KEY
POINTS
จากเป้าหมายของรัฐบาลที่ตั้งเป้าจะผลักดันให้ “สนามบินสุวรรณภูมิ” ติดอันดับ 1 ใน 50 ท่าอากาศยานที่ดีที่สุดในโลกภายใน 1 ปี และติดอันดับ 1 ใน 20 ท่าอากาศยานที่ดีที่สุดในโลกภายใน 5 ปี ทำให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. มีเป้าหมายแนวทางการพัฒนาและปรับปรุงท่าอากาศยานดังกล่าวให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เจาะโมเดลสนามบินชางงี
ล่าสุดนายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.ได้ลงพื้นที่ศึกษาสนามบินชางงี ประเทศสิงคโปร์ พบว่า สิงคโปร์มีนโยบายการนำเสนออัตลักษณ์ในรูปแบบ City in a garden ซึ่งมุ่งเน้นที่การยกระดับโครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะของเมือง โดยเฉพาะการออกแบบสนามบินชางงี ที่สะท้อนแนวทางการพัฒนาเมืองสีเขียวของประเทศสิงคโปร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและไปสู่ City in Nature จนได้รับการยกย่องให้เป็นสนามบินอันดับที่ 1 จากการจัดอันดับของ Skytrax
ขณะที่การออกแบบของสนามบินชางงีนั้น เป็นอาคารผู้โดยสารและพื้นที่เชิงพาณิชย์ Jewel โดยเน้นพื้นที่สีเขียวและธรรมชาติ City in Nature ไม่ว่าจะเป็นการใช้วัสดุก่อสร้างที่ประหยัดพลังงาน การส่งเสริมพลังงานสะอาดเพื่อใช้ในท่าอากาศยาน การเติมพื้นที่เชิงธรรมชาติ Forest Valley
นอกจากนี้ยังมีการจัดโซนน้ำตกใหญ่ในร่มใหญ่ที่สุดในโลก (Jewel) เส้นทางรถไฟเชื่อมอาคาร Nature Trail การจัดสวนดอกไม้ Flower Garden ไปจนถึงการผสมผสานนวัตธรรมดิจิทัลทางธรรมชาติ เช่น ฝนเทียม Kinetic Rain ต้นไม้โซเชียล Social Tree และ น้ำตกดิจิทัล Waterfall
กางแผนลงทุน 7.65 หมื่นล้าน
โดย Changi Airport Group (CAG) จะลงทุน 7.65 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 3 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ในช่วง 6 ปีข้างหน้าในอาคารผู้โดยสาร 1 ถึง 4 ของสนามบินชางงีของสิงคโปร์ เพื่อปรับปรุงบริการต่างๆ
เช่น การจัดการสัมภาระ การเช็คอิน การตรวจคนเข้าเมือง และการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าระหว่างอาคารผู้โดยสาร ตลอดจนเปลี่ยนระบบที่หมดอายุการใช้งานเพื่อให้ผู้โดยสารและสายการบินได้รับประสบการณ์ที่ราบรื่นยิ่งขึ้น
สำหรับการลงทุนดังกล่าวจะช่วยให้สนามบินชางงีสามารถแข่งขันได้และตอบสนองความต้องการการเดินทางทางอากาศที่เพิ่มขึ้นก่อนที่อาคารผู้โดยสาร 5 จะเปิดดำเนินการในช่วงกลางภายในปี 2573
ปรับภูมิทัศน์-เพิ่มพื้นที่สีเขียว
จากโมเดลของสนามบินชางงีนั้น นายกีรติ ยังระบุอีกว่า ปัจจุบันทอท.ได้มีประสานความร่วมมือและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างทอท.และสนามบินชางงีในการพัฒนาให้บริการด้านคุณภาพของสนามบินแก่ผู้โดยสารตลอดจนการแก้ไขปัญหาต่างๆและการปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในสนามบิน
ไม่ว่าจะเป็นการจัดพื้นที่พักคอย ที่ทำงานแก่ผู้โดยสาร การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการให้บริการและลดขั้นตอนการเดินทางของผู้โดยสาร โดยมีเป้าหมายการเดินทางเข้า-ออก ระหว่างประเทศผ่านสนามบินจะเป็นรูปแบบ Auto เป็นหลัก
