นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารและพัฒนาหลักทรัพย์ของรัฐ เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเตรียมที่จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติการหลักทรัพย์ หรือหุ้น ที่กระทรวงการคลังถืออยู่ทั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์ภายในเดือนธ.ค.นี้ เพื่อให้การบริหารจัดการหุ้นที่กระทรวงการคลังถืออยู่เกิดประโยชน์สูงสุด
ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหารและพัฒนาหลักทรัพย์ของรัฐได้หารือและได้ข้อสรุปแนวทางการขายหุ้นดังกล่าวแล้ว โดยหุ้นที่กระทรวงการคลังถืออยู่จำนวน 133 แห่งทั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์นั้น จะตัดขายออกไปให้เหลือราว 20 แห่งเท่านั้น
นายธิบดี วัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.)กล่าวว่า คณะกรรมการบริหารและพัฒนาหลักทรัพย์ของรัฐได้มีการประชุมเรื่องแนวทางการขายหุ้นที่กระทรวงการคลังถือแล้วจำนวน 2 ครั้ง และได้ข้อสรุปที่จะเสนอขายหุ้นออกไปจาก 133 แห่งเหลือประมาณ 20 แห่ง โดยหุ้นที่จะขายออกไปนั้น เป็นหุ้นที่กระทรวงการคลังถืออยู่ในสัดส่วนไม่มากนักหรือประมาณ 5-10%
สำหรับปัจจุบันมูลค่าหลักทรัพย์ที่กระทรวงการคลังถืออยู่ทั้งในและนอกตลาดไม่นับรวมหุ้นที่ถือในรัฐวิสาหกิจและกองทุนวายุภักษ์ จะมีมูลค่ารวมประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาท เมื่อตัดขายออกไปแล้วจะเหลือหุ้นที่ถืออยู่มูลค่าไม่เกิน 5 พันล้านบาท
“หุ้นส่วนใหญ่ที่จะเสนอขายออกไปนั้น เป็นหุ้นที่กระทรวงการคลังได้มาโดยนิติเหตุ หรือ บางแห่งได้มาจากการนำหุ้นเข้าตลาดของภาคธุรกิจ ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่มีอำนาจในการบริหารจัดการ และ ราคาหุ้นก็ปรับลดลง หรือไม่สร้างผลตอบแทนให้กับภาครัฐแล้ว”
อย่างไรก็ดี การเสนอขายหุ้นดังกล่าวจะต้องผ่านการพิจารณาโดยครม. ซึ่งครม.จะเป็นผู้อนุมัติในหลักการว่า หุ้นตัวใดที่กระทวงการคลังต้องถือต่อไป และเป็นประโยชน์กับภารกิจกับกระทรวงการคลัง หากนอกเหนือจากนั้น ก็จะมอบอำนาจให้สคร.ดำเนินการขายออกไป
ส่วนราคาที่จะเสนอขายหุ้นออกไปนั้น ยอมรับว่า เรื่องนี้ เป็นประเด็นที่ยากต่อการพิจารณา เพราะการขายหุ้นในราคาที่ต่ำกว่าราคาที่ได้มานั้น อาจเกิดปัญหาข้อร้องเรียนได้ ดังนั้น เรื่องนี้ เราจึงต้องขอความเห็นจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)ว่า เราสามารถเสนอขายหุ้นในราคาต่ำกว่าทุนได้หรือไม่
“เราได้ทำหนังสือสอบถามไปยังสตง.ว่า เราจะสามารถขายหุ้นในราคาต่ำกว่าต้นทุนที่ได้มาหรือไม่ เพราะหุ้นบางตัวนั้น ราคาต่ำมานาน และไม่สามารถกลับไปเท่ากับราคาต้นทุนได้แล้ว ขณะที่ การถือหุ้นนั้นๆอยู่ ราคาอาจจะต่ำลงไปอีก และยังเป็นภาระในเรื่องการบริหารจัดการอีกด้วย”