ดื้อดึงตั้ง “ปธ.แบงก์ชาติ” ประวัติศาสตร์ “โทษจำคุก”

12 ต.ค. 2567 | 03:57 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ต.ค. 2567 | 04:14 น.

รายงานพิเศษ โดย จันทร์ ส่องหน้า : ปมการสรรหาและพิจารณาคัดเลือก “ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย+กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ” กลายเป็นประเด็นร้อนที่ถูกจุดไฟต่อต้านกันขึ้นมาจนร้อนฉ่าไปทั้งวังบางขุนพรหมยันทำเนียบรัฐบาล

ไฟแห่งความขัดแย้งทางความคิดในการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ ระหว่าง “แบงก์ชาติ VS รัฐบาลเพื่อไทย” ได้ขยายวงกว้างออกไปแทบทุกอณูแล้ว

ใครจะมานั่ง “ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ” คนใหม่ แทนที่ ปรเมธี วิมลศิริ ที่หมดวาระลงไปเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2567 มิใช่คำตอบของปลายทาง ในยุทธการต่อสู้

หากแต่โจทย์ใหญ่ในขณะนี้ ถูกสร้างบทให้กลายเป็น “การเมืองส่งคนที่คิดต่างเข้ามาแทรกแซงการทำงานของแบงก์ชาติจนอาจขาดความเป็นอิสระ” ไปแล้ว

ชุดความเห็นของ “ธาริษา วัฒนเกส” อดีตผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่โยนระเบิดทางความคิดสู่สาธารณะว่า ขณะนี้มีแต่จิตสำนึกของคณะกรรมการสรรหาประธาน ธปท.เท่านั้น ที่จะยับยั้ง “หายนะทางเศรษฐกิจ

เธอระบุว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้แสดงความไม่พอใจอย่างชัดเจนต่อธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งในเรื่อง การไม่ยอมลดดอกเบี้ยเพื่อดูแลเศรษฐกิจที่ทรุดต่ำ การคัดค้านนโยบายการแจกเงินดิจิทัลหนึ่งหมื่นบาท 

 

“ธาริษา วัฒนเกส” อดีตผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย

 

ล่าสุดรัฐบาลได้ส่งคนของตน เข้าไปเป็นประธานคณะกรรมการ ธปท. ซึ่งวัตถุประสงค์ก็เพื่อจะสามารถใช้ ธปท.เป็นเครื่องมือในการสนองนโยบายของรัฐบาล 

หากภาพนี้เกิดขึ้นจริง หายนะของเศรษฐกิจไทยก็จะตามมาอย่างแน่นอน เหมือนที่เราเห็นในต่างประเทศ ที่รัฐบาลเข้าไปแทรกแซงธนาคารกลาง” ธาริษา ทิ้งทุ่นระเบิด จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เชิงต่อต้านไปทั่ว

โลกแห่งความเห็น วิพากษ์ วิจารณ์ ไปถึง “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” ผู้ถูกเสนอชื่อเป็นประธานกรรมการ ธปท.ว่า “เป็นตัวตึง” มีความใกล้ชิดกับฝ่ายการเมืองในพรรคเพื่อไทย และมีความเห็นในการดำเนินนโยบายการเงิน ที่แตกต่างแบบสุดขั้ว กับคณะผู้บริหาร ธปท.ชุดปัจจุบัน 

สมมุติฐานของหลายคนมีความกังวลว่า หากตั้งบุคคลที่มาเป็นบอร์ด ธปท.มีความเห็นพ้องกับแนวทางของรัฐบาล จะทำให้โอกาสในการดำเนินนโยบายตามแนวทางที่รัฐบาลต้องการย่อมมีสูงมาก ไม่ว่าจะเป็น นโยบายการเงิน เรื่องอัตราดอกเบี้ย การดูแลค่าเงินบาท การนำเงินสำรองระหว่างประเทศ มาตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (Sovereign Wealth Fund) ซึ่งเคยถูกคัดค้านมาโดยตลอดอาจเกิดขึ้น

ผลที่ตามมา ทำให้การสรรหา “ประธาน+กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ” ที่ได้เริ่มดำเนินงานมากว่า 2 เดือน จึงไปไม่ถึงไหน ประชุมกันไปแล้ว 2 ครั้ง ล่าสุดประชุมไปเมื่อวันที่ 8 ต.ค.2567 แต่ยังหาข้อสรุปไม่ได้

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น การสรรหา การพิจารณาคัดเลือก เกิดการตั้งป้อมสู้กันอย่างถึงพริกถึงขิง ระหว่าง “กระทรวงการคลังที่เป็นตัวแทนรัฐบาล กับฝั่งของ ธปท.ที่ต้องการเป็นอิสระปราศจากการแทรกแซง” จนต้องเลื่อนการพิจารณาออกไปเป็นเดือนพฤศจิกายน 2567

