KEY
POINTS
สถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ปริมาณผู้โดยสารและรายได้จากการบริหารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ลดลง ส่งผลถึง “โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนาบิน”
ที่ยังคงรอการแก้ไขร่างสัญญากับเอกชนผู้ชนะการประมูล คือ บริษัท เอเชีย เอราวัน จำกัด หรือซีพี ที่ปัจจุบันได้ข้อสรุปในหลักการแล้ว พร้อมเข็นร่างสัญญาดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการ กพอ.ไฟเขียวทันที
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) หรือ ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน
ปัจจุบันทราบว่าอยู่ในขั้นตอนรอการพิจารณารายละเอียดแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชน เนื่องจากโครงการนี้อยู่ภายใต้การรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)
จากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ส่งผลให้มีการแต่งตั้งประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ซึ่งน่าจะเป็น นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
“ดังนั้นเรื่องนี้จึงต้องรอให้มีการนัดประชุม กพอ.และพิจารณาแก้ไขสัญญาร่วมทุน จึงจะทราบรายละเอียดของการแก้ไขสัญญาร่วมทุน และมีการพิจารณาก่อนเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป” นายสุริยะ กล่าว
ทั้งนี้ได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับการเจรจาแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน คือ บริษัท เอเชีย เอราวัน จำกัด ที่มีเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
โดยทางเอกชนยังยืนยันก่อสร้างโครงสร้างร่วมในโครงการรถไฟไทย - จีน ช่วงบางซื่อ - ดอนเมือง
ขณะที่ภาครัฐยังรับเงื่อนไขการสร้างไปจ่ายไป โดยทางเอกชนขอให้ภาครัฐจ่ายค่าที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการ วงเงิน 119,000 ล้านบาท
โดยให้จ่ายเป็นงวดงานตามที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ จากเดิมภาครัฐต้องจ่ายหลังเอกชนก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จ
สำหรับเงื่อนไขที่เสนอให้รัฐเร่งจ่ายค่าร่วมลงทุนเร็วขึ้น เพื่อไม่ให้รัฐรับความเสี่ยงและการันตีได้ว่าเอกชนรับเงินอุดหนุนจากภาครัฐไปแล้วจะยังคงดำเนินการก่อสร้างโครงการต่อเนื่อง
จึงมีข้อตกลงร่วมกันให้เอกชนจัดหาหลักประกันทางการเงิน หรือแบงก์การันตี ในกรอบวงเงินประมาณ 1 แสนล้านบาท หลังจากนั้นจะทยอยคืนหลักประกันเมื่อเอกชนส่งมอบงานเป็นงวด
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า กระทรวงฯ ในฐานะที่กำกับดูแลการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งเป็นคู่สัญญาและดูแลโครงการไฮสปีดฯสายนี้ ยังมั่นใจว่าการเจรจาแก้ไขสัญญาร่วมทุนนั้นจะแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้
คาดว่าจะเห็นความชัดเจนหลังมีการประชุม กพอ. เนื่องจากจากผลการเจรจากับเอกชนก็มีข้อตกลงที่ทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกัน
ดังนั้นเชื่อว่าโครงการนี้จะเริ่มก่อสร้างได้ในเร็วๆ นี้ และในส่วนของ รฟท.ปัจจุบันมีความพร้อมส่งมอบพื้นที่แล้ว
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า พร้อมผลักดันโครงการไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบินให้เดินหน้าตามแผน โดยภายหลังเข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าการ รฟท. จะเร่งศึกษารายละเอียดของสัญญาร่วมลงทุน
“หากภาคเอกชนมีประเด็นที่ต้องการความช่วยเหลือ ก็พร้อมสนับสนุนเต็มที่ เพราะโครงการรถไฟไฮสปีดสายนี้มีความสำคัญต่อการคมนาคม และการท่องเที่ยวอย่างมาก” นายวีริศ กล่าว
รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ระบุว่า หากการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฉบับใหม่ผ่านการพิจารณาจากที่ประชุม กพอ.
และเสนอไปยัง ครม.พิจารณาแล้ว คาดว่าจะลงนามสัญญาฉบับใหม่ และสามารถส่งมอบพื้นที่ พร้อมออกหนังสืออนุญาตเข้าพื้นที่ (NTP) ให้เอกชนได้ภายในปีนี้
นอกจากนี้ในส่วนของ รฟท.พร้อมส่งมอบพื้นที่ตามสัญญา 100% หากโครงการก่อสร้างได้ภายในปีนี้ ก็จะใช้เวลาสร้างราว 5 ปีแล้วเสร็จ พร้อมเปิดให้บริการในปี 2572
เมกะโปรเจ็กต์ หน้า 8 ฉบับที่ 4,030 วันที่ 26 - 28 กันยายน พ.ศ. 2567