กระทรวงอุตฯอัดงบ 10 ล้าน ยกระดับ "SMEs" สู่ยุคดิจิทัล-เพิ่มรายได้ยั่งยืน

28 ต.ค. 2567 | 07:28 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ต.ค. 2567 | 07:28 น.

กระทรวงอุตฯอัดงบ 10 ล้าน ยกระดับ "SMEs" สู่ยุคดิจิทัล-เพิ่มรายได้ยั่งยืน วางเป้าช่วยเอสเอ็มอี 100 ราย ในสาขาอุตสาหกรรม S-Curve ดิจิทัล เกษตรแปรรูป อาหารแปรรูป แฟชั่นและไลฟ์สไตล์ 

นางสาวณิรดา วิสุทธิชาติธาดา ผู้ช่วยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการทุ่มเงินกว่า 10 ล้านบาท  เพื่อผลักดันเอสเอ็มอี (SMEs) ไทย กว่า 200 ราย ให้ก้าวสู่ยุคดิจิทัลและความยั่งยืน

โดยมีเป้าหมายหลักคือ การเพิ่มรายได้ ลดต้นทุน และรักษาสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย พัฒนาธุรกิจด้วยดิจิทัลสู่การเปลี่ยนแปลงวิถีใหม่ (Digital Transformation) มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการทางธุรกิจ ตั้งเป้าหมายช่วยเหลือ SMEs 100 ราย ในสาขาอุตสาหกรรม S-Curve ดิจิทัล เกษตรแปรรูป อาหารแปรรูป แฟชั่นและไลฟ์สไตล์ 

รวมถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยมีกิจกรรมหลัก ได้แก่ 1.ให้คำปรึกษาเชิงลึก แนะนำการปรับปรุงและเตรียมความพร้อมก่อนนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ เพื่อเพิ่มรายได้หรือลดต้นทุน 2.สนับสนุนด้านเงินทุน ให้คำปรึกษาเพื่อยื่นขอสินเชื่อจากกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ หรือแหล่งเงินทุนอื่นๆ 
 

3.พัฒนาบุคลากร จัดฝึกอบรมให้ความรู้เจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรม เกี่ยวกับ Digital Transformation โดยโครงการนี้คาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมรวมกว่า 54 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนความคุ้มค่าต่อต้นทุน (Cost Benefit Ratio) ถึง 8.4 เท่า โดยโครงการนี้ใช้งบประมาณ 5 ล้านบาท ดำเนินการทั่วประเทศ ตั้งแต่ ตุลาคม 2567 - มีนาคม 2568

กระทรวงอุตฯอัดงบ 10 ล้าน ยกระดับ "SMEs" สู่ยุคดิจิทัล-เพิ่มรายได้ยั่งยืน

โครงการยกระดับประสิทธิภาพการผลิตอย่างยั่งยืน (Sustainable Productivity) มุ่งเน้นปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการใช้พลังงาน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยตั้งเป้าหมายช่วยเหลือ SME 100 ราย ในสาขาอุตสาหกรรม S-Curve ดิจิทัล เกษตรแปรรูป อาหารแปรรูป แฟชั่นและไลฟ์สไตล์  และอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีการใช้พลังงานสูง 

ซึ่งมีกิจกรรมหลัก 4 ด้าน คือ 1.ให้คำปรึกษาเชิงลึก แนะนำการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ยั่งยืน 2.สนับสนุนด้านเงินทุน ช่วยเหลือ SME ให้เข้าถึงสินเชื่อ 3.พัฒนาบุคลากร อบรมพนักงานในสถานประกอบการ และ 4.พัฒนาเจ้าหน้าที่ อบรมเจ้าหน้าที่กระทรวงฯ ให้เป็น Green Productivity Specialist โครงการนี้ใช้งบประมาณ 5 ล้านบาท ดำเนินการทั่วประเทศ ตั้งแต่ ตุลาคม 2567 - มีนาคม 2568 คาดว่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและทรัพยากร เพิ่มรายได้ และขยายโอกาสทางการค้า คิดเป็นอัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุน (Benefit to Cost Ratio) 1.6 เท่า คาดว่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและทรัพยากร ได้ 5,000,000 บาท เพิ่มรายได้และส่วนแบ่งการตลาด 2,000,000 บาท ขยายโอกาสการค้าและการส่งออก 1,000,000 บาท 
 

"ทั้ง 2 โครงการ จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 ถึง มีนาคม 2568"

นางสาวณิรดา กล่าวอีกว่า SMEs ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 35% ของ GDP ประเทศ และมีสัดส่วนการจ้างงานสูงถึง 72% แต่ในยุคที่โลกหมุนเร็วด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล SME ไทยต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการปรับตัวให้ทันต่อเทรนด์ การเข้าถึงแหล่งทุน และการพัฒนาธุรกิจให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้มี 2 โครงการผ่านกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ เพื่อสนับสนุนเอสเอ็มอี