ล้อมคอก ‘ขายตรง’ เถื่อน กมธ.สคบ. ประสานตรวจสอบ 600 บริษัท

23 ต.ค. 2567 | 00:30 น.

ล้อมคอก ‘ขายตรง’ เถื่อน กรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค เชิญ 7 หน่วยงานหารือคดี ‘ดิไอคอน กรุ๊ป’ พบกว่า 600 บริษัทขึ้นทะเบียนธุรกิจขายตรงกับ สคบ. แต่ไม่ได้เป็นสมาชิกสมาคมการขายตรงไทย

เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2567 คณะกรรมธิการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร ได้เชิญตัวแทนจาก 7 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมหารือเกี่ยวกับคดีของบริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด เพื่อสอบถามถึงความคืบหน้าของคดีและหารือถึงแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดกรณีในลักษณะนี้ขึ้นอีก ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) , สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (บก.ปคบ.และกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง) , สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ , สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง , สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) , สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสมาคมการขายตรงไทย (TDSA)

นายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ รองประธานคณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวกับ ‘ฐานเศรษฐกิจ’ ว่า สคบ. รายงานผู้ที่ขึ้นทะเบียนประกอบธุรกิจขายตรง ว่ามีทั้งหมด 642 บริษัท แต่ทางสมาคมการขายตรงไทย รายงานว่ามีสมาชิกสมาคมเพียง 29 บริษัท ทำให้เกิดคำถามว่า อีก 613 บริษัทที่เหลือนั้น เป็นใครบ้าง เหตุใดจึงไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาคมการขายตรงไทย และยังดำเนินการอยู่หรือไม่?

กันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ รองประธานคณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค สส.พรรคประชาชน กทม.

โดยหลักเกณฑ์การเข้าเป็นสมาชิกสมาคมการขายตรงไทย มีเงื่อนไขดังนี้ 1.บริษัทผู้สมัครจะต้องเปิดดำเนินการมาแล้วอย่างน้อย 6 เดือน , 2.บริษัทผู้สมัครจะต้องไม่ใช้ระบบปิระมิดซึ่งเป็นการจ่ายผลตอบแทนจากการเชิญชวนให้สมัครเป็นสมาชิกเป็นหลัก , 3.บริษัทผู้สมัครจะต้องผลิตและจำหน่ายสินค้าที่ถูกต้องตามระเบียบของทางราชการที่ใช้ควบคุมสินค้านั้นๆ , 4.บริษัทผู้สมัครจะต้องพร้อมที่จะนำจรรยาบรรณธุรกิจขายตรงโลกไปใช้ในทันที และ 5.บริษัทผู้สมัครจะต้องได้รับการจดทะเบียนประกอบธุรกิจขายตรงจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคแล้ว

ล้อมคอก ‘ขายตรง’ เถื่อน กมธ.สคบ. ประสานตรวจสอบ 600 บริษัท

“หลักเกณฑ์การเข้าร่วมเป็นสมาคมการขายตรงไทยนั้นไม่ยาก แต่มีบริษัทที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาคมการขายตรงน้อยมาก ไม่ถึง 10% จากบริษัทที่ขึ้นทะเบียนธุรกิจขายตรง ดังนั้น จึงคาดเดาได้ไม่ยากว่าในอนาคตอาจจะเกิดปัญหาในลักษณะนี้ได้อีก” 

นอกจากนี้ สคบ. ยังได้รายงานว่า ในปีนี้มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคทั้งหมดเข้ามาที่ สคบ. มากกว่า 32,000 เรื่อง ซึ่งเจ้าหน้าอยู่ระหว่างแก้ปัญหาให้กับประชาชน สามารถเคลียร์ได้แล้วราว 26,000 เรื่อง ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างดำเนินการ โดยที่ กมธ.สคบ. ไม่มีข้อมูลว่า ในจำนวนเรื่องร้องเรียนเป็นกรณีของบริษัทขายตรงหรือแชร์ลูกโซ่กี่เรื่อง

อย่างไรก็ตาม ในแต่ละปีมีบริษัทจดทะเบียนใหม่กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าอยู่ตลอด ทำให้เจ้าหน้าที่ของ สคบ. มีไม่เพียงพอในการตรวจสอบทุกบริษัท แต่เมื่อเกิดกรณีของ ดิไอคอน กรุ๊ป ขึ้นจึงทำให้เจ้าหน้าที่ได้ทำงานเชิกรุกตรวจสอบบริษัทขายตรง ทำให้พบว่ามีหลายบริษัที่เลิกดำเนินกิจการไปแล้ว บางบริษัท มีสถานที่ตั้งบริษัทกลางทุ่งนา ไม่มีตัวตนจริง ซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังรวบรวมข้อมูล เพื่อถอนออกจากบริษัทประกอบธุรกิจขายตรงจาก สคบ.

 

ทุกฝ่ายเห็นพ้องควรแก้กฎหมาย

สำหรับประเด็นเรื่องของการแก้ไขกฎหมายนั้น มีหลายหน่วยงานเห็นด้วยว่าควรแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เริ่มจากในส่วนของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 ขยายระยะเวลาที่พนักงานสอบสวนมีอำนาจควบคุมตัวผู้ถูกจับให้มากกว่า 48 ชั่วโมง เพื่อมีเวลาเพิ่มในการสืบหาพยานหลักฐานให้ครบถ้วน

ในส่วนของ พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 นั้น ในวงของการหารือมองว่ามีความละเอียดและชัดเจนอยู่แล้ว ทั้งระเบียบการทำธุรกิจขายตรงและบทลงโทษทั้งในกรณีบุคคลและนิติบุคคล แต่ปัญหาคือการนำกฎหมายไปบังคับใช้จริง ซึ่งไม่ควรรอจนมีผู้เสียหายเข้ามาร้องเรียนก่อนทำการตรวจสอบ แต่ควรดำเนินการเชิงรุกให้มากกว่านี้ ซึ่ง สคบ. ยอมรับว่า กองขายตรงนั้นมีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ จึงมีแนวคิดให้ลองศึกษาการจัดตั้งกองใหม่ภายใต้ สคบ. ขึ้น ในลักษณะกองสืบสวนและปราบปราม 

“เบื้องต้นระหว่างนี้ สคบ. , บก.ปคบ. และสมาคมการขายตรงไทย จะดำเนินการทยอยตรวจสอบบริษัทขายตรงร่วมกันแบบบูรณาการ เพื่อสแกนบริษัทที่เข้าข่ายหลอกหลวงออกจากระบบ โดยสมาคมการขายตรงไทย จะเป็นแหล่งข้อมูลให้กับหน่วยงานรัฐ ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะดำเนินการตรวจสอบและดำเนินคดี” นายกันต์พงษ์กล่าว