ศุลกากร เปิดศูนย์วัน สต็อป เซอร์วิส วางเป้า 3 ปี ค้าชายแดนโต 2 เท่า

25 ต.ค. 2567 | 10:04 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ต.ค. 2567 | 10:04 น.

ศุลกากร เปิดศูนย์วัน สต็อป เซอร์วิส ด่านหนองคาย ติดต่อครบจบที่เดียว แห่งแรกในไทย วางเป้า 3 ปี ค้าชายแดนโต 2 เท่า

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมศุลกากรได้ร่วมมือกัน หน่วนงานพันธมิตร เปิดศูนย์บริการค้าชายแดนเบ็ดเสร็จ (วัน สต๊อป เซอร์วิส) ณ สำนักงานศุลกากรหนองคาย เป็นแห่งแรกของประเทศแล้ว ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 7 พ.ค.67 

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

โดยมีการบูรณาการร่วมกับ 8 หน่วยงาน ในการช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าชายแดน และค้าผ่านแดน และโลจิสติกส์ให้แก่ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่ ประกอบด้วย 

  • สำนักงานศุลกากรหนองคาย
  • สำนักงานพาณิชย์จังหวัดหนองคาย
  • สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดหนองคาย
  • สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่หนองคาย
  • ด่านตรวจพืชหนองคาย
  • ด่านกักสัตว์หนองคาย
  • ศูนย์บริหารจัดการด่าน
  • ตรวจประมงเขต 2
  • ด่านอาหารและยาหนองคาย 

“วัน สต๊อป เซอร์วิส หนองคาย จะเป็นการนำร่องอำนวยความสะดวก  ทางการค้า การนำเข้า ส่งออก พร้อมทั้งจะลดกฎหมายและขั้นตอนที่ไม่จำเป็น เพื่อไม่ให้ภาครัฐเป็นอุปสรรคขัดขวางการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจะช่วยส่งผลดีต่อการค้าชายแดน ให้เติบโตเป็น 2 เท่าใน 3 ปี”

นอกจากนี้ กรมศุลฯ ยังได้ปรับปรุงแพลตฟอร์มกลางการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว หรือ ไทยแลนด์ เนชันแนล ซิงเกิล วินโดว์ โดยได้นำร่องกลุ่มสินค้าพืชเกษตร 673 พิกัดรายการสินค้า ด้วยการเปิดให้บริการยื่นคำขอเพื่อขอรับใบอนุญาต ใบรับรองประกอบการนำเข้าสินค้าพืชเกษตร ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.67 ที่ผ่านมา 

ซึ่งรองรับการขอรับใบอนุญาต ใบรับรองสินค้าเกษตร ที่มีการควบคุมร่วมกันระหว่างกรมวิชาการเกษตร และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา 415 รายการ โดยผู้นำเข้าสินค้าสามารถยื่นคำขอและส่งข้อมูลเพียงครั้งเดียว 

ขณะเดียวกัน กรมศุลฯ ยังได้พัฒนาระบบ ไทยแลนด์ เทรด เจอร์นีย์ เพื่อสนับสนุนการทำงานของศูนย์บริการค้าชายแดนเบ็ดเสร็จ และช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจด้านการนำเข้า - ส่งออก ในด้านข้อมูลที่สำคัญรวมถึงช่องทางการติดต่อกับระบบสารสนเทศ 

ของหน่วยงานภาครัฐ 

“ผู้ประกอบการสามารถขอใบอนุญาตหรือใบรับรองผ่านระบบได้โดยตรง พร้อมเข้าถึงข้อมูล ขั้นตอน กฎหมาย และสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรอย่างครบถ้วน ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการใหม่ ได้ทราบข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน ทั้งระเบียบ กฎหมาย 

การขออนุญาตการนำเข้า - ส่งออก ต่าง ๆ”

ทั้งนี้ ได้นำร่องส่งออกสินค้าประเภทผลไม้ 22 ชนิด และการนำเข้าสินค้าประเภท ผัก ผลไม้ วัตถุอันตราย ปุ๋ย เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ 20 รายการ

นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวเสริมว่า เพื่อลดภาระการบันทึกข้อมูลที่ซ้ำซ้อน และสามารถส่งข้อมูลให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ในครั้งเดียว จึงได้มีการพัฒนาการให้บริการในรูปแบบ ซิงเกิล ซับมิสชัน โดยได้นำร่องกับการนำเข้าสินค้าพืชเกษตรที่มีการควบคุมมากกว่าหนึ่งหน่วยงาน เช่น สินค้าพืชที่เป็นวัตถุดิบ อาหารสัตว์ ส้มแมนดาริน มันสำปะหลัง กระเทียม ลิ้นจี่ ทุเรียนแช่แข็ง ลำไย เกี่ยวข้องกับ 5 หน่วยงาน ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กรมการค้าต่างประเทศ และ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยจะช่วยลดระยะเวลาในการกรอกข้อมูลลงได้มากที่สุดถึง 60%