 

ดื้อดึงตั้ง “ปธ.แบงก์ชาติ” ประวัติศาสตร์ “โทษจำคุก”

 

วิเรขา สันตะพันธุ์ เลขานุการ คณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ได้ชี้แจงหลังประชุมเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2567ว่า ฝ่ายเลขานุการมีความจำเป็นต้องตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้มีข้อมูลครบถ้วน จึงขอขยายระยะเวลาตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเพื่อให้การพิจารณามีความรอบคอบที่สุด

ระหว่างนี้ “ปรเมธี วิมลศิริ” อดีตเลขาธิการสภาพัฒน์ ที่ทำหน้าที่ประธานกรรมการ ธปท.มายาวถึง 6 ปี และหมดวาระลงเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2567 กับคณะกรรมการชุดปัจจุบัน จะรักษาการไปก่อนจนกว่าจะมีการแต่งตั้งชุดใหม่

ถือเป็นยุทธการยื้อเวลา ดึงสติ ต่อลมหายใจ ในการเจรจา และรอการตัดสินใจที่ตกผลึกของ “ผู้มีอำนาจ”ในชั้นสุดท้าย ก่อนลุยไฟ!!!?

ของร้อนจึงตกอยู่ในมือ “คณะกรรมการสรรหาประธานคณะกรรมการ ธปท. 7 คน” ที่มี “สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์” อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน และกรรมการ 6 คน ประกอบด้วย บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ วิฑูรย์ สิมะโชคดี อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม วรวิทย์ จำปีรัตน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ

อัชพร จารุจินดา อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา อดีตเลขาธิการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ สุทธิพล ทวีชัยการ อดีตเลขาธิการ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จะมีศิลปะในการดับร้อนอย่างไร

 

ดื้อดึงตั้ง “ปธ.แบงก์ชาติ” ประวัติศาสตร์ “โทษจำคุก”

 

ต้องไม่ลืมว่า รายชื่อที่กระทรวงการคลังเสนอ กับรายชื่อที่แบงก์ชาติเสนอ มาสู่การพิจารณานั้นถือว่า ยืนกันคนละฝั่งอย่างเห็นได้ชัด

กระทรวงการคลังเสนอ กิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เป็นประธานกรรมการ ส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เสนอ 2 คน คือ นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กับ นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ ก.ล.ต.

แบงก์ชาติ เสนอชื่อประธานกรรมการไป 2 คน คนแรก กุลิศ สมบัติศิริ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน คนที่สอง ศ.สุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกรรมการอิสระ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)

แค่เห็นรายชื่อก็บ่งบอกได้ว่า 1.แรงมาแรงไป 2.ยอมหักไม่ยอมงอ 3.ช้างชนช้าง!!!

 

กิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง

 

การสรรหาและคัดเลือก “ประธานกรรมการ ธปท.และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ” เพื่อไปทำหน้าที่กำกับดูแลทางนโยบายในการบริหารและดูแลเรื่องการพนักงาน ในธนาคารกลางของประเทศไทยนั้น มีตำนานและอุทาหรณ์ให้ศึกษาในทางประวัติศาสตร์แห่งคดีของการแทรกแซงการคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2551 แต่มาตัดสินเอาปี 2559 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษา ในคดีที่ ป.ป.ช.เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีต รมว.คลัง ในรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช เป็นจำเลย ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

ปี 2551 มีการแก้ไขกฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทย จากการเมืองแต่งตั้ง มาเป็นการสรรหาและกำหนดสัดส่วนการเสนอชื่อเข้ามา จากฟากกระทรวงการคลัง 1 เท่า และจากฟากแบงก์ชาติ 2 เท่า (บทบัญญัติตามมาตรา 28/5 ของ พรบ.ธปท.)

นพ.สุรพงษ์ จึงคณะกรรมการคัดเลือกขึ้นมา 1 ชุด ประกอบด้วย นายวิจิตร สุพินิจ เป็นประธาน กรรมการอีก 6 คน ได้แก่ ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์, นายนิพัทธ พุกกะณะสุต, นายสมใจนึก เองตระกูล, ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์, นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ และนายมนู เลียวไพโรจน์

คณะกรรมการคัดเลือกชุดนี้ พิจารณาแล้วเลือก นายพรชัย นุชสุวรรณ อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เป็นประธานกรรมการ ธปท.กรรมการผู้ทรงอีก 5 คน ประกอบด้วย นายชัยเกษม นิติสิริ, พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ, นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์, ดร.คณิศ แสงสุพรรณ และนายจรุง หนูขวัญ ซึ่งล้วนเป็นบัญชีมาจากการเสนอของกระทรวงการคลังทุกคน 

