กลายเป็นคดีประวัติศาสตร์กรณี “บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด” ที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาฉ้อโกงประชาชน จากการดำเนินธุรกิจในลักษณะเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ ซึ่ง ณ วันที่ 22 ต.ค. 2567 พบว่ามีผู้เสียหายเข้าแจ้งความแล้วกว่า 7,000 คน รวมมูลค่าความเสียหายแล้วกว่า 2,000 ล้านบาท แม้บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ปจะจดทะเบียนขอดำเนินธุรกิจในรูปแบบตลาดแบบตรง แต่ด้วยโมเดลธุรกิจที่มีอยู่ไม่ได้แตกต่างจากธุรกิจขายตรงและเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ ซึ่งผลกระทบ ที่เกิดขึ้นในวงกว้างย่อมส่งผลต่อธุรกิจขายตรงในเมืองไทย ที่มีมูลค่ารวมกว่า 7.5 หมื่นล้านบาท
ซึ่งกระแสความนิยมของธุรกิจขายตรงที่ผ่านมา ประเด็นหลักนอกเหนือจากการพัฒนาสินค้าใหม่ออกสู่ตลาด การขยายเครือข่ายนักธุรกิจอิสระแล้ว การอาศัยช่องว่างของกฎหมาย การขาดการตรวจสอบที่เข้มข้นของผู้กำกับดูแล การใช้กลยุทธ์การตลาดที่ดึงศิลปินดารา อินฟลูเอนเซอร์ ยูทูปเปอร์ มาร่วมเป็นพรีเซนเตอร์
ชักชวนผู้คนมาร่วมเป็นสมาชิกรวมถึงเลือกซื้อสินค้า ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จและมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว กรณี “ดิไอคอนกรุ๊ป” จึงปลุกให้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องออกมาเร่งจัดการ เพื่อป้องกันและป้องปราบไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกในอนาคต
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค หรือสภาผู้บริโภค กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ดิไอคอนกรุ๊ป ถือเป็นกรณีศึกษาที่ทุกฝ่ายจะต้องหันมานำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ พร้อมชี้ให้เห็นถึงช่องว่างของกฎหมายและการบังคับใช้ที่ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
“เราต้องศึกษาเปรียบเทียบพระราชบัญญัติขายตรงของไทยกับต่างประเทศ เพื่อหาช่องว่างและแนวทางป้องกันการหลอกลวง เพราะทำไมประเทศอื่นถึงไม่มีปัญหาแบบนี้ และบางประเทศถึงขั้นห้ามทำธุรกิจแบบ MLM (Multi-Level Marketing) แต่ประเทศไทยยังอนุญาตให้ทำได้ โดยมีข้อห้ามเฉพาะเรื่องแชร์ลูกโซ่เท่านั้น”
วันนี้ พ.ร.บ.ขายตรง ที่อยู่ภายใต้การกำกับของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ที่ต้องเร่งปรับปรุงกฎหมาย และต้องตอบคำถามให้ได้ว่า แต่ละมาตราที่แก้ไขจะป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้อย่างไร รวมทั้งต้องปรับโครงสร้างคณะกรรมการขายตรงให้มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน
รวมถึงองค์กรผู้บริโภคให้มากขึ้นด้วย เพราะกรณีของดิไอคอนกรุ๊ป ที่พบว่ามีผู้เสียหายเข้ามาร้องเรียนแล้วกว่า 7,000 คน แต่คาดว่าจำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมดอาจสูงถึงหลักแสนคน สะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงของปัญหาและความจำเป็นเร่งด่วนในการปรับปรุงกลไกการคุ้มครองผู้บริโภค
“สภาผู้บริโภคยินดีร่วมมือกับ สคบ. ในการปรับปรุงกฎหมายและมาตรการต่างๆ เพื่อให้การคุ้มครองผู้บริโภคมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง” นางสารีกล่าว
นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก็ควรเข้ามามีบทบาทในการควบคุมการโฆษณาผ่านอินฟลูเอนเซอร์ และดารา โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์ด้านความงามและสุขภาพ เพราะวันนี้อินฟลูเอนเซอร์ต้องรู้ว่าสามารถโฆษณาได้ในขอบเขตแค่ไหน ต้องมีหลักฐานการใช้ผลิตภัณฑ์จริง เช่น ในต่างประเทศซึ่งกำหนดให้ต้องใช้ผลิตภัณฑ์เองอย่างน้อย 6 เดือนก่อนจะโฆษณาได้ และควรมีการจดทะเบียนอินฟลูเอนเซอร์ด้วย
“อีกประเด็นที่สำคัญ คือการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะในแง่ของระยะเวลาการพิจารณาคดี การดำเนินคดีที่ล่าช้าทำให้พยานหลักฐานอ่อนลง และเกิดข้อจำกัดในการต่อสู้คดี ควรยึดเจตนารมณ์ในการป้องปรามการละเมิดสิทธิผู้บริโภคเป็นหลัก ไม่ใช่ไปติดกับตัวอักษรในกฎหมายจนเกินไป ดังนั้นควรใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกฉบับอย่างเข้มข้น ไม่ควรจำกัดแค่ความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร ที่มีบทลงโทษปรับเพียงไม่กี่พันบาท แต่ต้องใช้กฎหมายทุกฉบับให้เป็นประโยชน์เพื่อป้องปรามไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำอีก”
นายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ รองประธานคณะกรรมาธิการคุ้มครอง ผู้บริโภค กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สคบ. รายงานผู้ที่ขึ้นทะเบียนประกอบธุรกิจขายตรง ว่ามีทั้งหมด 642 บริษัท แต่ทางสมาคมการขายตรงไทย รายงานว่ามีสมาชิกสมาคมเพียง 29 บริษัท ทำให้เกิดคำถามว่า อีก 613 บริษัทที่เหลือนั้น เป็นใครบ้าง เหตุใดจึงไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาคมการขายตรงไทย และยังดำเนินการอยู่หรือไม่?
