บอร์ด รฟท. สั่งทบทวนผลประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์-ป้ายโฆษณา “รถไฟสายสีแดง”

11 ก.ค. 2567 | 13:09 น.
อัพเดตล่าสุด :11 ก.ค. 2567 | 13:25 น.

บอร์ดรฟท. สั่งรฟท.ทบทวนผลประมูล “พื้นที่เชิงพาณิชย์-ป้ายโฆษณา” รถไฟสายสีแดง หลังคณะอนุกรรมการทรัพย์สินฯ หวั่นเอกชนรับมือบริหารความเสี่ยงสัญญาสัมปทาน 20 ปี ไม่ไหว แนะถกฝ่ายกฎหมาย คาดชงบอร์ดรอบใหม่ภายในเดือนส.ค.นี้

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก(ขบ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการ(บอร์ด)การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.รับทราบความคิดเห็นของคณะอนุกรรมการด้านทรัพย์สินฯ ต่อรายงานผลการพิจารณาการออกประกาศเชิญชวนเสนอผลตอแทนการใช้ประโยชน์ เพื่อประกอบกิจการเชิงพาณิชย์และติดตั้งป้ายโฆษณาบริเวณอาคารสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และสถานีรถไฟสายสีแดง 12 สถานี

 

 “คณะอนุกรรมการทรัพย์สินฯ มีความเห็นถึงความเป็นไปได้ในการบริหารจัดการโครงการฯของเอกชน ว่าจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ โดยเฉพาะแคชโฟลว์และการลงทุนในอนาคต ตลอดจนสัดส่วนการถือหุ้นของเอกชน เบื้องต้นบอร์ดรฟท.ได้มอบหมายให้รฟท.นำความเห็นของคณะอนุกรรมการทรัพย์สินฯไปประกอบการพิจารณาร่วมกับคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายฯ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนให้ถูกต้องกฎหมาย”

 

นายจิรุตม์ กล่าวต่อว่า การพิจารณาความเห็นดังกล่าวอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง หากท้ายที่สุดมีการยกเลิกการประมูลในครั้งนี้จะอยู่ในอำนาจของผู้ว่าการรฟท. ซึ่งเป็นไปตามระเบียบพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง โดยรฟท.ต้องกลับไปทวบทวนทีโออาร์ใหม่ด้วย เนื่องจากการประมูลที่ผ่านคาดว่าการลงทุนอาจไม่คุ้มค่าสำหรับเอกชน ทำให้ไม่มีเอกชนสนใจร่วมประมูล ในระหว่างที่ยังหาเอกชนมาลงทุนไม่ได้ เบื้องต้นจะให้รฟท.เป็นผู้ดำเนินการไปก่อน

 

นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า การประมูลโครงการฯนี้ถือเป็นโครงการที่มีสัญญาสัมปทาน 20 ปี มีมูลค่าการลงทุนที่สูง ซึ่งเอกชนที่เข้าร่วมประมูลให้ผลตอบแทนอยู่ในเกณฑ์ดี อีกทั้งยังผ่านเกณฑ์การพิจารณาด้านคุณสมบัติที่กำหนดไว้ในทีโออาร์ที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 100 ล้านบาท

 

แต่ทุนจดทะเบียนของเอกชนอาจไม่เพียงพอที่จะร่วมลงทุนโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้งบประมาณมาก ทำให้คณะอนุกรรมการด้านทรัพย์สินฯ มีความคิดเห็นว่า หากมีการลงทุนในสัญญาสัมปทาน 20 ปี ในขณะที่ค่าเช่าที่เพิ่มขึ้นอยู่ต่อเนื่องอาจจะทำให้เอกชนมีความเสี่ยงในด้านการบริหารได้

 

“รฟท.ให้เอกชนผู้ยื่นเสนอราคายืนยันในเรื่องนี้ว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่ ซึ่งเอกชนยืนยันว่าสามารถดำเนินการได้ ขณะที่คณะอนุกรรมการด้านทรัพย์สินฯยังมีความกังวลถึงความเป็นไปได้ให้โครงการสำเร็จตามแผนลงทุนที่เสนอต่อรฟท. โดยที่รฟท.ยังได้รับค่าเช่าต่อเนื่อง เพราะหากโครงการฯต้องลงทุนประมาณ 700 ล้านบาท ในช่วงระยะเวลาอันสั้น เอกชนอาจรับไม่ไหว ซึ่งอาจจะต้องกู้เงินเพื่อมาลงทุน”

นายอนันต์  กล่าวต่อว่า ตามแผนการลงทุนโครงการฯเอกชนจะต้องลงทุนดำเนินการภายในระยะเวลา 4 ปี โดยจะต้องเร่งรัดเปิดพื้นที่ร้านอาหาร,ตู้ ATM ธนาคารต่างๆ และร้านสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (โอท็อป) ซึ่งเป็นแผนเร่งด่วนที่เอกชนต้องดำเนินการ ปัจจุบันพบว่าเอกชนยังขอยืนราคาตามเดิมเมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา

 

ทั้งนี้หลังจากบอร์ดรฟท.รับทราบผลการพิจารณาฯแล้ว หลังจากนั้นจะเข้าสู่คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายพิจารณาเพื่อพิจารณาเงื่อนไขว่าสามารถดำเนินการโครงการฯต่อไปได้หรือไม่ และกลับมาเสนอต่อบอร์ดรฟท.พิจาณาอีกครั้งภายในเดือน ส.ค.นี้ ก่อนลงนามสัญญาร่วมกับเอกชนต่อไป 

 

สำหรับผลตอบแทนการลงทุนของเอกชนในโครงการฯที่เสนอต่อรฟท.อยู่ที่ 79 ล้านบาท จากผลตอบแทนขั้นต่ำ โดยเพิ่มขึ้นมาจากราคาที่ดิน  เบื้องต้นแบ่งพื้นที่การก่อสร้างเป็น 4 ระยะ ซึ่งแต่ละปีจะดำเนินการก่อสร้างอยู่ที่  10,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) โดยในปีแรกมีค่าเช่าคงที่ อยู่ที่ 78 ล้านบาทต่อปีต่อพื้นที่ 10,000 ตารางเมตร (ตร.ม.) ทำให้รฟท.ได้รับผลตอบแทนรวมอยู่ที่ 157 ล้านบาท

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 มี.ค.-28 เม.ย.66 ที่ผ่านมา รฟท. ได้ออกประกาศเชิญชวนภาคเอกชนที่สนใจ เข้ายื่นข้อเสนอผลตอบแทนการใช้ประโยชน์พื้นที่ เพื่อประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ และสิทธิการบริหารจัดการพื้นที่ติดตั้งป้ายโฆษณา บริเวณอาคารสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ 

 

และอาคารสถานีรถไฟสายสีแดง 12 สถานี ได้แก่ สถานีตลิ่งชัน สถานีบางบำหรุ สถานีบางซ่อน สถานีจตุจักร สถานีวัดเสมียนนารี สถานีบางเขน สถานีทุ่งสองห้อง สถานีหลักสี่ สถานีการเคหะ สถานีดอนเมือง สถานีหลักหก(ม.รังสิต) และสถานีรังสิต โดยออกประกาศเชิญชวนฯ เป็น 4 สัญญา ใช้วิธีประกวดข้อเสนอผลตอบแทน ประกอบด้วย
 

สัญญาที่ 1 โครงการยื่นข้อเสนอผลตอบแทนการใช้ประโยชน์พื้นที่ เพื่อประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ บริเวณอาคารสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ คิดเป็นพื้นที่จำนวน 47,675 ตารางเมตร

 

มีเอกชนร่วมซื้อเอกสารประกวดราคา จำนวน 3 ราย ได้แก่  1. บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) 2. บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด 3. บริษัท เปรม กรุ๊ป เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด และปรากฎว่า มีเอกชนยื่นข้อเสนอฯ จำนวน 1 ราย คือ บริษัท เปรม กรุ๊ป เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด

 

สัญญาที่ 2 โครงการยื่นข้อเสนอผลตอบแทนการใช้ประโยชน์พื้นที่ เพื่อประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ บริเวณอาคารสถานีรถไฟสายสีแดง จำนวน 12 สถานี คิดเป็นพื้นที่จำนวน 3,759 ตารางเมตร

 

มีผู้สนใจซื้อเอกสารประกวดราคา จำนวน 2 ราย ได้แก่ 1.บริษัท แพลน บี มีเดีย จำกัด (มหาชน) และ 2.บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด แต่ปรากฏว่าไม่มีเอกชนเข้ายื่นข้อเสนอฯ

 

สัญญาที่ 3 โครงการยื่นข้อเสนอเพื่อสิทธิการบริหารจัดการพื้นที่ติดตั้งป้ายโฆษณา บริเวณอาคารสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ คิดเป็นพื้นที่จำนวน 2,303 ตารางเมตร ไม่มีผู้ซื้อซองเอกสารข้อเสนอฯ

 

สัญญาที่ 4 โครงการยื่นข้อเสนอเพื่อสิทธิการบริหารจัดการพื้นที่ติดตั้งป้ายโฆษณา บริเวณอาคารสถานีรถไฟสายสีแดง จำนวน 12 สถานี คิดเป็นพื้นที่จำนวน 2,080 ตารางเมตร

 

มีผู้สนใจซื้อเอกสารประกวดราคา จำนวน 2 ราย ได้แก่ 1.บริษัท แพลน บี มีเดีย จำกัด (มหาชน) และ 2.บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด แต่ปรากฏว่าไม่มีเอกชนเข้ายื่นข้อเสนอฯ