คนจนกระจายทั่วไทย 2.6 ล้านคน โจทย์หินรัฐบาลแก้คนจนหมดประเทศ

28 ก.ย. 2567 | 01:01 น.

ผ่าปัญหาความยากจนประเทศไทย กับตัวเลข “คนจน” ปัจจุบันที่มีอยู่ถึง 2.6 ล้านคน กระจายอยู่ทั่วประเทศ หลังจากรัฐบาลแพทองธาร ประกาศโจทย์หิน คนจนหมดประเทศในช่วงที่เหลือของรัฐบาลนี้

KEY

POINTS

  • ผ่าปัญหาความยากจนประเทศไทย หลังรัฐบาลแพทองธาร ประกาศโจทย์หิน อยากเห็นคนจนของไทยหมดประเทศในช่วงที่เหลือของรัฐบาลนี้
  • เปิดข้อมูลคนจนไทยล่าสุด ในปี 2567 ประเทศไทยมีจำนวนคนจนสูงถึง 2.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 เกือบ 4 เท่า กระจายอยู่ทั่วประเทศ
  • เช็คข้อมูลการแก้ไขปัญหาความยากจนของแต่ละรัฐบาลที่ผ่านมา ตั้งแต่รัฐบาลอภิสิทธิ์ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ แก้จนได้แค่ไหน

“ความยากจนมันน่ากลัว” แต่จริง ๆ แล้ว “การแก้ปัญหาความยากจน” โดยเฉพาะลดจำนวน "คนจน" นี่สิน่ากลัวยิ่งกว่าว่าจะทำได้สำเร็จหรือไม่ โดยเฉพาะคำมั่นสัญญาจากวงประชุมคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี นัดแรก ที่บ้านพิษณุโลก ซึ่งนายกรัฐมนตรี “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร” เข้าร่วมประชุมด้วย ประกาศว่า ในระยะเวลาที่เหลืออยู่อีก 2 ปีกว่าของรัฐบาล คือ อยากเห็นคนไทยพ้นความยากจน และประเทศไทยหลุดพ้นปัญหาเศรษฐกิจ

 

นายกรัฐมนตรี “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร” เข้าร่วมประชุมคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี นัดแรก ที่บ้านพิษณุโลก

 

ต้องยอมรับว่า การแก้ปัญหาความยากจน และทำให้คนจนหมดประเทศ เป็นเรื่องที่ยากยิ่ง เพราะที่ผ่านมาแทบทุกรัฐบาลต่างทุ่มเงินจำนวนมหาศาล พร้อมประกาศ “แก้จน” กันแทบทั้งสิ้น

แต่ท้ายที่สุดด้วยการระดมสรรพวิธีการมากมาย แต่สุดท้ายการแก้จนก็ล้มเหลว ตอกย้ำด้วยจำนวนคนจนในประเทศไทยที่ยังอยู่ในระดับล้านคน และอาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังจากสถานการณ์เศรษฐกิจ ค่าครองชีพพุ่งสูงทุกรัฐบาลเช่นเดียวกัน

ฐานเศรษฐกิจตรวจสอบตัวเลขเกี่ยวกับ คนจนประเทศไทย ณ ปัจจุบัน พบข้อมูลที่น่าสนใจหลายอย่าง ซึ่งตามคำนิยามของคนจน ในบริบทของประเทศไทย "คนจน" หมายถึงบุคคลหรือครัวเรือนที่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐาน เช่น อาหาร ที่อยู่อาศัย การศึกษา และการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ

โดยเมื่อตรวจสอบเส้นแบ่งรายได้ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดสำคัญของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เพื่อใช้กำหนดผู้ที่ถือว่าเป็นคนจนในประเทศไทยคือใคร โดยกำหนดเกณฑ์รายได้ต่ำกว่า 2,802 บาทต่อเดือน (ข้อมูลจากปี 2564) อย่างไรก็ตาม เส้นแบ่งนี้อาจมีการปรับเปลี่ยนตามสภาวะเศรษฐกิจและค่าครองชีพในแต่ละปี

ขณะที่จำนวนคนจนของประเทศไทยนั้น จากการเช็คข้อมูลตัวเลขผ่านแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ นั่นคือ ระบบฐานข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP) ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้รับทราบว่ามีคนจนอยู่ในพื้นที่ใดบ้าง โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มี ปัญหาความยากจน อย่างแท้จริงพบจำนวนคนจนของประเทศไทยว่า ณ วันที่ 20 สิงหาคม 2567 ประเทศไทยมีจำนวนคนจนสูงถึง 2,568,168 คน