“หลักเกณฑ์การเข้าร่วมเป็นสมาคมการขายตรงไทยนั้นไม่ยาก แต่มีบริษัทที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาคมการขายตรงน้อยมาก ไม่ถึง 10% จากบริษัทที่ขึ้นทะเบียนธุรกิจขายตรง ดังนั้น จึงคาดเดาได้ไม่ยากว่าในอนาคตอาจจะเกิดปัญหาในลักษณะนี้ได้อีก”
อย่างไรก็ตาม ในแต่ละปีมีบริษัทจดทะเบียนใหม่กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าอยู่ตลอด ทำให้เจ้าหน้าที่ของ สคบ. มีไม่เพียงพอในการตรวจสอบทุกบริษัท แต่เมื่อเกิดกรณีของ ดิไอคอน กรุ๊ป ขึ้นจึงทำให้เจ้าหน้าที่ได้ทำงานเชิกรุกตรวจสอบบริษัทขายตรง ทำให้พบว่ามีหลายบริษัทที่เลิกดำเนินกิจการไปแล้ว บางบริษัท มีสถานที่ตั้งบริษัทกลางทุ่งนา ไม่มีตัวตนจริง ซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังรวบรวมข้อมูล เพื่อถอนออกจากบริษัทประกอบธุรกิจขายตรงจาก สคบ.
สำหรับประเด็นเรื่องของการแก้ไขกฎหมายนั้น มีหลายหน่วยงานเห็นด้วยว่าควรแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เริ่มจากในส่วนของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 ขยายระยะเวลาที่พนักงานสอบสวนมีอำนาจควบคุมตัวผู้ถูกจับให้มากกว่า 48 ชั่วโมง เพื่อมีเวลาเพิ่มในการสืบหาพยานหลักฐานให้ครบถ้วน
ในส่วนของ พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 นั้น ในวงของการหารือมองว่ามีความละเอียดและชัดเจนอยู่แล้ว ทั้งระเบียบการทำธุรกิจขายตรงและบทลงโทษทั้งในกรณีบุคคลและนิติบุคคล แต่ปัญหาคือการนำกฎหมายไปบังคับใช้จริง ซึ่งไม่ควรรอจนมีผู้เสียหายเข้ามาร้องเรียนก่อนทำการตรวจสอบ แต่ควรดำเนินการเชิงรุกให้มากกว่านี้ ซึ่ง สคบ. ยอมรับว่า กองขายตรงนั้นมีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ จึงมีแนวคิดให้ลองศึกษาการจัดตั้งกองใหม่ภายใต้ สคบ. ขึ้น ในลักษณะกองสืบสวนและปราบปราม
“เบื้องต้นระหว่างนี้ สคบ. , บก.ปคบ. และสมาคมการขายตรงไทย จะดำเนินการทยอยตรวจสอบบริษัทขายตรงร่วมกันแบบบูรณาการ เพื่อสแกนบริษัทที่เข้าข่ายหลอกหลวงออกจากระบบ โดยสมาคมการขายตรงไทย จะเป็นแหล่งข้อมูลให้กับหน่วยงานรัฐ ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะดำเนินการตรวจสอบและดำเนินคดี”
ผศ.ดร.บุปผา ลาภะวัฒนาพันธ์ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดและการสร้างแบรนด์ มองว่า เหตุการณ์ของบริษัทดิไอคอนกรุ๊ปที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของทั้งแบรนด์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการธุรกิจขายตรงที่กำลังเผชิญกับความท้าทายในการสร้างความน่าเชื่อถือต่อแบรนด์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
