สคบ. เตือน 3 คำต้องห้าม เสี่ยงเข้าข่าย “โฆษณาเกินจริง” มีโทษหนัก

20 ต.ค. 2567 | 12:22 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ต.ค. 2567 | 12:30 น.

สคบ.แจ้งเตือน “การโฆษณา” แนะนำตัวอย่างคำ 3 คำต้องห้าม หากใช้แล้วอาจมีความเสี่ยง ผิดกฎหมายและเข้าข่าย “โฆษณาเกินจริง” มีโทษหนักทั้งปรับและจำคุก

“การโฆษณา” ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ธุรกิจใช้ในการโปรโมตผลิตภัณฑ์หรือบริการ เพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภค ในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีและการเข้าถึงข้อมูลเพิ่มขึ้นอย่างมาก การโฆษณาจึงมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ 

สำหรับการโฆษณาที่ถูกต้องนั้น จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และข้อบังคับทางกฎหมาย เพื่อป้องกันการเข้าข่าย "โฆษณาเกินจริง" ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการเอง ดังเช่นในปัจจุบันที่เกิดกรณีการหลอกลวง และการโฆษณาเกินจริง จนทำให้เกิดความเสียหายมาอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) แจ้งเตือนการโฆษณาที่ถูกต้องควรมีองค์ประกอบสำคัญด้านต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้

โฆษณาอย่างไรให้ถูกกฎหมาย

สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เตือนผู้ที่กรพทำการโฆษณาผ่านช่องทางต่าง ๆ จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครับ โดยการโฆษณาอย่างไรให้ถูกกฎหมายนั้น มีรูปแบบการดำเนินการสรุปได้ง่าย ๆ นั่นคือ

  • ข้อความต้องชัดเจน พิสูจน์ได้
  • ใช้ภาษาไทยที่เข้าใจง่าย หรือถ้าเป็นภาษาต่างประเทศ ต้องมีคำแปล
  • ห้ามแสดงข้อความสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงโดยไม่แจ้งล่วงหน้า เช่น “สงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนราคา”

คำโฆษณาที่ไม่ควรใช้

สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ระบุว่า คำโฆษณาที่ควรระวัง ต้องไม่มีคำกล่าวอ้างที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ และต้องการอ้างอิงผลทดสอบต้องชัดเจนและมาจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้ โดยคำโฆษณาที่ไม่ควรใช้ 3 ตัวอย่างที่ควรหลีกเลี่ยง นั่นคือ 

  • ที่สุดในโลก : เพราะไม่สามารถพิสูจน์ได้
  • เห็นผลทันที : เพราะคำเกินจริงที่ไม่ชัดเจน
  • ลดสูงสุด 100% : เพราะอาจทำให้เข้าใจผิด

 

ภาพประกอบข่าว สคบ.แจ้งเตือน “การโฆษณา” ที่มีความเสี่ยงผิดกฎหมายเข้าข่าย “โฆษณาเกินจริง”

 

ข้อควรระวัง

การใช้ข้อความโฆษณาที่เป็นเท็จ หรือเกินความจริง หรือทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ถือเป็นความผิดทางกฎหมาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับข้อกฎหมายของสคบ. ที่ใช้ในการกำกับดูแลการโฆษณาปัจจุบัน มีด้วยกันดังนี้

  • ประกาศคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เรื่อง แนวทางการแจ้งหรือการโฆษณาข่าวสารเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่อาจกระทบต่อสิทธิของผู้บริโภคหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือเสื่อมเสียแก่สิทธิของผู้บริโภค พ.ศ. 2563
  • ประกาศสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เรื่อง แนวทางการโฆษณาสินค้าหรือบริการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522
  • ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณา เรื่อง แนวทางการใช้ข้อความโฆษณาที่มีลักษณะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงอันยากแก่การพิสูจน์และแนวทางการพิสูจน์เพื่อแสดงความจริงเกี่ยวกับข้อความโฆษณา พ.ศ. 2565
  • ระเบียบคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณา ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการโฆษณาเพื่อแก้ไขความเข้าใจผิดของผู้บริโภคที่อาจเกิดขึ้นแล้วจากข้อความโฆษณา พ.ศ. 2542
  • ระเบียบคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณา ว่าด้วยการขอความเห็นและค่าป่วยการในการให้ความเห็น พ.ศ. 2551