สัญญาณเตือนศก.ไทย บาทอ่อนแต่เงินเฟ้อต่ำ ต้องใช้ยาแรงปลุกกำลังซื้อ

30 ต.ค. 2567 | 07:45 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ต.ค. 2567 | 07:53 น.

บทความพิเศษ ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างฯ ผ่าสัญญาณอันตราย ค่าเงินบาทอ่อน แต่เงินเฟ้อต่ำ บ่งบอกเศรษฐกิจไทย ต้องใช้ยาแรงแก้กำลังซื้ออ่อนแรง

ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยบทความบาทอ่อนแต่เงินเฟ้อต่ำ บ่งบอกเศรษฐกิจไทยต้องใช้ยาแรงแก้กำลังซื้ออ่อนแรง มีเนื้อหาที่น่าสนใจระบุว่า ช่วงเดือนมกราคมถึงกันยายน 2567 หรือ 9 เดือนที่ผ่านมา อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเฉลี่ยอัตรา 36.069 บาทต่อดอลลาร์ หรืออ่อนค่า 4.46 - 4.70% 

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การส่งออกของไทยได้อานิสงค์ขยายตัวได้ดีในเชิงดอลลาร์สหรัฐขยายตัวได้ 3.87% และในเชิงเงินบาทขยายตัวได้ถึง 8.57% ทำให้นักการเมือง-นักวิชาการหรือภาคเอกชนบางแห่งก่อนหน้าโทษว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่ดูแลเงินบาทอาจทำให้การส่งออกหดตัว ต่างพากันปิดปากเงียบ เนื่องจากที่ผ่านมาบาทไม่ได้แข็งค่า 

แต่กลับอ่อนค่าหนุนส่งออกขยายตัวได้ดีกว่าปีที่ผ่านมาซึ่งหดตัว ประกอบกับกำลังซื้อของสหรัฐฯ และคู่ค้าขยายตัวได้ดียกเว้นจีนที่เศรษฐกิจออกอาการไม่ดี

ดร.ธนิต กล่าวว่า เงินบาทที่อ่อนค่าหนุนให้การส่งออกภาคเกษตรกรรมในเชิงเหรียญสหรัฐขยายตัวได้ถึง 7.43% สูงสุดในรอบ 3 ปี โดยเฉพาะการส่งออกข้าวและยางพาราขยายตัวถึง 39% สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวได้ 3.76% คลัสเตอร์ที่หดตัวและน่าเป็นห่วง เช่น รถยนต์และชิ้นส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า และ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นต้น

 

ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

 

อย่างไรก็ดีแนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทกลับมาแข็งค่าช่วงตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน 2567 โดยแข็งค่ามากสุดที่ 32.25 บาทต่อดอลลาร์ และล่าสุดเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2567) เงินบาทอัตราอยู่ที่ 33.74 บาทต่อดอลลาร์ 

ในทางกลับกันเงินบาทช่วงที่ผ่านมาอยู่โซนอ่อนค่า มีผลทำให้ราคาสินค้านำเข้าเมื่อแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาทโดยเฉลี่ยสูงขึ้นหรือแพงขึ้น 4.70% เช่น ราคาน้ำมัน ช่วงปลายปีที่แล้วกับปลายเดือนตุลาคม 2567 โดยราคามันโลกลดลงเฉลี่ยประมาณ 2.35% แต่เงินบาทที่อ่อนค่าทำให้ราคาน้ำมันนำเข้าสูงขึ้น 4.05% ส่วนราคานำเข้าวัตถุดิบ-สินค้ากึ่งสำเร็จรูปในเชิงเงินบาทสูงขึ้น 4.95% และสินค้านำเข้าประเภทอุปโภค-บริโภคแพงขึ้น 4.53% 

ทั้งนี้อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่อ่อนค่า มีความผกผันไปตามความไม่เสถียรของอัตราค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐ เงินบาทของไทยมีความเชื่อมั่นที่สูงกว่า เมื่อเทียบกับอัตราแลกเปลี่ยนของสกุลในภูมิภาค ส่วนหนึ่งจากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ (สุทธิ) เดือนกันยายน 2567 มีจำนวน 269,032.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สามารถนำเข้าโดยไม่ส่งออกได้ถึง 10.5 เดือน