แน่นอนว่า ธุรกิจขายตรงรายใหญ่ย่อมได้รับผลกระทบน้อยแต่จะมีการตรวจสอบคุณภาพเข้มข้นขึ้น ผู้บริโภคหันมาใส่ใจกับคุณภาพของสินค้าและบริการมากขึ้น ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและภัยคุกคามสำหรับผู้ประกอบการ ธุรกิจที่เน้นคุณภาพและความโปร่งใสจะได้รับประโยชน์จากกระแสนี้ แต่สำหรับธุรกิจที่ยังมีจุดอ่อน
อาจต้องเผชิญกับความยากลำบาก ผู้เล่นหน้าใหม่จะถูกตรวจสอบจากสังคม แบรนด์ขนาดเล็กหรือแบรนด์ใหม่ การสร้างความโปร่งใส ความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง การสื่อสารที่ชัดเจน และการให้บริการลูกค้าที่เป็นเลิศ จะเป็นกุญแจสำคัญในการเอาชนะใจผู้บริโภค
“เหตุการณ์นี้เป็นเหมือนตะแกรงที่จะร่อนให้เหลือธุรกิจขายตรงที่เป็นตัวจริง จะเกิดการคัดกรองที่เข้มงวดขึ้น ธุรกิจที่ไม่มีคุณภาพหรือไม่โปร่งใสจะถูกคัดออกจากตลาดไป แต่อาจกลับมาเกิดได้อีกตามไซเคิลของธุรกิจและการเข้ามาของเทคโนโลยีในช่วง 3-5 ปีนับจากนี้”
ด้านนายสมพร ดำพริก อุปนายกฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย สภาทนายความ กล่าวว่า จากกรณีดิไอคอนกรุ๊ปที่มีประชาชนได้รับความเสียหายจำนวนมากนั้น ทางสภาทนายความมีโครงการยื่นมือช่วยเหลือประชาชนผู้ตกเป็นเหยื่อผ่านทนายอาสา ซึ่งเป็นไปตาม กฎระเบียบข้อบังคับของสภาทนายความ หรือพระราชบัญญัติของสภาทนายความ ด้วยหลักเกณฑ์ว่าประชาชนต้องยากจนและไม่ได้รับความเป็นธรรม
ในที่นี้หมายถึงผู้มีรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 10,000-15,000 บาท และต้องประกอบด้วยหลายปัจจัยไม่ใช่เฉพาะเรื่องรายได้เพียงอย่างเดียว ซึ่งทนายอาสาที่มีอยู่อาจไม่เพียงพอกับจำนวนผู้เสียหาย แต่ยังมีทนายความอีกราว 8 หมื่นคนทั่วประเทศที่สามารถช่วยเหลือได้
“อันดับแรกจะต้องมีหลักฐานยืนยันฐานรายได้ว่าอยู่ในกลุ่มของผู้มีรายได้น้อยหรือไม่ โดยพิจารณาเป็นรายบุคคล ถ้าตรง ตามเงื่อนไขเราพร้อมช่วยเหลือทันที โดยเฉพาะอาชีพ รปภ. หรือยาม คนหาเช้ากินค่ำ อยู่บ้านเช่า ไม่มีรถ แล้วนำเงินเดือนไปลงทุนจนหมด แต่ถ้าผู้เสียหายเป็นข้าราชการหรือมีเงินบำนาญจำนวนมาก
มีธุรกิจอื่นและทรัพย์สิน เช่น มีบ้าน มีรถ ที่อยู่อาศัยของตัวเอง จะไม่เข้าเงื่อนไขที่จะช่วยเหลือ และบางคนลงทุนไป 2,500,000 หรือ 600,000 บาท ก็ไม่น่าจะเข้าเกณฑ์ ซึ่งอาชีพการทำงานจะชี้ให้ทราบอยู่แล้วว่าฐานรายได้เป็นอย่างไร”
สำหรับระยะเวลาในการดำเนินการทางคดีในอดีตดำเนินการเวลาเป็น 10 ปี ฟ้องเสร็จ คดีเสร็จ ศาลพิพากษาแล้วหาทรัพย์มาเฉลี่ย ยิ่งเป็นคดีแชร์ลูกโซ่ใช้ระยะเวลานานเกือบ 20 ปี แต่ทราบว่ากฎหมายใหม่ ระเบียบใหม่อาจใช้เวลาไม่มากนัก แต่ไม่สามารถยืนยันหรือระบุได้ว่าจำนวนกี่ปี คาดว่าอาจจะประมาณ 4-5 ปี คงได้รับทรัพย์หรือรับเงินจากการเฉลี่ยหรือการขายทอดตลาดของทรัพย์ของแม่ข่ายและทรัพย์สินบอสต่างๆ