ส่งออกเดือน ก.ย. โต 1.1% คาดทั้งปีโตตามเป้า 2%

28 ต.ค. 2567 | 03:41 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ต.ค. 2567 | 05:18 น.

สนค. แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศ เผยตัวเลขส่งออกไทย เดือนกันยายน 2567 ขยายมูลค่า 25,983.2 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 1.1% ขณะที่ตัวเลขส่งออก 9 เดือนแรกของปี มูลค่า 223,176 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 3.9% คาดทั้งปีโต 2%

วันที่ 28 ตุลาคม 2567 นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาตร์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนกันยายน ว่าการส่งออกของไทยมีมูลค่า 25,983.2 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 1.1%

ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ส่วนการนำเข้ามูลค่า 25,589 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 9.9% ดุลการค้าเกินดุล 394.2 ล้านดอลลาร์ หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย การส่งออกขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ขยายตัวในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหารที่ได้รับแรงหนุนจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในตลาดโลก รวมทั้งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เติบโตต่อเนื่องตามวัฏจักร ประกอบกับสินค้ามีคุณภาพและราคาที่แข่งขันได้ 

 

ส่งออกเดือน ก.ย. โต 1.1% คาดทั้งปีโตตามเป้า 2%

 

ขณะที่เศรษฐกิจในตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป เริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์เงินเฟ้อที่คลี่คลาย ส่งผลให้อุปสงค์ในตลาดเหล่านี้เพิ่มขึ้น รวมถึงการปรับตัวลดลงของค่าระวางเรือในเส้นทางการค้าเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคา

สำหรับภาพรวม 9 เดือนแรกของปี 2567 มีมูลค่า 223,176 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 3.9% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 การนำเข้า มีมูลค่า 229,132.8 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 5.5% ดุลการค้า 9 เดือนแรกของปี 2567 ขาดดุล 5,956.8 ล้านดอลลาร์

ขณะที่ มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท เดือนกันยายน 2567 การส่งออก มีมูลค่า 889,074 ล้านบาท หดตัว 0.8% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 886,336 ล้านบาท ขยายตัว 7.8% ดุลการค้า เกินดุล 2,738 ล้านบาท
 

ส่งออกเดือน ก.ย. โต 1.1% คาดทั้งปีโตตามเป้า 2%

 

นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 3.5% ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน โดยสินค้าเกษตร ขยายตัว 0.2% และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 7.8% โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ 

  • ข้าว ขยายตัว 15.2% ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน
  • ยางพารา ขยายตัว 47.4% ขยายตัวต่อเนื่อง 11 เดือน 
  • อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 15.6% ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน
  • อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัว 21.5% ขยายตัวต่อเนื่อง 12 เดือน 
  • ไก่แปรรูป ขยายตัว 0.8% ขยายตัวต่อเนื่อง 7 เดือน
  • ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ขยายตัว 27.4% ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง หดตัว 20.9% กลับมาหดตัวหลังจากที่ขยายตัวในเดือนก่อนหน้า ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัว 29.2% หดตัวต่อเนื่อง 11 เดือน น้ำตาลทราย หดตัว 10.4% หดตัวต่อเนื่อง 9 เดือน ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง หดตัว 3% หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน ผักกระป๋องและผักแปรรูป หดตัว 6.4% หดตัวต่อเนื่อง 8 เดือน

นายพูนพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวโน้มการส่งออกในปี 2567 กระทรวงพาณิชย์คาดว่า การส่งออกในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 จะยังคงเติบโตต่อเนื่อง แม้เผชิญกับความท้าทายหลายประการ เช่น การเลือกตั้งในสหรัฐฯ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ การแข็งค่าของเงินบาท ปัญหาอุทกภัยที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตสินค้าเกษตร และการเปลี่ยนแปลงนโยบายการส่งออกข้าวของอินเดียที่อาจกระทบการส่งออก
ข้าวไทย เป็นต้น 

 

ส่งออกเดือน ก.ย. โต 1.1% คาดทั้งปีโตตามเป้า 2%

 

อย่างไรก็ตาม การส่งออกทั้งปี 2567 คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 2% ซึ่งเป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญจากแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น ขณะที่ความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารไทยมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลและฤดูกาลท่องเที่ยวปลายปี 

"โดยหาก 3 เดือนสุดท้าย ถ้าส่งออกได้เฉลี่ยเดือนละ 22,533 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกทั้งปีจะทำได้ 2% และมูลค่าทั้งปีจะอยู่ที่ 290,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำนิวไฮมูลค่าการส่งออกอีกครั้ง หลังจากเคยทำไว้แล้วเมื่อปี 2566 ที่ 287,000 ล้านเหรียญสหรัฐ" นายพูนพงษ์ ระบุ

นอกจากนี้ แนวโน้มการลดลงของอัตราค่าระวางเรือขนส่งสินค้า จะช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ส่งออกไทย ทำให้สินค้าไทยมีโอกาสเข้าถึงตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ช่วงไตรมาส 4 เป็นช่วงที่ผู้ประกอบการรับออเดอร์ ทำการผลิต และส่งมอบ หากตัวเลขการส่งออกทำได้เฉลี่ยเท่ากับปีที่แล้ว การส่งออกปีนี้จะทำได้ไม่ต่ำกว่า 2% แน่นอน และตัวเลขการส่งออก ก็จะทำนิวไฮ โดยจะนิวไฮทั้งเงินเหรียญสหรัฐ และเงินบาท โดยเงินบาทใช้สมมติฐานที่ 33 บาทต่อดอลลาร์ ก็จะทำตัวเลขทั้งปีอยู่ที่ 10 ล้านล้านบาท ส่วนปัญหาการส่งออก มองว่า ค่าเงินบาทที่อยู่ที่ 33.5-33.8 บาทต่อดอลลาร์ ยังบริหารจัดการได้ และถ้าหากอยู่ระดับ 33-34 บาทต่อดอลลาร์ หรือเกิน 34 บาทต่อดอลาร์ขึ้นไป ก็จะยิ่งส่งผลดีต่อการส่งออก