"กู้วิกฤตประกันสังคม" จ่อ เพิ่มลงทุนตปท.- ต่างด้าวเข้า ม.33 - ยืดเวลาเกษียณ

24 ต.ค. 2567 | 09:45 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ต.ค. 2567 | 11:47 น.

"พิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน" เร่งแก้วิกฤตกองทุนประกันสังคม เผยแผนเพิ่มผลตอบแทนผ่านการลงทุนในต่างประเทศ พร้อมดึงแรงงานต่างด้าวเข้าระบบเพิ่ม เล็งขยายอายุเกษียณเป็น 61 ปี

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงแนวทางการบริการจัดการกองทุนประกันสังคมในการเสวนาหัวข้อ "เพราะกองทุนเป็นของพวกเราทุกคน(SSO Sustainable for All) ว่า ปี 2567 มีจำนวนผู้ประกันตน มาตรา 33,39 และ 40 ที่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม มีอยู่ราว 24.82 ล้านคน เป็นผู้ประกันตนคนไทย 23.32 ล้านคน ผู้ประกันตนต่างชาติ 1.5 ล้านคน เงินกองทุนประมาณ 2.6 ล้านล้านบาท 

สำหรับปัญหาปัจจุบันที่กำลังถูกพูดถึงกันมาก คือ ม.40 ที่ประสบปัญหาเรื่องการรักษาพยาบาลค่อนข้างมากโดยต้องให้ไปใช้สิทธิจาก สปสช.ก่อน (บัตรทอง) หลังจากนั้นจึงจะเข้าไปดูแลหลังจากที่ออกจาก รพ.แล้ว จ่ายชดเชยให้ช่วงที่ว่างงาน หรือกรณีทุพพลภาพที่จะเข้าไปดูแลตลอดชีวิตรวมถึงเมื่อได้เสียชีวิตแล้ว

วันนี้มีการตั้งคำถามกันว่า แล้วผู้ประกันตนที่จ่ายเงินตาม ม.33 และ ม.39 การบริการไม่ดีเท่าบัตรทอง ซึ่งไม่เป็นความจริง โดยให้สิทธิความคุ้มครองอย่างเต็มที่โดยเฉพาะกรณีการรักษามะเร็งนั้นให้เป็นกรณีพิเศษเมื่อตรวจพบภายใน 15 วัน สามารถเข้ารับการรักษาหรือเข้าผ่าตัดได้เลยโดยโรคมะเร็งเป็น 1 ใน 5 โรคที่หากตรวจพบเจอ ทางประกันสังคมจะเข้าไปดูแลทันที

อย่างไรก็ดี เราไม่อยากให้เจอวันนี้ได้ทำงานเชิงรุกโดยการป้องกันโดยให้มีการตรวจสุขภาพเพื่อป้องกันล่วงหน้า เช่น การตรวจมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก เป็นต้น เมื่อตรวจพบก็จะทำให้สามารถรักษาได้ทันท่วงทีก่อนที่จะลุกลามได้ โดยให้เข้ารับการผ่าตัดกับโรงพยาบาลที่ทำคู่สัญญากับประกันสังคมภายใน 15 วัน ซึ่งมีกว่า 2,000 แห่งทั่วประเทศ

ส่วนกระแสข่าวว่า มีโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งเตรียมออกจากการเป็นคู่สัญญากับประกันสังคมเนื่องจากขาดทุนนั้น นายพิพัฒน์ กล่าวว่า มีการร้องเรียนเข้ามาซึ่งตนเองนั้น ได้มีการหารือกับปลัดกระทรวง และเลขาฯ ประกันสังคม โดยได้มีการประชุมเรื่องนี้ไปแล้วหลายครั้งและอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับงบประมาณส่วนนี้ซึ่งเป็นของประกันสังคมเองเพื่อบริการจัดการให้ได้ดีที่สุด

ทั้งนี้ เบื้องต้นมีแนวคิดที่จะทำให้ลักษณะของการซื้อประกันสุขภาพกับบริษัทประกันเอกชนแบบเหมาจ่ายเพื่อให้บริษัทฯ เป็นผู้รับผิดชอบในการดูแลรักษาพยาบาลผู้ประกันตน ซึ่งจะต้องมีการเสนอ ครม. เพื่อขอความเห็นชอบในการแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคมและเสนอสภาต่อไปเพื่อให้สามารถดำเนินการเรื่องนี้ได้

"วันนี้ระบบราชการต้องทันกับยุคเศรษฐกิจ หากยังเดินในระบบราชการทั้งหมด หากปรับตัวไม่ทัน ทำงานเหมือนที่ผ่าน ๆ มา เงินกองทุนประกันสังคมจะมากสุดในปี 2585 อยู่ที่ 6 ล้านล้านบาท แต่จะลดลงเรื่อย ๆ และจะเหลือ 0 บาทในปี 2597 หากไม่มีมาตรการปรับเปลี่ยน

