"กระทรวงอุตฯ" เคาะมาตรการช่วยชาวไร่ตัดอ้อยสด ลดฝุ่น "PM 2.5" ปี 67/68

30 ต.ค. 2567 | 05:01 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ต.ค. 2567 | 05:39 น.

"กระทรวงอุตฯ" เคาะมาตรการช่วยชาวไร่ตัดอ้อยสด ลดฝุ่น "PM 2.5" ปี 67/68 รุกเพิ่มรายได้จากใบและยอดอ้อย การให้เงินสนับสนุนการรับซื้อใบและยอดอ้อย เพื่อเป็นวัตถุดิบด้านพลังงานป้อนโรงงานผลิตไฟฟ้าชีวมวล

นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้เสนอมาตรการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 โดยที่ประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) มีมติเห็นชอบตามที่ สอน. เสนอ โดยมีมาตรการสำคัญ 2 มาตรการ ประกอบด้วย 

มาตรการสร้างแรงจูงใจแก่ชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยสด 100% ซึ่งเป็นมาตรการต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา 

มาตรการเพิ่มรายได้จากใบและยอดอ้อย การให้เงินสนับสนุนการรับซื้อใบและยอดอ้อย เพื่อเป็นวัตถุดิบด้านพลังงานป้อนโรงงานผลิตไฟฟ้าชีวมวล เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเห็นคุณค่าและประโยชน์ของใบและยอดอ้อย ซึ่งจะช่วยลดการเผาอ้อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดสาเหตุของการเกิดฝุ่น PM 2.5 ลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสุขภาพอนามัยของประชาชน และเป็นการสร้างบรรยากาศที่ดีในการขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมทั้งยกระดับผลผลิตของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่
 

ในส่วนของมาตรการสร้างแรงจูงใจแก่ชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยสด 100% เป็นมาตรการต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยจะมีการจ่ายเงินสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อย ในอัตรา 69 บาทต่อตัน สำหรับมาตรการเพิ่มรายได้จากใบและยอดอ้อยเป็นมาตรการใหม่ โดยจะเพิ่มราคารับซื้อใบและยอดอ้อยอีกตันละ 300 บาท จากราคาตลาดปัจจุบันที่มีการรับซื้ออยู่ที่ตันละ 900 บาท ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้เพิ่มให้กับผู้เก็บเกี่ยวอ้อยสดที่มีการขายใบและยอดอ้อยได้อีก 51 บาทต่อตันอ้อย

"กระทรวงอุตฯ" เคาะมาตรการช่วยช่วยช่วไร่ตัดอ้อยสด ลดฝุ่น "PM 2.5" ปี 67/68

ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวจะเป็นการสร้างแรงจูงใจในการทำให้ใบและยอดอ้อยมีมูลค่าเพิ่มและถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างถูกวิธี ขณะเดียวกันจะเป็นการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทยยกระดับการดูแล รักษาคุณภาพด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นการลดฝุ่น PM 2.5 และร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมในการก้าวสู่การเป็น Zero Wastes

จากข้อมูลการรวบรวมปริมาณใบและยอดอ้อยต่อขนาดพื้นที่ 1 ไร่ ผลผลิตอ้อยเฉลี่ย 10 ตัน จะสามารถรวบรวมใบและยอดอ้อยเพื่อขายได้ 1.7 ตัน (ชาวไร่อ้อยที่เป็นผู้รับขาย และผู้ประกอบการโรงงานผลิตไฟฟ้าชีวมวลที่เป็นผู้รับซื้อ) โดยการเพิ่มราคาขายแก่ชาวไร่อ้อยในอัตราตันละ 200 บาท และเพิ่มให้แก่ผู้รับซื้อในอัตราตันละ 100 บาท โดยชาวไร่อ้อยจะยังคงมีรายได้เพิ่มในส่วนนี้อีก 34 บาทต่อตันอ้อย 
 

เพื่อเป็นการกระตุ้นกลไกตลาดให้ขับเคลื่อนโดยเร็ว และยังเป็นการเพิ่มราคารับซื้อใบและยอดอ้อยอีกทางหนึ่ง โดยคาดว่านโยบายดังกล่าวนอกจากจะเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวไร่อ้อยจากการเพิ่มรายได้จากซากวัตถุดิบทางการเกษตรแล้ว ยังเป็นการนำร่องให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นเกษตรอุตสาหกรรมที่ไม่สร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากฝุ่น PM 2.5 บนพื้นฐานของความยั่งยืนอีกด้วย

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม จะออกนโยบายเพื่อขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลเพิ่มเติมทั้งในรูปแบบที่เป็นมาตรการสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตร (In Kind) และในรูปแบบเงินช่วยเหลือ (In Cash) เพื่อสนับสนุนชาวไร่อ้อยที่เก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดีส่งโรงงานให้มีรายได้เพิ่มและเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการลงทุนเพื่อเก็บเกี่ยวอ้อยสดสำหรับฤดูการผลิตปี 2567/2568 ต่อไป