ดร.ธนิต กล่าวว่า ประเด็นที่น่าสนใจคือเงินบาทที่อ่อนค่าในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาจนทำให้ราคาสินค้านำเข้าทั้งอุปโภค-บริโภค วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 4.70% โดยทั่วไปเงินเฟ้อควรจะพุ่งสูงตาม แต่เงินเฟ้อทั่วไปไตรมาส 3 เฉลี่ยอยู่ที่ 0.6% โดยค่าเฉลี่ยช่วงที่ผ่านมาอยู่ระดับต่ำสุด 0.20% จน ธปท. ยอมรับว่าหลุดกรอบต่ำกว่าเป้าหมายคาดว่าทั้งปีเงินเฟ้อคงไม่ถึง 1.0% 

“นัยนี้บ่งบอกถึงสถานภาพเศรษฐกิจไทยที่กำลังซื้ออ่อนแรง แม้แต่เงินกระตุ้นเศรษฐกิจที่ปรับเปลี่ยนจากเงินดิจิทัลวอลเล็ตจำนวน 1.44 แสนล้านบาท แต่ดูเหมือนว่าการบริโภคยังนิ่ง เพราะเงินส่วนหนึ่งชาวบ้านกลุ่มเปราะบางนำไปใช้หนี้หรือนำไปจับจ่ายใช้สอยตามปกติ” ดร.ธนิต ระบุ

 

สัญญาณเตือนศก.ไทย บาทอ่อนแต่เงินเฟ้อต่ำ ต้องใช้ยาแรงปลุกกำลังซื้อ

 

อย่างไรก็ตามกำลังซื้อที่อ่อนแอ การลดดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ลง 0.25% ซึ่งเป็นแนวโน้มของโลก อาจส่งผลได้น้อยในการเพิ่มการจับจ่ายใช้สอย กรณีของไทยประชาชนส่วนใหญ่มีภาระผ่อนบ้าน-ผ่อนรถ ซึ่งดอกเบี้ยเป็นอัตราคงที่หรือ Fixed Rate ส่วนดอกเบี้ยบัตรเครดิตสูงถึง 16% ขณะที่ชาวบ้านหนี้ส่วนบุคคลดอกเบี้ยของ Non-Bank สูงถึง 28% และหนี้นอกระบบที่ดอกเบี้ยมหาโหด 

ปัจจุบันปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทย ยกระดับเป็นภัยคุกคามการเติบโตทางเศรษฐกิจ อีกทั้งหนี้เสีย หรือ NPL จำนวน 1.2 ล้านล้านบาท ยังไม่รวมหนี้ที่กำลังเสียที่ต้องเฝ้าตามใกล้ชิด (SM) มากกว่า 6 แสนล้านบาท มีผลทำให้รายได้สุทธิ หรือ Net Income ลดลง บั่นทอนกำลังซื้อของประชาชน ส่งผลทำให้เงินเฟ้ออยู่ในเกณฑ์ต่ำเกือบแตะ “ระดับศูนย์”  

ดร.ธนิต ยอมรับว่า ทั้งหมดเป็นปัญหาทางเชิงโครงสร้างคงไม่ได้แก้ง่าย ๆ เพราะอัดฉีดแจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเท่าใดไม่สามารถฟื้นเศรษฐกิจ ซึ่งปีนี้ ธปท. ประเมินอาจขยายตัวได้ 2.7% และปีหน้าคาดว่า 2.9% ขณะที่ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ให้ไปถึง 5% 

ทั้งนี้ถือเป็นความท้าทายค่อนข้างสูง การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงินอย่างเดียวคงไม่พอ เนื่องจากเงินที่รัฐบาลแจกให้ส่วนใหญ่จะหายไปกับการจ่ายหนี้และดอกเบี้ย โดยเฉพาะหนี้นอกระบบที่ต้องจ่ายทั้งต้นและดอกเบี้ย 

นอกจากนี้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจถูกจ่ายใช้สอยผ่านร้านสะดวกซื้อประเภท “Convenience Store” เป็นหมื่นแห่งกระจายทั่วประเทศ ซึ่งเงินจะถูกดูดไปเข้ากระเป๋าเจ้าสัวเพียงไม่กี่ราย อีกทั้งเงินกระตุ้นเศรษฐกิจแบบไม่จำกัดแหล่งซื้อจะถูกดูดซับจากสินค้าราคาถูกจากจีน โดยเฉพาะการซื้อสินค้าออนไลน์ เงินเหล่านี้จะหายไปจากระบบหมุนเวียนเศรษฐกิจ จำเป็นที่รัฐบาลจะต้องออกมาตรการและยาแรงมาแก้ปัญหา ซึ่งยอมรับว่าคงไม่ได้แก้ง่าย ๆ