นับแต่วันที่ผมเดินเข้ามานั่งที่กระทรวงนี้ผมตั้งเป้าไว้ว่า จากผลตอบแทนหรือดอกผลของกองทุนประกันสังคมซึ่งเมื่อปี 2566 อยู่ที่ประมาณ 2.5-2.6 ล้านล้านบาท ภายในปี 68 หากทำได้ให้สัก 5% แม้ว่าจะสามารถขยายอายุของประกันสังคมออกไปได้อีก 3-4 ปีเท่านั้นแต่ต้องทำประกอบกันอีกหลายเรื่อง" 

อย่างไรก็ดี ตามพ.ร.บ.ประกันสังคม เราสามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่ถูกกำหนดว่า ไม่เสี่ยง เช่น ซื้อพันธบัตร ฝากธนาคารของรัฐ 60% หรือ ลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงน้อย หรือ โอกาสเสี่ยง สัดส่วน คือ 40% แต่วันนี้เราใช้ไม่ถึงอยู่ที่ประมาณ 70 ต่อ 30 ซึ่งกฎหมายกำหนดว่า หากจะลงทุนในสินทรัพย์ที่มีโอกาสเสี่ยงต้องเรตติ้ง ทริปเปิล A เท่านั้น

บอร์ดประกันสังคมชุดใหม่มองว่า ควรจะไปลงทุนในต่างประเทศซึ่งได้เริ่มไปลงทุนในภาคพื้นยุโรป และอเมริกา วันนี้ได้ดอกผลอยู่ที่ประมาณ 6-7% เมื่อเฉลี่ยกับที่อยู่ประเทศไทยปี 2566 จะได้ดอกผลอยู่ที่ประมาณ 2.7-2.8 % ทั้งนี้ สำหรับการลงทุนในต่างประเทศช่วงที่ผ่านมานั้น โดยเฉพาะในอเมริกาจะมีผลตอบแทนเกือบ 20%" 

ในช่วงสิบปีนี้เรามีเวลาในการแก้ปัญหาซึ่งหากเราเริ่มต้นแก้ปัญหาตั้งแต่วันนี้หากทำได้ตามเป้าหมายผมเชื่อว่า เมื่อถึงปี 2585 เราจะไมได้บริการกองทุนฯเพียง 6 ล้านล้านบาทแต่เราอาจจะบริการกองทุน 7-8 ล้านล้าน รวมถึงการเดินหน้ามาตรการต่าง ๆ เช่น การขยายการเกษียณอายุจาก 55-60 ปี หรือ ขยับขึ้นไปอีกเป็น 61 ปีในปีถัดไปได้หรือไม่ เป็นต้น บุคคลกลุ่มนี้ยังมีความสามารถและมีสุขภาพที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ได้มีการหารือกันว่า จะนำแรงงานต่างด้าวเข้าระบบประกันสังคมให้อยู่ใน มาตรา 33 ซึ่งปัจจุบันมีการลงทะเบียนกับกรมการจัดหางานประมาณ 3 ล้านคนแต่อยู่ในระบบมาตรา 33 เพียง 1.5 ล้านคน โดยกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ต้องสูญเสียรายได้ในการรักษาแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมสูงถึง 2,000-3,000 ล้านบาทต่อปี ดังนั้น หากนำคนกลุ่มนี้เข้าสู่ระบบประกันสังคมมาตรา 33 เพื่อให้กองทุนประกันสังคมดูแลและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไป

อย่างไรก็ดี ในส่วนนี้ต้องมีการแก้กฎกระทรวงกรณีอาชีพที่ได้รับการยกเว้นที่ไปส่งผลกระทบกับการรักษาพยาบาลในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงการประสานการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น กระทรวงมหาดไทย ถ้าจะมีการประกาศให้มาขึ้นทะเบียนใหม่หลังจากนั้นเมื่อปิดการขึ้นทะเบียนแล้วจะต้องการป้องปราบและปราบปรามขั้นเด็ดขาด ดังนั้น จึงต้องช่วยกันแก้ทั้งระบบ เชื่อว่า ภายในปี 2567 -2568 จะแก้ปัญหาเรื่องนี้จบ  

สำหรับประเทศไทยเป็นสมาชิก ILO ยืนยันว่า ไทยปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่ ILO กำหนดไว้และจากการหารือกัน เห็นว่า ไทยตื่นตัวเร็วมากสำหรับระบบประกันสังคม เป็นเบอร์หนึ่งในอาเซียนที่ตื่นตัวเรื่องนี้ซึ่งในส่วนของการทำงานนั้นจะได้เข้าไปศึกษาประเทศที่ประสบความสำเร็จ เช่น สิงคโปร์ แคนาดา ญี่ปุ่น และ สวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น ที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการกองทุนประกันสังคมต่อไปเพื่อก้าวขึ้นเป็นผู้นำในอาเซียนซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากข้าราชการในกระทรวงแรงงาน รวมถึงต้องสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจด้วย