วเสร็จ หลังจากนั้นจะดำเนินการส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนดำเนินงานต่อ คาดว่าจะได้ข้อสรุปชัดเจนภายในปลายปีนี้