“ประเสริฐ” ดันราคาพลังงานถูก-พลังงานสีเขียว สร้างความมั่นคง ดูดลงทุน FDI

06 พ.ย. 2567 | 09:00 น.
อัปเดตล่าสุด :06 พ.ย. 2567 | 09:00 น.

“ประเสริฐ” ปลัดกระทรวงพลังงาน ดันภารกิจพลังงานราคาถูก ควบคู่ความมั่นคง-ไฟฟ้าสีเขียว หนุนบีโอไอดูดยักษ์ใหญ่ดาต้าเซ็นเตอร์โลก แห่ลงทุนไทยต่อเนื่อง พร้อมเปลี่ยนผ่านประเทศ สู่พลังงานสะอาดเพิ่มขีดแข่งขัน

ในงานสัมมนา “พลังงานราคาถูก ทางรอดเศรษฐกิจไทย” จัดโดยฐานศรษฐกิจ (6 พ.ย. 2567)

นายประเสริฐ  สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษ ใจความสำคัญระบุว่า หากพลังงานราคาถูกจะทำให้อะไรต่าง ๆ ดีขึ้น ทั้งชีวิต และความเป็นอยู่ของประชาชน ภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รวมถึงการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อย่างไรก็ดีเรื่องพลังงานราคาถูกเป็นเพียง 1 ในหลายปัจจัยที่กระทรวงพลังงานให้ความสำคัญ

“ประเสริฐ” ดันราคาพลังงานถูก-พลังงานสีเขียว สร้างความมั่นคง  ดูดลงทุน FDI

โดยยังปัจจัยอีกหลายด้านที่ให้ความสำคัญ ได้แก่ เรื่องความมั่นคง และความเสถียรของพลังงาน รวมถึงความยั่งยืน ทั้งนี้หากเปิดไฟแล้ว ไฟดับหรือไฟฟ้าไม่เสถียรก็ไม่มีความหมาย ถือเป็นเรื่องที่ใหญ่กว่าเรื่องราคา ขณะที่ในหลายอุตสาหกรรมในหลายธุรกิจที่ใช้น้ำมันในการผลิต หากน้ำมันขาดแคลน หรือจัดหาไม่ได้ ไม่ว่าน้ำมันจะราคาถูกหรือแพงแค่ไหนก็ไม่มีความหมายเช่นกัน

ขณะที่ปัจจุบันเทรนด์ของโลกให้ความสำคัญกับประเด็นในการลดภาวะโลกร้อน หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งในส่วนของประเทศไทยได้ไปให้พันธสัญญาไว้กับโลกที่จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (ในปี 2065) โดยส่วนหนึ่งที่จะช่วยลดได้คือ การเพิ่มการใช้พลังงานสะอาด หรือพลังงานสีเขียว ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่ไทยต้องเร่งดำเนินการ ให้เป็นส่วนหนึ่งของโลก ไม่ใช่ทำไปแบบ “โลกสวย”

“ประเสริฐ” ดันราคาพลังงานถูก-พลังงานสีเขียว สร้างความมั่นคง  ดูดลงทุน FDI “ประเสริฐ” ดันราคาพลังงานถูก-พลังงานสีเขียว สร้างความมั่นคง  ดูดลงทุน FDI

นอกจากนี้เรื่องพลังงานราคาถูก และพลังงานสีเขียว ยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เนื่องจากการค้า การลงทุนของโลกเวลานี้ มีเงื่อนไขเรื่องคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เรื่องของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เรื่องคาร์บอนเครดิตอะไรต่าง ๆ ที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือหรือมาตรการทางการค้า ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้า-ส่งออกสินค้า ที่มีการตั้งกำแพงภาษี และกำแพงด้านต่าง ๆ เกิดขึ้นในหลายรูปแบบ

สิ่งเหล่านี้ไทยต้องนำมาบริหารจัดการให้เกิดความสมดุลให้ได้ว่า ทำอย่างไรเราถึงจะมีพลังงานราคาถูก มีความมั่นคง และสะอาด ตรงนี้คือโจทย์ของกระทรวงพลังงาน

สำหรับสถานการณ์ด้านพลังงานของประเทศในปีที่ผ่านมา ไทยสามารถผลิตพลังงานได้มากขึ้น โดยการผลิตก๊าซจากแหล่งเอราวัณ ได้ฟื้นตัวจาก 200 ล้านลูกบาศก์ฟุต(ลบ.ฟุต) ต่อวัน เป็น 400 และเป็น 800 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวันตามลำดับ ได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่การใช้พลังงานโดยรวม ทั้งน้ำมันและไฟฟ้าก็ปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 7%

“ประเสริฐ” ดันราคาพลังงานถูก-พลังงานสีเขียว สร้างความมั่นคง  ดูดลงทุน FDI

โดยในปี  2566  การใช้ไฟฟ้าของ 3 การไฟฟ้า(กฟผ. กฟภ. กฟน.) ทะลุ 2 แสนล้านหน่วย เป็นสถิติใหม่สูงกว่าปีก่อนเกิดโควิด(2562) และปีที่เกิดโควิดแล้วก็ปรับลดลงมา ซึ่งในปีที่ผ่านมาก็กลับขึ้นไปสูงกว่าเดิม ในปีนี้มั่นใจว่าการใช้ไฟฟ้าจะสูงกว่าเดิมอย่างน้อย 5- 6%  แม้ช่วงนี้อากาศจะเย็นลง แต่การใช้ไฟฟ้าก็ยังสูงขึ้นเช่นกัน

ส่วนการจัดหาก๊าซธรรมชาติเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ข้อมูล ณ วันที่ 24 ต.ค. 2567 สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ 59% โดยมีการจัดหาก๊าซธรรมชาติในประเทศสัดส่วน 56% ซึ่งลดลงจากในอดีตที่ไทยยังมีแหล่งก๊าซจำนวนมากมีการจัดหาก๊าซธรรมชาติจากในประเทศสัดส่วน 70- 80% ของการใช้ และส่วนหนึ่งมีการนำเข้าจากเมียนมาสัดส่วน 11% และการจัดหาก๊าซธรรมชาติในรูปแบบก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากต่างประเทศ 33%

“ประเสริฐ” ดันราคาพลังงานถูก-พลังงานสีเขียว สร้างความมั่นคง  ดูดลงทุน FDI

“ในส่วนของแอลเอ็นจีต้องมาสร้างเทอร์มินอล เป็นเรื่องลองเทอม ก็นำเข้ามาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  ตอนที่ผมเป็นรอง ผู้อำนวยการ สนพ. ประมาณ 8 ปีที่แล้ว จำได้ว่าต้องหารือกับ ปตท. ว่าจะต้องนำเข้าคาร์โก้ที่ 5 หรือไม่ จากที่นำเข้ามาประมาณ 4 ลำในตอนนั้น ส่วนในปีนี้นำเข้ามา 90 ลำก็ถือว่าเพิ่มขึ้นเยอะมาก ซึ่งมีเหตุผลจากสองส่วนคือ การใช้ไฟฟ้าของเราเพิ่มขึ้น ก๊าซธรรมชาติเราก็ใช้เพิ่มขึ้น แต่แหล่งผลิตเราถดถอย เพราะก๊าซฯในอ่าวไทยก็เริ่มหมด พื้นที่  OCA (พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา) ก็ถือเป็นความหวังที่จะเจรจากันเพื่อนำก๊าซธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ร่วมกัน และยังสามารถใช้แทน LNG ได้”

อย่างไรก็ดีต้นทุนพลังงานของไทย หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องไปอิงกับราคาตลาดโลก ขณะที่ต้นทุนด้านพลังงานของไทย ในเนื้อน้ำมันส่วนหนึ่งมีการเก็บภาษีเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ผ่านมากองทุนฯ มีแต่จ่ายออกเพื่อช่วยเหลือประชาชนไม่ให้ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันในตลาดโลกและในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้กองทุนฯ ยังเป็นหนี้หรือติดลบอยู่มากกว่า 1 แสนล้าน เวลานี้ลดเหลือประมาณ 9 หมื่นล้านบาท

นายประเสริฐ กล่าวอีกว่า เวลานี้การผลิตไฟฟ้าของไทย นอกจากใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงประมาณ 60% ยังมีการนำพลังงานหมุนเวียน หรือพลังงานสีเขียวมาใช้ มีไฮโดรเจน มีอะไรต่าง ๆ เวลานี้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน หรือพลังงานสะอาดมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น คิดเป็นประมาณ 26% และยังใช้พลังงานถ่านหินอยู่ประมาณ 10% ต้น ๆ ซึ่งการใช้ถ่านหินจะค่อย ๆ ลดลงไปเรื่อย ๆ

“ประเสริฐ” ดันราคาพลังงานถูก-พลังงานสีเขียว สร้างความมั่นคง  ดูดลงทุน FDI

“คุณภาพการบริการไฟฟ้าของประเทศไทยเวลานี้ถือว่าอยู่อันดับต้น ๆ ของภูมิภาค และของโลก โดยโอกาสการเกิดไฟฟ้าดับเฉลี่ยต่อปีเรามีน้อยมากไม่ถึง 1%”

อย่างไรก็ตามความมั่นคงด้านพลังงาน ที่เป็นพลังงานสะอาดหรือพลังงานสีเขียว  ณ ปัจจุบัน ถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ(FDI) เฉพาะอย่างยิ่งในกิจการดาต้าเซ็นเตอร์ ที่ต้องการความเสถียรของพลังงานไฟฟ้า และใช้พลังงานสะอาด เวลานี้มียักษ์ใหญ่ด้านดาต้าเซ็นเตอร์ของโลกเข้ามาลงทุนในไทยแล้ว เช่น Google ที่ประกาศลงทุนในไทยมากกว่า 35,000 ล้านบาท รวมถึง AWS และ Microsoft  และยังมีอีกหลายรายตามมา

“วันก่อนได้คุยกับบีโอไอ เขาบอกว่าทางกระทรวงพลังงานต้องเร่งแล้วนะเรื่องพลังงานสีเขียว เพราะเวลานี้กลุ่มธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ เข้ามาลงทุนเยอะมาก ซึ่งจริง ๆ มีอีกหลายรายที่เขาบอกไปติดต่อดูแล้วเช่นจะไปที่เวียดนาม แต่มีปัญหาไฟตก ไฟดับบ่อย ก็ต้องมาประเทศไทย ที่มีความมั่นคงด้านพลังงาน และมีพลังงานสะอาดรองรับ”  

โดยสรุปในเรื่องพลังงานราคาถูกถือเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่สิ่งที่เราต้องการคือเรื่องความมั่นคง เรื่องการรักษาเสถียรภาพ ไม่ให้แกว่งเกินไป รวมถึงเรื่องของความยั่งยืน เรื่องของสิ่งแวดล้อมที่ต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(CO2) และจะเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียน (RE) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของประเทศ