นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณีนายกรัฐมนตรี สั่งการกระทรวงคมนาคม และกระทรวงการคลัง เร่งดำเนินโครงการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เพื่อช่วยลดค่าครองชีพประชาชน ว่า คลังพร้อมหารือกับคมนาคม เพื่อดำเนินการหาแหล่งเงินทุนมาใช้ดำเนินนโยบายดังกล่าว ซึ่งจะมีหลายแนวทางในการระดมทุน
ส่วนข้อเสนอที่การจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Charge) ในช่วง 5 ปีแรก 40-50 บาทต่อครั้ง เป็นเพียงหนึ่งในแนวทางที่กระทรวงคมนาคมเสนอมาเท่านั้น และยังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งหลังจากนี้จะต้องมีการพูดคุยกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมโดยเร็วที่สุด
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เป็นนโยบายสำคัญที่รัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภา เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายการเดินทางของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ซึ่งการศึกษาจะครอบคลุมไปถึงผลประโยชน์ที่อาจได้รับ ความคุ้มค่าทางการเงิน แหล่งเงินทุน เพื่อหาโครงสร้างในการจัดทำค่าโดยสาร
สำหรับแนวทางจะมีการตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน คล้ายกับไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ ฟันด์ เพื่อซื้อคืนรถไฟฟ้าจากภาคเอกชน โดยมีกรอบวงเงินเบื้องต้นอยู่ที่ประมาณ 2-3 แสนล้านบาท ซึ่งแนวทางการระดมเงินจะมีหลายแนวทาง อาทิ การเปิดขายหน่วยลงทุนให้ประชาชน หรือนักลงทุนได้เข้ามาซื้อ ซึ่งจะมีแน่นอนแต่จะมีจำนวนเท่าไรจะต้องศึกษาอีกครั้ง
นอกจากนี้ ยังมีแนวทางการนำรายได้จากการให้บริการรถไฟฟ้าเข้ามาช่วยระดมทุน เช่นเดียวกับแนวคิดเรียกจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Charge) ในช่วง 5 ปีแรก 40-50 บาทต่อครั้ง จากกระทรวงคมนาคม ก็เป็นอีกแนวทางที่คาดว่าจะนำเงินเข้ากองทุนได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 10,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม แนวคิดทั้งหมด ยังไม่ตกผลึก แต่หลักการคือจะไม่นำเงินภาษีจากคนทั้งประเทศมาซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืน เพราะโครงการนี้คนได้ประโยชน์จะเป็นคนกรุงเทพฯ และปริมณฑล จึงควรให้คนในเขตเมืองดูแลเรื่องค่าใช้จ่าย
“ข้อดีนอกจากจะช่วยลดค่าครองชีพประชาชนแล้ว ยังทำให้คนหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะมากขึ้น ช่วยลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดยคาดจะได้ข้อสรุปของทั้ง 2 กระทรวงภายในต้นปี 68 เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ทันเป้าหมายภายในเดือนก.ย.68”