โดยจำนวนคนจนกว่า 2.6 ล้านคน ในปี 2567 นั้น ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการเก็บข้อมูลในปี 2567 ที่พบข้อมูลคนจนทั้งหมด 655,365 คน หรือสูงขึ้นเกือบ 4 เท่าตัว

 

จำนวนคนจนของประเทศไทย จากระบบฐานข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP)

ระบบฐานข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP) ยังแสดงรายละเอียดของคนจนลึกลงไปอีก โดยนำข้อมูลของผู้ที่มีบัตรสวัสดิการของรัฐ ซึ่งเป็นข้อมูลของกระทรวงการคลังมาประกบกับข้อมูลคนจนที่ได้รับการสำรวจจาก ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ทำให้พบกลุ่มคนที่มีปัญหาความยากจนอย่างแท้จริง หรือที่เรียกว่า “คนจนเป้าหมาย” 

จากการตรวจสอบข้อมูล TPMAP พบว่า ในปี 2567 ประเทศไทยมีคนจนเป้าหมายรวมทั้งสิ้น 813,054 คน จากการสำรวจประชากรทั้งสิ้น 34,770,696 คน โดยเมื่อเปรียบเทียบจำนวนคนจนเป้าหมาย กับปี 2566 ที่มีจำนวนคนจนรวมทั้งสิ้น 211,739 คน พบว่ามีอัตราเพิ่มขึ้นสูงถึง 3.8 เท่า

นอกจากนี้เมื่อพิจารณาจำนวนคนจนทั้งหมด 2.6 ล้านคนในปี 2567 กระจายอยู่ที่ใดบ้าง โดยเฉพาะ 10 จังหวัดที่มีจำนวนคนจนมากที่สุดเรียงจากมากไปหาน้อย พบข้อมูลดังนี้

  • นครศรีธรรมราช มีจำนวนคนจน 147,599 คน
  • บุรีรัมย์ มีจำนวนคนจน 145,475 คน
  • เชียงราย มีจำนวนคนจน 143,281 คน
  • เชียงใหม่ มีจำนวนคนจน 129,725 คน
  • ศรีสะเกษ มีจำนวนคนจน 127,000 คน
  • สุรินทร์ มีจำนวนคนจน 81,096 คน
  • กาฬสินธุ์ มีจำนวนคนจน 79,906 คน
  • สุราษฎร์ธานี มีจำนวนคนจน 68,386 คน
  • เพชรบุรี มีจำนวนคนจน 62,236 คน
  • พิจิตร มีจำนวนคนจน 60,900 คน

อย่างไรก็ดีเมื่อพิจารณาแนวทางการแก้ปัญหาความยากจน โดยตั้งเป้าหมายว่า จะลดจำนวน “คนจน” ของประเทศไทยให้ค่อย ๆ ลดลงจนหมดไปในที่สุดนั้น แต่ละรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาอย่างน้อย 4 รัฐบาล มีแนวทางแก้จน และดูแลคนจน ที่น่าสนใจ สรุปได้ดังนี้

รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (2551-2554)

รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ดำเนินนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน โดยมุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ตัวอย่างนโยบายและมาตรการสำคัญในช่วงเวลานั้น เช่น แพ็คเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบด้วยการจ่ายเงิน 2,000 บาท "เช็คช่วยชาติ" ให้กับผู้มีรายได้น้อย การฝึกอบรมอาชีพสำหรับผู้ว่างงาน การเรียนฟรี 15 ปี และเงินบำนาญสำหรับผู้สูงอายุ 500 บาทต่อเดือน

 

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี

 

เช่นเดียวกับโครงการประกันรายได้เกษตรกร เน้นการให้การสนับสนุนด้านราคาแก่เกษตรกรที่ปลูกข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง และพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ เพื่อสร้างเสถียรภาพด้านรายได้ให้กับเกษตรกร รวมทั้ง โครงการสวัสดิการสังคม มีการขยายโครงการสวัสดิการสังคมเพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาส รวมถึงโครงการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางสังคมและลดความเหลื่อมล้ำ

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (2554-2557)

รัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ดำเนินนโยบายและโครงการหลายอย่างเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในประเทศ โดนนโยบายสำคัญที่ผลักดันออกมาสำเร็จ นั่นคือ นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ และเพิ่มเงินเดือนขั้นต่ำของผู้ที่จบปริญญาตรีเป็น 15,000 บาทต่อเดือน 

