"BOI" ลั่นปี 70 ยอดขอส่งเสริมลงทุนพุ่ง 3 ล้านล. ชี้ยุทธศาสตร์ 5 ปีมุ่งศก.ใหม่

28 ต.ค. 2567 | 00:39 น.

"BOI" ลั่นปี 70 ยอดขอส่งเสริมลงทุนพุ่ง 3 ล้านล. ชี้ยุทธศาสตร์ 5 ปีมุ่งศก.ใหม่ เผยปี 66 มีคำขอลงทุน 8.4 แสนล้าน ปี 67 คาดอยู่ที่ 9 แสนล้าน ระบุอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ดาต้าเซ็นเตอร์โตต่อเนื่อง

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (BOI) เปิดเผยว่า ยุทธศาตร์บีโอไอช่วง 5 ปี ตั้งแต่ 2567-70 มุ่งเศรษฐกิจใหม่ กำหนดเม็ดเงินขอรับการส่งเสริมการลงทุน 3 ล้านล้านบาท ปี 2566 คำขอลงทุน 8.4 แสนล้านบาท 

ส่วนปี 67 คาดว่าจะอยู่ที่ 9 แสนล้านบาท ขณะที่ปี 68 คาดว่าจะเติบโตเช่นกัน และเชื่อว่าถึงปี 70 คำขอส่งเสริมลงทุนจะแตะ 3 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ ยอดคำขอรับการลงทุนจากต่างชาติยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสำคัญอย่าง เซมิคอนดักเตอร์และแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ ยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน และพลังงานหมุนเวียน เห็นได้จากช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค. - ก.ย. 67) ตัวเลขคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนมีแนวโน้มเพิ่มต่อเนื่อง จำนวนโครงการ 2,195 โครงการ เพิ่มขึ้น 46% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 
 

มูลค่าเงินลงทุนรวม 722,528 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเป็นยอดลงทุนที่สูงสุดในรอบ 10 ปี สะท้อนถึงศักยภาพและพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดีของประเทศไทย รวมถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อนโยบายรัฐบาลและมาตรการสนับสนุนของรัฐ และการดึงดูดการลงทุนเชิงรุกของรัฐบาลและบีโอไอ จึงมั่นใจว่าถึงสิ้นปีคำขอลงทุนจะแตะระดับ 900,000 ล้านบาท

"BOI" ลั่นปี 70 ยอดขอส่งเสริมลงทุนพุ่ง 3 ล้านล. ชี้ยุทธศาสตร์ 5 ปีมุ่งศก.ใหม่

นายนฤตม์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันไทยเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Printed Circuit Board: PCB) อันดับ 1 ของอาเซียน และติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก โดยเดือนมกราคม 2566 จนถึงเดือนกันยายน 2567 มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม PCB จำนวน 95 โครงการ เงินลงทุนสูงถึง 162,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงปี 2564 – 2565 ที่มีมูลค่าคำขอเฉลี่ย 15,000 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น 

ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของผู้ผลิต PCB ชั้นนำจากจีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น คาดว่าจะเกิดการจ้างงานในระยะแรกกว่า 20,000 ตำแหน่ง ใช้วัตถุดิบในประเทศมากกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี และมีการส่งออกผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมนี้เพิ่มขึ้น 7 แสนล้านบาทต่อปี
 

สำหรับบริษัท เม็กเท็ค แมนูแฟ็คเจอริ่ง คอร์ปอเรชั่น(ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทในเครือ NOK Corporation สัญชาติญี่ปุ่น ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่ม PCB ที่มียอดจำหน่ายสูงสุดเป็นอันดับ 1 ในญี่ปุ่น และอันดับ 6 ของโลก บริษัทมีความเชี่ยวชาญในการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ชนิดยืดหยุ่น (Flexible Printed Circuit Board: FPCB และ FPCBA) โดยเม็กเท็คเพิ่งได้รับการส่งเสริมการลงทุน เป็นการขยายกำลังการผลิต FPCB และ FPCBA รองรับคำสั่งซื้อในกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น มีเงินลงทุน 920 ล้านบาท จ้างงานบุคลากรไทยเพิ่ม 260 คน จากปัจจุบันจ้างงานกว่า 3,000 คน และใช้วัตถุดิบในประเทศเพิ่มอีกกว่า 2,500 ล้านบาทต่อปี

นายสมชาย อัศวรุ่งแสงกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เม็กเท็ค แมนูแฟ็คเจอริ่ง คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ชนิด FPCB ระดับโลกจากญี่ปุ่น กล่าวว่า เม็กเท็คมีแต้มต่อในการลงทุนอย่างมากจากการได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอในหลายโครงการ มูลค่ารวมกว่า 5,800 ล้านบาท โดยโครงการส่วนใหญ่เป็นการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เช่น FPCB, FPCBA เป็นต้น 

อย่างไรก็ดี คาดว่าธุรกิจกลุ่ม PCB ในไทยจะยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง บริษัทยังมีแผนขยายการลงทุนในอีก 3 ปีข้างหน้า เฉลี่ย 300 ล้านบาทต่อปี และการลงทุนเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของโรงงานอีก 200 ล้านบาทต่อปี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของเม็กเท็คให้ก้าวสู่การเป็นโรงงานอัจฉริยะ 

"ต้องการให้ภาครัฐโดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดูแลค่าเงินบาทไม่ให้สวิงมากเกินไป เฉพาะปีนี้ค่าเงินบาทไทยแข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่งถึง 10% กระทบต่อผู้ส่งออก รายได้ จึงต้องการให้ดูแล เพราะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการแข่งขันของผู้ส่งออกไทย"