พลิกโฉม EEC ยกระดับเมืองอัจฉริยะ สกพอ. ผนึก จุฬาฯ-เบดร็อค เดินหน้า AI เต็มสูบ

24 ต.ค. 2567 | 06:22 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ต.ค. 2567 | 07:26 น.

สกพอ. ผนึกจุฬาฯและเบดร็อค เอ็มโอยู วางแผนประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI พลิกโฉมพื้นที่ EEC สู่เมืองอัจฉริยะด้วยระบบจัดการข้อมูลเมืองครบวงจร

บริษัท เบดร็อค อนาไลติกส์ จำกัด หรือ เบดร็อค ผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดการข้อมูลประกอบกับการให้บริการแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์ และข้อมูลเชิงพื้นที่ (Location Intelligence) หนึ่งในกลุ่ม บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ ARV ผนึกกำลัง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

พลิกโฉม EEC ยกระดับเมืองอัจฉริยะ สกพอ. ผนึก จุฬาฯ-เบดร็อค เดินหน้า AI เต็มสูบ

ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่อง การศึกษาแนวทางการพัฒนาระบบบริหารจัดการข้อมูลและการบริการนักลงทุน เพื่อยกระดับการนำเทคโนโลยีดิจิทัล เข้ามาใช้ในการวางแผนพัฒนาการบริหารจัดการพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก บูรณาการด้านข้อมูลเพื่อสนับสนุนการลงทุนให้แก่นักลงทุนได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยมีผู้บริหารจากทั้ง 3 สถานบันร่วมลงนาม พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่เข้าร่วมเป็นพยาน ณ อาคารวานิชเพลซ อารีย์ กรุงเทพฯ

ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการ อีอีซี กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นก้าวสำคัญเพื่อการศึกษาและจัดทำแผนการพัฒนาด้านดิจิทัลสำหรับเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยจะนำเทคโนโลยี AI เข้ามาครอบคลุมการดำเนินงานใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านธุรกิจ มุ่งเน้นการพัฒนาระบบการจัดการที่ดิน เช่น การขอใบอนุญาตต่าง ๆ

โดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยลดกระบวนการทำงานที่ซับซ้อน ด้านการบริการ มุ่งเน้นสร้างระบบแชทบอท เพื่อให้บริการข้อมูลตอบคำถามได้ทันท่วงทีรวมไปถึงการออกใบอนุญาตดิจิทัล เพื่อลดขั้นตอนการ

ขอใบอนุญาตต่าง ๆ ด้านการจัดการข้อมูล มุ่งเน้นการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ภายในและภายนอกองค์กร สร้างแพลตฟอร์มข้อมูลแบบเปิด ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าถึงข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาระบบด้านไอที เช่น คลาวด์คอมพิวติ้ง การจัดเก็บข้อมูลที่มีความปลอดภัย และรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ เป็นต้น

พลิกโฉม EEC ยกระดับเมืองอัจฉริยะ สกพอ. ผนึก จุฬาฯ-เบดร็อค เดินหน้า AI เต็มสูบ

​ทั้งนี้ ทั้งสามสถาบันได้ประสานความร่วมมือเพื่อการวางแผนพัฒนา สนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาต้นแบบแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับวิเคราะห์และบริหารจัดการเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ในพื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) ให้สามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลดังกล่าว บริหารจัดการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ บูรณาการรวบรวมข้อมูลต่างๆ เพื่อการตัดสินใจ อำนวยความสะดวกผู้ประกอบการ สนับสนุนให้เกิดการลงทุน และจะใช้เป็นต้นแบบไปยังเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษอื่น ๆ ในพื้นที่อีอีซี ต่อไป 

​ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สรายุทธ ทรัพย์สุข คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศไทยพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งของคณะที่ปรึกษาและคณะทำงาน เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ฉบับนี้ 

พลิกโฉม EEC ยกระดับเมืองอัจฉริยะ สกพอ. ผนึก จุฬาฯ-เบดร็อค เดินหน้า AI เต็มสูบ

ทั้งนี้ ทางคณะฯ จะเข้ามามีส่วนร่วมในการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลรวมไปถึงการสนับสนุนบุคลากรให้ร่วมศึกษา และวางแผนการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อจัดทำแผนการพัฒนาด้านดิจิทัลสำหรับพื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้  ข้อมูลและงานวิจัยที่ได้จากการดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลง จะถูกนำมาใช้ในการเรียนการสอน โดยทางจุฬาฯ จะเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ร่วมกันได้

พลิกโฉม EEC ยกระดับเมืองอัจฉริยะ สกพอ. ผนึก จุฬาฯ-เบดร็อค เดินหน้า AI เต็มสูบ

​ด้าน ดร.ธนา สราญเวทย์พันธุ์ กรรมการบริษัท เบดร็อค อนาไลติกส์ จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า ความร่วมมือฯ ในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ ด้วยการนำเทคโนโลยีมาเป็นตัวขับเคลื่อน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนในอนาคต

โดย เบดร็อค ได้นำเสนอแนวทางด้านการบริหารจัดการเมืองและการลงทุน ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลซึ่งเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลที่กระจัดกระจายในเขตพื้นที่อีอีซี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาไว้ในที่เดียวแบบครบวงจร ได้แก่

  • Smart Building Permit: ระบบขออนุญาตและควบคุมอาคารอัจฉริยะ ซึ่งช่วยในการตัดสินใจ และทำให้กระบวนการขออนุญาตก่อสร้างรวดเร็วและโปร่งใส
  • City Digital Data Platform: แพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมืองที่รวบรวมข้อมูลที่กระจัดกระจายในเขตพื้นที่อีอีซี ทำให้การค้นหา วิเคราะห์ และนำข้อมูลไปใช้เป็นไปอย่างรวดเร็ว ทำให้การบริหารจัดการเมืองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังช่วยให้นักลงทุนสามารถวิเคราะห์ศักยภาพของพื้นที่อีอีซี ได้อย่างครบถ้วน และทำให้การวางแผนธุรกิจเป็นไปได้อย่างแม่นยำอีกด้วย