นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ บนเวทีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปคครั้งที่ 31 ณ กรุงลิมา เปรู โดยส่วนหนึ่งของคำกล่าวได้พูดถึงการยกระดับภาคการเงินไทย สร้างภูมิทัศน์ใหม่การเงินใหม่ ให้แรงงานนอกระบบ โดยสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ดังนี้
1. นวัตกรรมด้านธนาคาร ผ่านการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual bank) โดยใช้ข้อมูลทางเลือก (Alternative Data) ในการวิเคราะห์การปล่อยสินเชื่อ
อาทิ พฤติกรรมการบริโภค การชำระหนี้ การใช้จ่าย ผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อวิเคราะห์สถานะทางการเงินประมวลผลเป็นค่าความเสี่ยงในการให้สินเชื่อ ตอบโจทย์ความต้องการแรงงานนอกระบบได้ดีขึ้น โดยเฉพาะรายย่อย และ SMEs กลุ่มที่ยังไม่ได้รับบริการทางการเงิน (Unserved) และกลุ่มที่ยังไม่ได้รับการบริการทางการเงินอย่างเหมาะสม (Underserved)
2. นวัตกรรมการค้ำประกัน ผ่านการจัดตั้งสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ หรือ (NaCGA) ซึ่งจะช่วยติดอาวุธแก่ผูัประกอบการ SME และ MSME โดยจะทำหน้าที่เป็นกลไกที่ประชาชนสามารถซื้อประกันความเสี่ยงด้านเครดิตของตนเอง
ทั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงของตนเอง ก่อนติดต่อสถาบันการเงินและ Non bank โดยค่าธรรมเนียมจะอิงตามระดับความเสี่ยงของลูกหนี้ (Risk-Based pricing) ซึ่งช่วยลดต้นทุนทางการเงิน และเพิ่มอำนาจต่อรองแก่ผู้ประกอบการ
3. นวัตกรรมการแก้ไขหนี้ประชาชน ผ่านการจัดทำอารีย์ สกอร์ (Ari Score) เพื่อช่วย SME เข้าถึงสินเชื่อ โดยอารีย์ สกอร์จะเป็นการจัดทำเครดิตสกอริ่งใหม่ จากข้อมูลที่กระทรวงการคลังมีอยู่ ประกอบกับการใช้ AI มาช่วยวิเคราะห์ ชึ่งผู้ที่มีคะแนนที่ผ่านเกณฑ์
โดยจะสามารถไปยื่นขอสินเชื่อได้เลยจากธนาคารรัฐ 4 แห่ง อันจะช่วยลดการพึ่งพาหนี้นอกระบบ และให้โอกาสใหม่แก่ผู้ที่ไม่สามารถยื่นขอสินเชื่อได้ เพราะไม่ผ่านเครดิตบูโร
4. นวัตกรรมการออมแบบมีแรงจูงใจ ผ่านโครงการสลากเกษียณ (retirement lottery) ซึ่งเป็นโครงการของรัฐที่สร้างแรงจูงใจให้คนไทยออม และถูกจริตกับวิถีชีวิตคนไทยที่นิยมการซื้อสลาก เงินที่ผู้ซื้อได้ซื้อสลากทั้งหมดจะถูกเก็บเป็นเงินออมและคืนเป็นเงินออมเมื่อผู้ซื้อมีอายุ 60 ปี สลากเกษียณจะช่วยให้ผู้ซื้อใช้ชีวิตหลังเกษียณแบบมีคุณภาพ (Greater Quality of Life) และดำรงชีวติก่อนเกษียณแบบมีหลักประกันทางการเงิน (Financial security)