มีเพียงนายจรุง หนูขวัญ คนเดียวที่ผู้ว่าการแบงก์ชาติเสนอรายชื่อไปจากจำนวน 12 คน ได้รับการคัดเลือก แต่ชื่อตรงกับกระทรวงการคลังเสนอ ส่วนรายชื่อที่เหลือทั้ง ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ฯลฯ ไม่ได้รับการคัดเลือกทั้งหมด

 

ดื้อดึงตั้ง “ปธ.แบงก์ชาติ” ประวัติศาสตร์ “โทษจำคุก”

 

ปรากฏว่า คณะกรรมการคัดเลือกเข้าข่ายขาดคุณสมบัติเพราะเป็นกรรมการธนาคารพาณิชย์อยู่ เช่น นายวิจิตร เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบธนาคารทหารไทย ดร.สถิตย์ เป็นประธานคณะกรรมการธนาคารทหารไทย ดร.ชัยวัฒน์ เป็นประธานคณะกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย

นอกจากคณะกรรมการคัดเลือกจะมีคุณสมบัติไม่เหมาะสมแล้ว นายพรชัย ซึ่งถูกคัดเลือกให้เป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีมลทินถูกดำเนินคดีหวยบนดิน

อย่างไรก็ตาม นพ.สุรพงษ์ รัฐมนตรีคลัง ได้ดำเนินการทูลเกล้าฯ ถวายชื่อผู้ดำรงตำแหน่ง ประธานบอร์ดแบงก์ชาติเพื่อโปรดกล้าฯ แต่งตั้ง แต่เรื่องผ่านไปเกือบ 3 เดือนก็ยังไม่ทรงโปรดเกล้าฯ ลงมา จนเปลี่ยน นายกรัฐมนตรีเป็น “นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์” และ “ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช” เป็นรัฐมนตรีกระทรวงคลัง จึงมีการขอถอน เรื่องจากสำนักราชเลขาธิการคืนมา และนายสุชาติได้แต่งตั้ง กรรมการคัดเลือกขุดใหม่

ปปช.จึงร้องในสำนวนแห่งคดีว่า นพ.สุรพงษ์ แต่งตั้งประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธปท. โดยมิชอบ เนื่องจากคณะกรรมการคัดเลือกประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ บางรายมีลักษณะต้องห้าม ตาม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 ซึ่งเคยถูกผู้ตรวจการแผ่นดินชี้มูลความผิดไปแล้ว

ศาลพิเคราะห์ เห็นว่า คณะกรรมการคัดเลือกฯที่ นพ.สุรพงษ์ แต่งตั้งนั้น มีอยู่ 3 ราย ได้แก่ “นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์-นายวิจิตร สุพินิจ-นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์” เป็นกรรมการธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ภายใต้การกำกับของ ธปท. และบอร์ด ธปท. มีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลนโยบายทางการเงิน และเสถียรภาพการเงินของประเทศ 

ดังนั้น การที่ นพ.สุรพงษ์ จงใจแต่งตั้งบุคคลทั้ง 3 ราย เพื่อให้เลือกบุคคลที่ต้องการให้เข้าไปเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในบอร์ด ธปท. จึงอาจมีส่วนได้ส่วนเสีย ในอนาคตกับธนาคารที่อยู่ใต้กำกับของ ธปท. ได้

 

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีต รมว.คลัง

 

ลึกร้ายกว่านั้นไปอีก ศาลพิเคราะห์หลักฐานแนวคิวในคำตัดสินแล้วเห็นว่า “ทั้งนายชัยเกษม และ พล.ต.อ.พัชรวาท ไม่ได้มีคุณสมบัติเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องในเรื่องนโยบายทางการเงิน หรือการชำระเงินทางบัญชี แม้แต่น้อย….

จึงอาจแสดงให้เห็นเจตนาว่า ในการแต่งตั้งนายสถิตย์ นายวิจิตร และนายชัยวัฒน์ ซึ่งเป็นบุคคลต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ธนาคารฯ ฉบับที่ 4 ให้เป็นกรรมการคัดเลือกฯ เพื่อจงใจให้เข้ามาเลือกบุคคลที่ต้องการ ให้เข้ามาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในบอร์ด ธปท. อยู่แล้ว”

การกระทำดังกล่าว จึงขัดกับ พ.ร.บ.ธนาคารฯ มาตรา 28/1 วรรคสาม และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 มาตรา 9 ถือว่าทั้ง 3 ราย เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการคัดเลือก นพ.สุรพงษ์ จึงมีความผิดตามคำฟ้อง…

ศาลฎีกาฯ จึงพิพากษาว่า นพ.สุรพงษ์ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จึงลงโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 2 หมื่นบาท แต่โทษรอลงอาญา 1 ปี

ประวัติศาสตร์มีไว้ให้ศึกษาจดจำฉันใด การเมืองไทยมักจะทำในเรื่องประวัติศาสตร์หวนคืน ฉันนั้น...หนาว!!!