สำนักข่าวซินหัวจีน รายงานว่า เขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีกว่างซี-อาเซียน จัดกิจกรรมเพื่อการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการแปรรูปอาหารจีน-ไทย (นิคมแปรรูปฯ) โดยมีตัวแทนคณะกรรมการเขตพัฒนาฯ และคณะผู้แทนไทย ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นเชิงลึกด้านการลงทุน การสนับสนุนทางนโยบาย การพัฒนาอุตสาหกรรม และอื่นๆ
เขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีกว่างซี-อาเซียน เป็นนิคมอุตสาหกรรมด้านอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีบริษัทแปรรูปอาหารมากกว่า 130 แห่งมาตั้งอยู่ที่นี่ อาทิ บริษัทที่ติดอันดับ 500 บริษัทขนาดใหญ่ที่สุดในโลกและในจีน อย่างบัดไวเซอร์ (Budweiser) ซวงฮุ่ย (Shuanghui) คอฟโก (COFCO) อีลี่ (Yili) ไห่เทียน (Haitian) ฯลฯ เขตพัฒนาฯ ใช้เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศรวมกว่า 8,600 ล้านบาท ระหว่างปี 2020 จนถึงปัจจุบัน ในจำนวนนี้เป็นการใช้เงินทุนจากบริษัทไทย 23%
นายหลัว จื่อซาน รองผู้อำนวยการคณะกรรมการบริหาร เขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีกว่างซี-อาเซียน เผยว่าบริษัทนิคมแปรรูปฯ มุ่งดึงดูดการลงทุนจากประเทศในอาเซียน และมุ่งสร้างฐานอุตสาหกรรมอาหารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมซึ่งมีความเป็นสากล
ล่าสุด ฐานการผลิตของบริษัทเทียนซือ เรดบูล (กว่างซี) เบเวอเรจ จำกัด (Tiansi Red Bull (Guangxi) Beverage Co., Ltd.) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ราว 83 ไร่ ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีกว่างซี-อาเซียน กำลังอยู่ระหว่างก่อสร้างในปัจจุบัน โดยมีทั้งห้องปฏิบัติการระบบทันสมัย คลังสินค้าอัตโนมัติ ตลอดจนสายการผลิตความเร็วสูงระบบอัตโนมัติ
โครงการก่อสร้างฐานการผลิตแห่งนี้ มีแผนการลงทุนมูลค่า 6,200 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มการผลิตได้ในเดือนธันวาคมปีนี้ และจะผลิตเครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ และอื่นๆ ได้มากถึง 48 ล้านลังต่อปี คิดเป็นมูลค่าการผลิตประมาณ 9,500 ล้านบาท
กว่างซี เป็นหน้าต่างเชื่อมต่อกับอาเซียนของจีน จึงได้รับความสนใจจากบริษัทในอาเซียนที่ต้องการเข้าสู่ตลาดจีนมาโดยตลอด ย้อนกลับไปในปี 1993 บริษัทอีสต์ เอเชีย ชูการ์ กรุ๊ป (East Asia Sugar Group) ก่อตั้งขึ้นโดยกิจการร่วมค้าของบริษัทกลุ่มมิตรผลของไทย และโรงงานน้ำตาลในกว่างซีที่รัฐบาลจีนเป็นเจ้าของ 4 แห่ง โดยประกอบธุรกิจผลิตน้ำตาล พลังงานชีวภาพ ปุ๋ย ยีสต์ อาหารสัตว์ ฯลฯ และกลายมาเป็นหนึ่งในบริษัทน้ำตาลชั้นนำของจีนในปัจจุบัน
นอกจากนี้ บริษัทไทยอย่างเครือเจริญโภคภัณฑ์ และทีพีซี กรุ๊ป ก็ดำเนินธุรกิจในกว่างซีทั้งยังดึงดูดให้บริษัทต้นน้ำและปลายน้ำจำนวนมากให้มาตั้งฐานที่นี่
นายบัญญัติ บุญญา นายกสมาคมนักธุรกิจอาเซียน กล่าวว่าสมาคมส่งผู้ประกอบการไทยไปศึกษาดูงานยังนิคมอุตสาหกรรมทั่วจีน และส่งเสริมให้เกิดการลงทุน ครั้งนี้ได้เดินทางมายังนครหนานหนิง เพื่อหารือเกี่ยวกับธุรกิจ และศึกษาข้อได้เปรียบของกว่างซีสำหรับอาเซียน รวมถึงข้อได้เปรียบด้านอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร รวมถึงจะแนะนำให้ผู้ประกอบการชาวไทยเดินทางมาจัดตั้งนิคมของตนเองในนิคมแห่งนี้กันมากขึ้น
ขณะที่จังหวัดปทุมธานี เป็นศูนย์กลางวัตถุดิบสำคัญในภาคอุตสาหกรรมอาหารของไทย มีตลาดค้าส่งพืชผักผลไม้ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ ในการนี้ จังหวัดปทุมธานีได้ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ส่งคณะตัวแทนทางการเมืองและธุรกิจกว่า 30 คน มาเยี่ยมชม แลกเปลี่ยน และแสวงหาโอกาสความร่วมมือที่เขตพัฒนาฯ
จังหวัดปทุมธานีมีนิคมอุตสาหกรรม 2 แห่ง และนิคมด้านอาหารอื่นๆ ที่ให้บริการแก่นักลงทุนต่างชาติอย่างครบวงจร ตั้งแต่การจดทะเบียนบริษัท การส่งเสริมการลงทุน ไปจนถึงการก่อสร้าง ปัจจุบัน มีโรงงานมากกว่า 200 แห่งที่บริษัทจีนมาลงทุน เช่น โรงงานอาหารแช่แข็ง โรงงานอาหารกึ่งสำเร็จรูป โรงงานผลิตกาแฟและอาหารเพื่อสุขภาพ และโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตร