นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากากระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้านโยบายรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย เบื้องต้นกระทรวงคมนาคมได้วางแนวทางไว้ 2 ส่วน โดยแนวทางแรก คือ การซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืนจากเอกชนกลับมาเป็นของภาครัฐ คาดใช้งบประมาณ 200,000 ล้านบาท ซึ่งมีการหารือร่วมกับกระทรวงการคลังในการจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรับนโยบายรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย
ทั้งนี้แนวทางแรกจะใช้รูปแบบการลงทุนจาก PPP Net Cost เป็น PPP Gross Cost โดยกองทุนมีระยะเวลา 30 ปี คาดว่าจะดำเนินการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Charge) ใน 5 ปีแรก จะดำเนินการจัดเก็บในอัตรา 40-50 บาท หลังจากนั้นจะเพิ่มการจัดเก็บค่าธรรมเนียมทุกๆ 5 ปี คาดว่าผลการศึกษาจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในกลางปี 68
สำหรับพื้นที่ที่คาดว่าจะดำเนินการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Charge) เช่น รัชดาภิเษก,สุขุมวิท ,สยามพารากอน,สีลม เนื่องจากเป็นพื้นที่ใจกลางเมือง โดยปัจจุบันมีรถใช้บริการกว่า 700,000 คันต่อวัน โดยกระทรวงการคลังจะต้องศึกษาข้อกฎหมายมารองรับ อีกทั้งต้องขอความเห็นจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาก่อน เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นของกรุงเทพมหานคร (กทม.) แต่ปัจจุบันไม่ได้มีการจัดค่าธรรมเนียมในส่วนนี้
“หากการตั้งกองทุนซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืนนั้นมีข้อมูลที่ชัดเจนถึงรายได้ในแต่ละปีที่เพิ่มขึ้นจากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าว ซึ่งผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนตามที่กำหนด ขณะเดียวกันกองทุนนี้ยังเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าร่วมระดมทุนได้ เชื่อว่าจะมีนักลงทุนให้ความสนใจด้วย” นายสุริยะ กล่าว
ส่วนแนวทางที่ 2 กระทรวงคมนาคมได้สั่งการให้ สนข.ดำเนินการเร่งรัดร่างพระราชบัญญัติระบบตั๋วร่วม พ.ศ ..... ปัจจุบันอยู่ระหว่างคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา คาดว่าจะเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในวาะที่ 2 ภายในเดือนธ.ค.นี้ และการนำรายได้ของรฟม.จากโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ตลอดจนนำกองทุนอนุรักษ์พลังงานมาช่วยอุดหนุนเพื่อชดเชยรายได้ให้เอกชนผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้า เพื่อรองรับนโยบายรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย
นอกจากนี้หากผลการศึกษาการตั้งกองทุนซื้อสัมปทานรถไฟฟ้ายังไม่แล้วเสร็จ กระทรวงคมนาคมจะนำแนวทางที่ 2 มาดำเนินการแทนเพื่อให้นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ทันตามแผนที่ตั้งเป้าไว้ภายในเดือนก.ย.68