ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 13พ.ย. “อ่อนค่าเล็กน้อย” ที่ระดับ 34.89 บาทต่อดอลลาร์

13 พ.ย. 2567 | 01:15 น.
อัปเดตล่าสุด :13 พ.ย. 2567 | 02:21 น.

ค่าเงินบาทอาจเริ่มมีแนวโน้มชะลอการอ่อนค่าลงบ้าง เมื่อเข้าใกล้โซนแนวต้านสำคัญ35.00 บาทต่อดอลลาร์ แรงขายสินทรัพย์ไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติเริ่มชะลอลง เห็นการกลับเข้าซื้อหุ้นไทยบ้าง ควรระวังแรงกดดันจากการอ่อนค่าของเงินหยวน

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 13พ.ย.2567 ที่ระดับ  34.89 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  34.85 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทยเปิดเผยว่าแนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าลงของเงินบาทนั้นยังคงมีกำลังอยู่

โดยเฉพาะหลังเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านที่เราประเมินไว้ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้เงินบาทสามารถอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านสำคัญ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งสอดคล้องกับแนวต้านเส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน (หากเงินบาทยังสามารถอ่อนค่าลงทะลุโซนดังกล่าวได้ ก็มีโอกาสอ่อนค่าได้ถึง 35.20-35.30 บาทต่อดอลลาร์)

 อย่างไรก็ดี จากการประเมิน การเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์ต่างๆ อีกทั้งฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติในช่วงหลังตลาดรับรู้ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ 2016 (Trump 1.0) ซึ่งผลการเลือกตั้งก็คล้ายกับภาพในปัจจุบัน

ทำให้เรามองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจเริ่มมีแนวโน้มชะลอลงบ้าง โดยเฉพาะเมื่อเข้าใกล้โซนแนวต้านสำคัญ นอกจากนี้ เรามองว่า แรงขายสินทรัพย์ไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติอาจเริ่มชะลอลง

โดยล่าสุด เริ่มเห็นการกลับเข้าซื้อหุ้นไทยบ้างจากนักลงทุนต่างชาติในวันก่อนหน้า นอกจากนี้ หากราคาทองคำยังพอมีจังหวะรีบาวด์ขึ้นได้ ก็อาจพอช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้าง

อย่างไรก็ดี ควรระวังแรงกดดันเงินบาทจากการอ่อนค่าของเงินหยวนจีน (CNY) ในระยะสั้นเช่นกัน เนื่องจากในช่วงนี้ เงินหยวนจีนได้เคลื่อนไหวสอดคล้องกับเงินบาทมากพอสมควร (Correlation 30 วัน สูงราว 83%)

ซึ่งเงินหยวนจีนก็อาจยังคงถูกกดดันจากความกังวลผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนจากนโยบายรัฐบาล Trump 2.0 ได้ จนกว่าตลาดจะมีความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจจีนมากขึ้น ซึ่งต้องรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญรายเดือนของจีนในสัปดาห์นี้ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ เพราะหากอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ โดยเฉพาะในส่วนของ Core CPI ไม่ได้ชะลอลงชัดเจน หรือปรับตัวสูงขึ้นกว่าคาด

อาจยิ่งกดดันให้ผู้เล่นในตลาดกังวลว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าใน Dot Plot หนุนให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นต่อได้ ทว่า ภาพดังกล่าวก็รับรู้โดยผู้เล่นในตลาดไปมากแล้ว ทำให้เรากังวลในกรณีที่อัตราเงินเฟ้อ CPI อาจชะลอลงกว่าคาด ซึ่งจะทำให้ผู้เล่นในตลาดมีการปรับมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของเฟดได้ กดดันให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีโอกาสย่อตัวลง

 

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.65-35.00 บาท/ดอลลาร์ (ความระวังความผันผวนในช่วงทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ)

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideways (กรอบการเคลื่อนไหว 34.73-34.90 บาทต่อดอลลาร์) หลังจากที่ในช่วงวันก่อนหน้า เงินบาทได้เคลื่อนไหวอ่อนค่าลงต่อเนื่องทะลุโซนแนวต้าน 34.65 บาทต่อดอลลาร์ ที่เราประเมินไว้ได้

ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทเริ่มชะลอลงแถวโซนแนวต้าน 34.85-34.90 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงคืนที่ผ่านมา หลังราคาทองคำ (XAUUSD) มีจังหวะรีบาวด์ขึ้นราว +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จากโซนแนวรับก่อนหน้า เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ทองคำบ้าง

ทว่า เงินบาทก็กลับมาอ่อนค่าลงบ้างในช่วงดึก ตามการทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ ที่ยังคงได้รับอานิสงส์จากมุมมองของผู้เล่นในตลาด ซึ่งต่างเชื่อว่า เฟดจะลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่า Dot Plot พอสมควร

