ช่องว่าง คนรวย-คนจน ไทย 2566 ครองทรัพย์สินการเงินห่างเกือบ 5 เท่า

24 ต.ค. 2567 | 06:01 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ต.ค. 2567 | 06:12 น.

เปิดรายงานความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ปี 2566 สศช. ประเมินช่องว่าง “คนรวย-คนจน” โดยเฉพาะการถือครองทรัพย์สิน แม้ปรับตัวดีขึ้น แต่ทรัพย์สินทางการเงิน ยังพุ่งสูงห่างกันเกือบ 5 เท่า

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ปี 2566 โดยเมื่อพิจารณาส่วนแบ่งการถือครองทรัพย์สินรวมจำแนกตามระดับรายได้ ระหว่างคนรวยสุดและคนจนสุด พบว่า แม้ช่องว่างการถือครองทรัพย์สิน จะปรับตัวดีขึ้น แต่หากดูเฉพาะทรัพย์สินทางการเงิน กลับพบช่องว่างที่ห่างกันสูงประมาณ 4.8 เท่า

สำหรับภาพรวมการศึกษาความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งมุ่งเน้นไปที่การวิเคราะห์การถือครองทรัพย์สิน 4 ประเภทหลัก ได้แก่ ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประกอบธุรกิจ/การเกษตร ยานพาหนะ และทรัพย์สินทางการเงิน โดยอาจพิจารณาจาก 2 มุมมอง คือ

  • ความเหลื่อมล้ำในการถือครองทรัพย์สินรวม ซึ่งหมายถึงมูลค่ารวมของทรัพย์สินทั้งหมดที่บุคคลหนึ่งถือครอง โดยไม่คำนึงถึงหนี้สิน 
  • ความเหลื่อมล้ำในการถือครองทรัพย์สินรวมสุทธิ ซึ่งเป็นการนำมูลค่าหนี้สินมาหักออกจากมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมด เพื่อสะท้อน ภาพที่แท้จริงของความมั่งคั่งที่บุคคลหนึ่งมีหลังจากชำระหนี้สินแล้ว

ความเหลื่อมล้ำการถือครองทรัพย์สินรวม

จากรายงานพบว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แม้สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในการถือครองทรัพย์สินรวมของไทยจะมีแนวโน้มดีขึ้นเล็กน้อย แต่ยังคงอยู่ในระดับสูง เมื่อพิจารณาในรายละเอียดของแต่ละประเภททรัพย์สิน พบว่า ความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่อยู่อาศัยและยานพาหนะมีแนวโน้มลดลง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำโดยรวม

ขณะเดียวกัน ความเหลื่อมล้ำในการถือครองทรัพย์สินทางการเงินยังคงอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงเดิม และความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประกอบธุรกิจ/การเกษตรกลับมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

 

ภาพประกอบข่าว สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ปี 2566 ด้านส่วนแบ่งการถือครองทรัพย์สิน

 

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาส่วนแบ่งการถือครองทรัพย์สินรวมจำแนกตามระดับรายได้ พบว่า ส่วนแบ่งการถือครองทรัพย์สินรวมของกลุ่มที่มีรายได้สูง (Top 10) ลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 34.65% ในปี 2556 มาอยู่ที่ 29.99% 

ขณะที่ ส่วนแบ่งการถือครองทรัพย์สินรวมของกลุ่มที่มีรายได้น้อย (Bottom 40) และกลุ่มที่มีรายได้ปานกลาง (Middle 50) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งบ่งชี้ว่า มีการกระจายความมั่งคั่งจากกลุ่มคนรวยไปสู่กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลางมากขึ้น นับเป็นสัญญาณบวกที่แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งของประเทศที่ลดลง

คนรวย ครองทรัพย์สินเกือบทุกประเภท

หากพิจารณาส่วนแบ่งการถือครองทรัพย์สินจำแนกรายประเภท ในปี 2566 พบว่า กลุ่มที่มีรายได้สูง มีส่วนแบ่งการถือครองทรัพย์สินเกือบทุกประเภทสูงกว่ากลุ่มที่มีรายได้น้อยอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพย์สินทางการเงิน ซึ่งกลุ่มที่มีรายได้สูงมีส่วนแบ่งการถือครองสูงถึง 49.87% ของมูลค่าทั้งหมด ขณะที่กลุ่มที่มีรายได้น้อยถือครองเพียง 10.35% เท่านั้น

ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบส่วนแบ่งการถือครองทรัพย์สินทางการเงิน พบว่ากลุ่มที่มีรายได้สูงถือครองมากกว่ากลุ่มที่มีรายได้น้อยประมาณ 4.8 เท่า (49.87% ต่อ 10.35%)

นอกจากนี้ กลุ่มที่มีรายได้สูงยังมีส่วนแบ่งการถือครองยานพาหนะและที่อยู่อาศัยสูงกว่ากลุ่มที่มีรายได้น้อยอย่างมีนัยสำคัญ อยู่ที่ 31.86% และ 31% ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่มีรายได้น้อยกลับมีส่วนแบ่งการถือครองทรัพย์สินประเภทที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อธุรกิจ และการเกษตรสูงกว่ากลุ่มที่มีรายได้สูง 

ทั้งนี้ ความแตกต่างในการถือครองทรัพย์สินดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มที่มีรายได้สูงมีโอกาสเข้าถึงทรัพย์สินที่หลากหลายและมีมูลค่าสูงกว่า ซึ่งสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่า และเพิ่มพูนความมั่งคั่งได้ในระยะยาว

ขณะที่กลุ่มที่มีรายได้น้อยมักมีโอกาสจำกัดอยู่เพียงทรัพย์สินที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ทำให้ขาดโอกาสในการลงทุนและเพิ่มพูนฐานะทางเศรษฐกิจ

 

ภาพประกอบข่าว สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำประเทศไทย ปี 2566 ด้านส่วนแบ่งการถือครองทรัพย์สิน

 

เช็คความเหลื่อมล้ำด้านภาระหนี้สิน

การวิเคราะห์ภาระหนี้สินของประชากรจำแนกตามระดับรายได้ พบว่า ส่วนแบ่งภาระหนี้สินของกลุ่มที่มีรายได้สูงมีแนวโน้มปรับตัวลดลง โดยในปี 2566 อยู่ที่ 37.14% ของมูลค่าหนี้สินทั้งหมด ในขณะที่ส่วนแบ่งภาระหนี้สินของกลุ่มที่มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลางกลับมีแนวโน้มสูงขึ้น แม้ว่าส่วนแบ่งภาระหนี้สินจะไม่ใช่ตัวชี้วัดความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งโดยตรง แต่ก็มีความเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด 

ทั้งนี้ภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินรวมสุทธิของแต่ละบุคคลลดลง ซึ่งจะยิ่งตอกย้ำความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มที่มีรายได้สูงและกลุ่มที่มีรายได้ต่ำ โดยภาระหนี้สินสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 

  • หนี้สินในระบบ 
  • หนี้สินนอกระบบ 

โดยเกิดจากการกู้ยืมเงินจากแหล่งเงินทุนที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ กลุ่มที่มีรายได้สูงมีแนวโน้มเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้มากกว่ากลุ่มที่มีรายได้น้อย เนื่องจากมีความสามารถในการชำระหนี้และมีหลักประกันที่น่าเชื่อถือ ทำให้สถาบันการเงินเชื่อมั่นใจปล่อยสินเชื่อให้

 

ภาพประกอบข่าว สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำไทย ปี 2566 ด้านส่วนแบ่งการถือครองทรัพย์สิน

 

ทรัพย์สินกระจุกในกลุ่มคนส่วนน้อย

สศช. รายงานว่า แม้ค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคในการถือครองทรัพย์สินสุทธิจะมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบ กับช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยอยู่ที่ระดับ 0.625 ในปี 2566 แต่ระดับความเหลื่อมล้ำดังกล่าวยังคงสูงกว่าระดับ ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้อย่างมีนัยสำคัญ แสดงให้เห็นว่าทรัพย์สินส่วนใหญ่ยังคงกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนจำนวนน้อย ขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ยังคงมีทรัพย์สินน้อย หรืออาจมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน