“เอสอาร์ที แอสเสท” ลุยบริหารทรัพย์สิน รฟท. 1 หมื่นสัญญา

16 ก.ค. 2567 | 23:00 น.

บอร์ด รฟท.ไฟเขียวร่างข้อบังคับ บริษัทลูก เอสอาร์ที แอสเสท บริหารทรัพย์สินกว่า 10,000 สัญญา คาดลงนามภายใน 1 เดือน ฟาก SRTA เตรียมคลอดหลักเกณฑ์ใหม่ปั๊มรายได้ มั่นใจเริ่มบริหารสัญญาภายในปีนี้

KEY

POINTS

  • บอร์ด รฟท.ไฟเขียวร่างข้อบังคับ บริษัทลูก เอสอาร์ที แอสเสท บริหารทรัพย์สินกว่า 10,000 สัญญา คาดลงนามภายใน 1 เดือน
  • ฟาก SRTA เตรียมคลอดหลักเกณฑ์ใหม่ปั๊มรายได้ มั่นใจเริ่มบริหารสัญญาภายในปีนี้

กรณีการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ตั้งบริษัทลูก หรือบริษัทเอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) เพื่อเข้ามาบริหารทรัพย์สินให้รฟท. มีความคล่องตัวและมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการพัฒนาที่ดินอสังหาริมทรัพย์นอกเหนือจากการบริหารการเดินรถไฟในปัจจุบัน

 

 นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. มีมติเห็นชอบร่างข้อบังคับว่าด้วยการบริหารทรัพย์สินระหว่าง รฟท.และบริษัทเอสอาร์ที แอสเสท จำกัด หรือ SRTA เบื้องต้นได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายของรฟท.พิจารณาเพื่อให้ร่างฉบับดังกล่าวเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)

 

 ขณะเดียวกันตามแผนจะลงนามร่างข้อบังคับฯร่วมกับบริษัทเอสอาร์ทีฯ โดยประธานคณะกรรมการ รฟท.จะเป็นผู้ลงนามในครั้งนี้ เนื่องจากเป็นอำนาจของคณะกรรมการรฟท.ที่ต้องกำกับดูแลนโยบายทั้ง 2 หน่วยงานที่ต้องดำเนินการร่วมกัน ซึ่งจะทำให้มีผลบังคับใช้ โดยรฟท.จะต้องเร่งรัดโอนทรัพย์สินให้บริษัทเอสอาร์ทีฯไปบริหาร คาดว่าจะลงนามได้ภายใน 1 เดือน

 

 นายจิรุตม์ กล่าวต่อว่า ขณะที่บริษัทเอสอาร์ทีฯ จะต้องไปดำเนินการพิจารณาด้านกฎระเบียบ วิธีปฏิบัติ ตลอดจนการออกหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการบริหารสัญญาต่างๆเพื่อสอดรับกับร่างข้อบังคับดังกล่าวให้มีความเรียบร้อย โดยบริษัทเอสอาร์ทีฯ จะต้องรายงานผลการดำเนินงานต่อรฟท.รับทราบทุกๆ 3 เดือน

 

 “หากไม่มีร่างข้อบังคับฯ จะไม่สามารถ ดำเนินการในการโอนบริหารทรัพย์สินต่อได้ โดยรฟท.จะเป็นผู้รับประโยชน์เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการ”
 

นายอนันต์  โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า ตามมติครม.ให้รฟท.จดทะเบียนตั้งบริษัทเอสอาร์ทีฯ เพื่อดำเนินการบริหารทรัพย์สินของรฟท.โดยแบ่งสัญญาออกเป็น 4 กลุ่มดังนี้

 

 1. สัญญาเช่าเดิมของรฟท.ที่ให้บริษัทเอสอาร์ทีฯ บริการรับจ้างบริหารจัดการสัญญา โดยบริษัทเอสอาร์ทีฯ เป็นผู้บริหารสัญญาซึ่งจะได้รับค่าจ้างจากการบริหารในขณะที่รฟท.ยังเป็นเจ้าของทรัพย์สิน เช่น สัญญาให้สิทธิใช้ประโยชน์ศูนย์การค้าบริเวณสามเหลี่ยมย่านพหลโยธิน (เซ็นทรัลลาดพร้าว)

 

 2. สัญญาเช่าที่หมดอายุ โดยบริษัทเอสอาร์ทีฯ จะต้องดำเนินการเช่าที่ดินจากรฟท. เพื่อนำทรัพย์สินไปบริหารต่อ เช่น สัญญาโรงแรมอีสติน มักกะสัน

 

 3. สัญญาเช่าที่บริษัทเอสอาร์ทีฯบริการจัดสรรพื้นที่และเจรจาสัญญากับบุคคลที่สามหรือร่วมทุนกับเอกชน โดยรับโอนพื้นที่ไปดำเนินการให้เช่าช่วงพื้นที่เพื่อนําไปพัฒนาหรือนําไปดำเนินการหาผู้ร่วมทุนในการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งไม่ใช่การลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) แต่เป็นโครงการขนาดเล็ก

 

 4. สัญญาที่บริษัทเอสอาร์ทีฯ ลงทุนด้วยตนเองในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยการเช่าพื้นที่จากรฟท.หรือซื้อที่ดินจากองค์กรอื่น เพื่อนํามาพัฒนาพื้นที่โครงการหรือเพิ่มมูลค่าสินทรัพย์

 แหล่งข่าวจากบริษัทเอสอาร์ที แอสเสท จำกัด หรือ SRTA กล่าวว่า ขณะนี้ทางบริษัทเอสอาร์ทีฯ รับทราบถึงหลักการอนุมัติร่างข้อบังคับฯของคณะกรรมการรฟท.แล้ว แต่ยังไม่ได้รับหนังสือร่างฯฉบับดังกล่าวอย่างเป็นทางการ ซึ่งร่างข้อบังคับฉบับนี้เจะทำให้การทำงานร่วมกันทั้ง 2 ฝ่ายมีความคล่องตัวระหว่างกันมากขึ้น

 

 “บริษัทเอสอาร์ทีฯ จะมีการศึกษาออกหลักเกณฑ์การบริหารสัญญาใหม่จากหลักเกณฑ์เดิมที่มีอยู่เพื่อให้สอดคล้องกับร่างข้อบังคับฯนี้ โดยบริษัทจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุดภายใน 1 เดือนหรือเร็วกว่านั้นตามนโยบายของประธานคณะกรรมการรฟท. หากลงนามร่างข้อบังคับฯแล้วหลังจากนั้น คาดว่าจะสามารถเข้าไปบริหารสัญญาของรฟท.ได้ภายปีนี้”

 

 ทั้งนี้หากหลักเกณฑ์ใหม่ของบริษัท เอสอาร์ทีฯ ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการรฟท.หลังจากนั้นจะสามารถดำเนินการจัดหาประโยชน์ในการบริหารสัญญาเช่า รวมถึงกระบวนการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้

 

 อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมีสัญญาที่รฟท.ต้องโอนทรัพย์สินให้บริษัทเอสอาร์ทีฯ กว่า 10,000 สัญญา แบ่งเป็น ฝ่ายบริหารสัญญากว่า 6,000 สัญญา, ฝ่ายการเดินรถและฝ่ายงานโยธา รวมกว่า 4,000 สัญญา ซึ่งการบริหารสัญญานี้จะทำให้รฟท.มีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมที่รฟท.มีรายได้ ประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาทต่อปี