นอกจากนี้ มุมมองดังกล่าวของผู้เล่นในตลาดยังหนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น ทะลุโซน 4.40% ได้อีกครั้ง และการปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์ พร้อมบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็กลับมากดดันให้ราคาทองคำ (XAUUSD) ย่อตัวลงกลับสู่โซนแนวรับ 2,590-2,600 ดอลลาร์ต่อออนซ์ 

บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มเผชิญแรงกดดันจากการขายทำกำไรบรรดาหุ้นธีม Trump Trades โดยเฉพาะ Tesla -6.2% ทว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการรีบาวด์ขึ้นบ้างของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ อาทิ Nvidia +2.1% ทำให้โดยรวม ดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.29%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวลงหนัก -1.98% ท่ามกลางความกังวลผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาล Trump 2.0 ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจจีนและยุโรป

นอกจากนี้ รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนในช่วงระยะสั้นก็ออกมาไม่สดใสนัก เช่นเดียวกันกับรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ อย่าง ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี และ ยูโรโซน (ZEW Economic Sentiment) เดือนพฤศจิกายน ก็ออกมาแย่กว่าคาดพอสมควร

ในส่วนของตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงปรับตัวสูงจนทะลุโซน 4.40% อีกครั้ง ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่าการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Trump 2.0 อาจส่งผลให้ เฟดทยอยลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot พอสมควร ตามแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง

ส่วนอัตราเงินเฟ้อก็อาจชะลอลงช้า หรือ เร่งตัวขึ้น ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ปรับตัวขึ้นเข้าสู่โซนที่น่าสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อประเมินความเสี่ยงและโอกาส ในกรณีที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจปรับตัวขึ้นหรือลดลงราว 50bps (0.5%)

จะเห็นได้ว่าในเชิงของผลตอบแทนรวม (Total Return) การทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวในช่วงที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นพอสมควรนั้น ก็ยังมี Risk-Reward ที่น่าสนใจ ทำให้ผู้เล่นในตลาดสามารถทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นได้

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ซึ่งมีส่วนเร่งการอ่อนค่าลงของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) จนเกือบแตะโซน 155 เยนต่อดอลลาร์ ตามส่วนต่างระหว่างบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กับญี่ปุ่น ที่กว้างมากขึ้น และ

แม้ว่าเงินดอลลาร์จะยังได้แรงหนุนจากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่า Dot Plot ล่าสุด ทว่าผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็ทยอยขายทำกำไรเงินดอลลาร์ออกมาบ้าง ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นเข้าใกล้โซน 106 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 105.7-106.2 จุด)

การเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์ก็ถือว่าใกล้เคียงกับที่เราได้ประเมินไว้ในบทวิเคราะห์ค่าเงินบาทเดือนพฤศจิกายน สำหรับกรณี Republican Trifecta ทำให้เราประเมินว่า เริ่มมีโอกาสที่เงินดอลลาร์อาจเริ่มชะลอการแข็งค่าขึ้นและทยอยแกว่งตัวในกรอบ Sideways ได้

ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่า ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) จะมีจังหวะรีบาวด์ขึ้นทะลุโซน 2,620 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่จังหวะการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ยังคงกดดันให้ ราคาทองคำไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ และแกว่งตัวแถวโซน 2,600-2,610 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งอาจพอเป็นแนวรับระยะสั้นได้

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ในเดือนตุลาคม โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อ CPI อาจยังคงอยู่แถวระดับ 2.6% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ซึ่งไม่รวมผลของราคาอาหารและพลังงาน ก็อาจยังอยู่แถว 3.3%

หากอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าคาด ก็อาจยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลมากขึ้น ว่า เฟดอาจยิ่งชะลอการลดดอกเบี้ยและอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot ล่าสุดพอสมควร ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด โดยเฉพาะหลังรับรู้ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ และรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ล่าสุด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 3 เดือนครั้งใหม่ที่ 34.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนจะกลับมาปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 34.68-34.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (9.00 น.) เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 34.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ
ค่าเงินบาทฟื้นตัวแข็งค่ากลับมาบางส่วน (หลังแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 3 สัปดาห์ที่ 34.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้)  ขณะที่แรงหนุนของเงินดอลลาร์ฯ ชะลอลงบางส่วนตามแรงขายเพื่อปรับโพสิชั่นในช่วงระหว่างที่ตลาดรอติดตามตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐฯ ในคืนนี้

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 34.60-35.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติและสกุลเงินเอเชียอื่นๆ โดยเฉพาะค่าเงินหยวน ข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนต.ค. ของสหรัฐฯ และสัญญาณดอกเบี้ยสหรัฐฯ จากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด