ดร.คุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมและพลังงานแห่งประเทศไทย กล่าวในสัมมนา พลังงานราคาถูก.. ทางรอดเศรษฐกิจไทย ที่จัดขึ้นโดยหนังสือ“ฐานเศรษฐกิจ” ช่วง Panel Discussion: ทางรอด พลังงานไทย ในช่วงเปลี่ยนผ่านว่า การใช้กรอบบันทึกความเข้าใจ (MoU) ปี 2544 ในการเจรจาเขตพื้นที่ทับซ้อนไหล่ทวีประหว่างไทยและกัมพูชา หรือพื้นที่ OCA มีความสำคัญที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมสถานการณ์พลังงานของไทยอยู่ในภาวะวิกฤตพลังงาน เพราะปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติของประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง และไม่มีการค้นพบแหล่งก๊าซใหม่มาตั้งแต่ปี 2548
ขณะที่ปริมาณก๊าซจากแหล่งในประเทศและแหล่งนำเข้าจากพม่าและเขตพัฒนาร่วม (JDA) ก็ลดลงอย่างน่ากังวล ทำให้ประเทศไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มากขึ้น ส่งผลโดยตรงต่อค่าไฟฟ้าของประชาชนและภาระงบประมาณของรัฐ
นอกจากนี้ รายได้จากการจัดเก็บภาษีที่เกี่ยวข้องกับปิโตรเลียมยังลดลง กระทบต่อเศรษฐกิจจริง (real sector) และบริษัทผู้รับสัมปทานหลายแห่งเริ่มชะลอการลงทุนหรือลดการจ้างงาน
ดร.คุรุจิต กล่าวต่อไปว่า การเจรจาพื้นที่ไหล่ทวีปทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชาภายใต้กรอบ MOU ปี 2544 เป็นทางออกที่สำคัญ โดยไทยควรสนับสนุนกรอบการเจรจาดังกล่าวเพื่อประโยชน์ของชาติ และการดำเนินการภายใต้ MOU จะไม่กระทบต่ออธิปไตยของประเทศ
นอกจากนี้ดร.คุรุจิตยังได้เปรียบเทียบค่าใช้จ่ายระหว่างการนำเข้า LNG กับราคาก๊าซที่ผลิตจากอ่าวไทย โดยชี้ให้เห็นว่าก๊าซจากท่อในอ่าวไทยมีราคาถูกกว่าก๊าซ LNG ที่นำเข้า ทั้งยังเน้นว่าประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อม เช่น ท่อส่งก๊าซในอ่าวไทยที่มีความสามารถในการส่งก๊าซถึง 3,800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่ปัจจุบันใช้งานเพียง 65% หากเพิ่มปริมาณการใช้ก๊าซผ่านท่อ จะช่วยลดค่าบริการผ่านท่อและทำให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สำหรับขั้นตอนที่จำเป็นต้องดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาพื้นที่ไหล่ทวีปทับซ้อนระหว่างไทยและกัมพูชา (TC-OCA) นั้นต้องเจรจากำหนดเส้นแบ่งเขตทางทะเล ระหว่างไทยและกัมพูชาในพื้นที่ OCA ส่วนบน (เหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ)
นอกจากนี้ยังกำหนดขอบเขตพื้นที่พัฒนาร่วม: และวางหลักการแบ่งปันค่าใช้จ่ายและผลประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียมที่อาจพบในพื้นที่ OCA ส่วนล่าง เพื่อนำไปสู่ข้อตกลง JDA (Joint Development Area)
ส่วนเงื่อนไขสัมปทานปิโตรเลียม ต้องเจรจาเรื่องระบบและเงื่อนไขสัมปทานที่บริษัทผู้ประกอบการจะใช้สำหรับการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วม JDA ขณะที่สิทธิประโยชน์ของบริษัทสัมปทาน ต้องเจรจาเกี่ยวกับสิทธิและประโยชน์ของบริษัทผู้รับสัมปทานในพื้นที่ OCA ซึ่งเคยได้รับอนุญาตจากรัฐบาลทั้งสองฝ่ายตามกฎหมายเดิม
ขณะที่โครงสร้างการบริหารองค์กรร่วม ต้องวางโครงสร้างองค์กร การจัดสรรงบประมาณ และร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดตั้งองค์กรบริหารพื้นที่ JDA ส่วนแนวปฏิบัติด้านศุลกากรและภาษี ต้องเจรจาเรื่องศุลกากร ภาษี และข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ JDA
สำหรับเขตอำนาจทางอาญาและสิทธิอื่น ๆ ต้องเจรจาเกี่ยวกับอำนาจทางอาญาและสิทธิอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับปิโตรเลียม เช่น การเดินเรือ การประมง และการวางสายเคเบิลใต้น้ำ และการนำเสนอข้อตกลงต่อรัฐบาลและรัฐสภา:ข้อตกลงทั้งหมดต้องได้รับการเห็นชอบจากรัฐบาลและรัฐสภาก่อนลงนามในความตกลงทวิภาคีและตรากฎหมายรองรับ
ดร.คุรุจิต กล่าวต่อไปว่าพื้นที่ OCA เป็นแหล่งที่มีศักยภาพสูง โดยคาดว่าอาจมีปริมาณก๊าซสำรองประมาณ 9 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.8 ล้านล้านบาท สามารถช่วยลดการนำเข้า LNG ได้อย่างมาก และสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ การวางท่อก๊าซจากพื้นที่ OCA เชื่อมเข้ากับท่อในอ่าวไทยก็สามารถทำได้ในเวลาเพียง 3-5 เดือน เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานมีความพร้อมอยู่แล้ว
ดร.คุรุจิต ยังกล่าวถึงวิกฤตรัสเซียบุกยูเครนในปี 2565 ส่งผลให้ราคาก๊าซ LNG พุ่งสูงขึ้นถึง 50 เหรียญสหรัฐต่อหน่วย ทำให้ไทยที่มีการทำสัญญานำเข้า LNG ระยะยาวในปริมาณน้อยเผชิญกับราคาก๊าซที่สูงลิ่ว การนำเข้าก๊าซในช่วงวิกฤตทำให้ค่า Ft เพิ่มขึ้นถึง 8 บาทต่อหน่วย และเป็นภาระต่อค่าไฟฟ้าของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยการแก้ไขปัญหาพลังงานของไทยจึงต้องเร่งเจรจาเขตไหล่ทวีปทับซ้อนเพื่อเพิ่มปริมาณสำรองก๊าซในประเทศ
นอกจากการเจรจาเรื่อง OCA ยังเสนอให้รัฐบาลสนับสนุนพลังงานเฉพาะกลุ่มเปราะบาง และไม่ควรอุดหนุนพลังงานแบบเหมารวมเพื่อไม่ให้บิดเบือนกลไกตลาด พร้อมแนะให้มีการปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าให้มีการแข่งขันมากขึ้น และเปิดประมูลสัญญาซื้อไฟฟ้าอย่างโปร่งใส การซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศควรทำผ่านระบบประมูล ไม่ใช่การเจรจารายโครงการ เพื่อให้ราคาพลังงานมีเสถียรภาพและเป็นธรรมกับผู้บริโภค
ดร.คุรุจิต กล่าวทิ้งท้ายว่า การแก้ไขปัญหาพลังงานของไทยต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย รวมถึงความกล้าหาญของรัฐบาลในการตัดสินใจเชิงนโยบาย เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว
.