นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ปลัดกระทรวงการคลัง เตรียมเสนอ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 4 พ.ย.นี้ ทั้งในเรื่องมาตรการที่จะออกมากระตุ้นเศรษฐกิจในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปี 2567 และมาตรการของขวัญปีใหม่ 2568 ที่จะออกมาในช่วงเดือนธ.ค. เพื่อมอบเป็นของขวัญให้กับประชาชน
อย่างไรก็ตาม จากการหารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีความเข้าใจตรงกันว่า ฝั่งคลังจะลดบทบาทการใช้นโยบายการคลังที่มีความร้อนแรง เนื่องจากมีผลต่อการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะ และจะมีผลต่อการจัดการภาระทางการคลังในอนาคต โดยธปท. จะต้องรับไปดูว่านโยบายการเงินจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชน
ทั้งนี้ ผลของการใช้นโยบายทางการเงิน และทางการคลัง จะมีผลรวดเร็วแตกต่างกัน โดยนโยบายการคลังจะมีความรวดเร็วกว่า และอยู่ได้ในระยะเวลาหนึ่ง แต่นโยบายทางการเงินนั้น ความเร็วของมาตรการที่ออกไปจะใช้ระยะเวลา ประมาณ 6-8 ไตรมาส กว่าที่ผลของนโยบายการเงินจะเห็นเต็มศักยภาพ เช่น การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ล่าสุด ผลจะซึ่งในระบบเศรษฐกิจ และมีผลเต็มศักยภาพในไตรมาส 1 ในปี 2569
“คลังจะลดขนาดการขาดดุลงบประมาณ ให้อยู่ในระดับ 3%ต่อปี ให้มากที่สุด ซึ่งปัจจุบันตามแผนการคลังระยะปานกลาง ปีงบ 68 การขาดดุลอยู่ที่ 4.5%ต่อปี และประมาณการว่า ปีงบ 69 อยู่ที่ 3.5% อย่างไรก็ตาม จะมีการปรับปรุงและทบทวนแผนการคลังระยะปานกลางรอบถัดไป ซึ่งจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใน ธ.ค.นี้”
นายพรชัย กล่าวว่า การที่จะสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวมากกว่า 3% นั้น เครื่องมือทางการเงินก็ต้องเข้ามาช่วยในระดับที่เหมาะสม ทั้งนี้ หากดูตามกฎหมาย พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย มาตรา 28/7 บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีหน้าที่กำหนดเรื่องเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ ต้องคำนึงแนวนโยบายแห่งรัฐ และเสถียรภาพต่างๆ จะต้องช่วยพิจารณา
ทั้งนี้ กฎหมายของ ธปท. มีหน้าที่ตามมาตรา 7 ที่จะต้องดำเนินการเกี่ยวข้องกับการดูแลนโยบายการเงิน ความมั่นคงของธนาคาร และวรรคถัดมา ให้คำนึงถึงนโยบายของรัฐบาลด้วย โดยหากส่วนนี้ทำงานร่วมกันได้ จะเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งเราก็เห็นตรงกันว่าจุดมุ่งหมายที่สำคัญ คือ การทำให้เศรษฐกิจขยายตัวในระดับที่เหมาะสม