"นิพนธ์" ชี้โลกรวนเสี่ยงทำไทยเสียผลผลิตการเกษตรมากเป็นลำดับ 3 จาก 48 ประเทศ

30 ต.ค. 2567 | 09:56 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ต.ค. 2567 | 09:56 น.

"นิพนธ์" ชี้โลกรวนเสี่ยงทำไทยเสียผลผลิตการเกษตรมากเป็นลำดับ 3 จาก 48 ประเทศ แนะปรับตัวยึดแนวคิดเกษตรเท่าทันภูมิอากาศ ระบุเพื่อสร้างความยืดหยุ่น ควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีช่วยเพิ่มผลผลิต

นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ (Thailand Development Research Institute : TDRI) เปิดเผยในงานสัมมนาสาธารณะประจำปี 2567 ปรับประเทศไทย…ให้อยู่รอดได้ในยุคโลกเดือด ในหัวข้อ "เร่งภาคการผลิตปรับตัว…รับมือโลกรวน” ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้ไทยสูญเสียผลผลิตภาคการเกษตรมากเป็นอันดับ 3 จาก 48 ประเทศ 

ทั้งนี้ ภาคเกษตรจะต้องปรับตัว โดยยึดแนวคิดเกษตรเท่าทันภูมิอากาศ ซึ่งจะเป็นการปรับตัวเพื่อสร้างความยืดหยุ่น ควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีช่วยเพิ่มผลผลิต รวมทั้งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
 

สำหรับตัวอย่างการปรับตัวตามแนวคิดดังกล่าวในระดับเกษตรกร คือ การกระจายการผลิตโดยปลูกพืชหลากหลายชนิดแบบเกษตรสวนผสม รวมถึงการปรับปฏิทินเพาะปลูกให้สอดคล้องกับภูมิอากาศ และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในการเพาะปลูกด้วยเทคโนโลยีแบบต่าง ๆ เช่น การใช้น้ำหยด

ส่วนระดับนโยบายจะต้องสนับสนุนการทำวิจัยเพื่อปรับปรุงพันธุ์พืชให้ทนแล้ง-ทนน้ำท่วมได้ มีผลผลิตสูงขึ้น และสามารถตอบโจทย์ด้านสุขภาพที่จะทำให้สินค้าเกษตรไทยแข่งขันได้ 

"ประโยชน์ของเกษตรเท่าทันภูมิอากาศ นอกจากจะช่วยลดความเสียหายจากภาวะโลกร้อนได้แล้ว ยังมีโอกาสเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศ ทำให้เกิดความหลากหลายด้านชีวภาพ"
 

อย่างไรก็ดี เกษตรกรไทยมีความจำเป็นต้องมุ่งพัฒนาให้ไปสู่การเป็นเกษตรกรมืออาชีพ รวมถึงเกษตรกรรายใหญ่ หรือรวมตัวกันเป็นเครือข่ายที่สามารถจัดการเชิงธุรกิจได้ โดยร่วมมือกับภาคเอกชนที่เก่งด้านการตลาด และภาควิชาการ 

ขณะที่เกษตรกรรายเล็กที่ยังเปราะบางนั้น มีความจำเป็นที่จะต้องปรับตัวหารายได้นอกภาคเกษตร ดังนั้น นโยบายที่สำคัญจะต้องมีการจ้างงานนอกภาคเกษตรรองรับ รวมถึงเร่งฝึกทักษะใหม่ ๆ โดยการให้เงินอุดหนุนเกษตรกรนั้น จะต้องจูงใจให้เกษตรกรใช้นวัตกรรมเกษตรเท่าทันภูมิอากาศ