 

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

 

รวมทั้งโครงการสวัสดิการสังคม มุ่งเน้นการดูแลผู้สูงอายุ เด็ก และผู้ที่ด้อยโอกาส ผ่านการจัดสรรเงินอุดหนุนต่าง ๆ เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และการให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษา

ส่วนเกษตรกร มีโครงการสำคัญ คือ โครงการจำนำข้าว เป็นโครงการที่ให้เกษตรกรสามารถนำข้าวที่ผลิตได้มาจำนำกับรัฐบาลในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร และเสริมสร้างความมั่นคงในชีวิต อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องของความคุ้มค่าและปัญหาการทุจริต โดยมีโครงการควบคู่กันคือ โครงการพักหนี้เกษตรกร และโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกร ออกมาในระยะเวลาใกล้เคียงกันด้วย

รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (2557-2566)

รัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เน้นการแก้ปัญหาความยากจนด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคม โดยหนึ่งในมาตรการสำคัญและเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลดึงข้อมูลคนจนเข้าระบบทำให้มีจำนวนตัวเลขผู้ที่มีรายได้น้อย โดยได้จัดทำโครงการ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือหลาย ๆ คน เรียก "บัตรคนจน" เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อย ในรูปแบบของเงินช่วยเหลือค่าครองชีพ ค่าน้ำ ค่าไฟ และสิทธิประโยชน์อื่น ๆ 

อย่างไรก็ดีในช่วงของการบริหารประเทศของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ นั้น ทั่วโลกต่างเจอผลกระทบจากโรคระบาดครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของโลก คือ การระบาดของโควิด-19 ทำให้รัฐบาลต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลแจกเงินลงไปยังผู้ที่ได้รับผลกระทบหลายครั้ง ผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการเราไม่ทิ้งกัน เพื่อมอบเงินเยียวยาให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาด ทั้งแรงงานภาคอิสระ เกษตรกร และผู้ประกอบการรายย่อย 

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี

 

อีกทั้งยังมีโครงการ "คนละครึ่ง" เพื่อให้ประชาชนมีเงินสำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน โดยรัฐบาลสนับสนุนค่าใช้จ่ายครึ่งหนึ่งของการซื้อสินค้าและบริการจากร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ยังมีโครงการอื่น ๆ เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เช่น โครงการพักหนี้เกษตรกร โครงการประกันรายได้เกษตรกร และ โครงการมารดาประชารัฐ ซึ่งเน้นการดูแลแม่และเด็กที่มีรายได้น้อย โดยให้ความช่วยเหลือเงินสดกับครอบครัวที่มีบุตรตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 ปี เพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กในช่วงวัยต้นด้วย

อย่างไรก็ตามเมื่อมาถึงยุคของ รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน การแก้ไขปัญหาความยากจนจะยังไม่ได้มีมาตรการใดออกมาอย่างชัดเจน ในช่วงเวลา 1 ปี จนเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองขึ้น และทำให้นายกฯเศรษฐา ต้องพ้นจากหน้าที่

จนเมื่อ รัฐบาลน.ส.แพทองธาร ชินวัตร เข้ามารับไม้ต่อ ก็ได้จัดตั้งคณะทำงานที่ปรึกษา เพื่อเสนอแนะแนวทางและมาตรการในการแก้ปัญหาความยากจน โดยประกาศว่าในช่วงเวลาที่เหลือของรัฐบาล อยากเห็นคนไทยพ้นความยากจนทั้งประเทศ

 

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

 

ล่าสุดรัฐบาลแพทองธารได้ผลักดันหนึ่งนโยบายออกมาแล้ว แม้จะไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาความยากจนโดยตรง แต่ก็ถือเป็นนโยบายส่วนหนึ่งในการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้มีรายได้น้อย หลังจากรัฐบาลตัดสินใจเปลี่ยนเงื่อนไขโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต มาเป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการแจกเงิน 10,000 บาท ให้กับกลุ่มเปราะบาง ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และคนพิการ รวม 14.5 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ได้มีเงินประคองชีวิตต่อไปได้ในช่วงนี้

แต่สุดท้ายแล้วในหนทางการแก้ความยากจนตามเป้าหมายใหญ่ นั่นคือ "คนไทยหายจนทั้งประเทศ" จะทำได้จริงตามที่ประกาศไว้หรือไม่ ไม่นานคงได้รู้คำตอบกัน!!