ด้านแนวทางการพัฒนาและปรับปรุงท่าอากาศยานดังกล่าว จะนำไปสู่การมีส่วนร่วมของผู้โดยสาร และการส่งมอบความสุขความบันเทิง การจัดให้มีพื้นที่สำหรับเด็ก (KIDS ZONE) ตลอดจนพื้นที่ GAME ZONE รวมไปถึงเก้าอี้พักคอยที่หลากหลายรูปแบบ
นอกจากจะจัดที่นั่งที่สามารถให้ความสะดวกสบายขั้นพื้นฐานได้เพียงพอแล้ว ทอท.จะเพิ่มความหลากหลายของเก้าอี้ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ผู้โดยสารอีกด้วย คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2568
ส่วนการเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในสนามบินสุวรรณภูมิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น ปัจจุบันทอท.มีการติดตั้ง Solar ในพื้นที่อาคารผู้โดยสารหลักแล้ว 20 เมกะวัตต์
โดยมีเป้าหมายภายใน 3 ปี ทอท.จะเลิกซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฯ โดยเปลี่ยนมาใช้พลังงานไฟฟ้าจากการติดตั้ง Solar Panel บนพื้นที่ข้างทางวิ่ง (รันเวย์) ด้านเหนือ-ใต้ เพื่อนำพลังงานไฟฟ้าที่ได้มาใช้ภายในสนามบินนี้แทน
ปลุกพื้นที่เชิงพาณิชย์ “ด้านทิศใต้”
ทอท.มีแผนแม่บทในการพัฒนาสนามบินหลายแห่ง โดยเฉพาะสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นสนามบินหลักของไทย ซึ่งมีผู้โดยสารมาใช้บริการมากถึง 65 ล้านคนต่อปี เบื้องต้นจากการประเมินของทอท.พบว่า โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ (South Terminal) วงเงิน 1.2 แสนล้านบาท เป็นโครงการหลักที่ทอท.จะเร่งดำเนินการ
ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อทบทวนแผนแม่บท วงเงิน 170 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2568
สำหรับโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ (South Terminal) เป็นพื้นที่ด้านทิศใต้ที่อยู่ท้ายสนามบิน ตามแผนจะเริ่มเปิดประมูลได้ภายในปี 2568 ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 4 ปี คาดว่าแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการภายในปี 2574 จะช่วยรองรับผู้โดยสารได้ 150 ล้านคนต่อปี
และรองรับเที่ยวบินได้ถึง 120 เที่ยวบินต่อชั่วโมง และภายใน 5 ปีข้างหน้า สามารถรองรับประชาชนในพื้นที่กทม.ราว 200 ล้านคนต่อปี ซึ่งเพียงพอต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารที่ใช้บริการสนามบินในระยะเวลา 20 ปีข้างหน้า
เรียกสัมปทานคืนจาก “คิงเพาเวอร์”
ไม่เพียงเท่านั้นทอท.ได้มีการเรียกพื้นที่สัมปทานคืนประมาณ 10% ภายในสนามบินสุวรรณภูมิจากบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการร้านค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ฟรี)
ทั้งนี้ทอท.จะนำพื้นที่บริเวณดังกล่าวมาใช้ประโยชน์เพื่อรองรับการให้บริการแก่ผู้โดยสารแทน ตลอดจนการจัดพื้นที่ Co-working Space ที่คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคมนี้
นอกจากนี้ยังมีการเตรียมพื้นที่ด้านทิศใต้เพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ โดยใช้พื้นที่ในเขตนอกการบิน (แลนด์ไซต์) ที่ใกล้กับอาคารผู้โดยสาร เพื่อรองรับผู้โดยสารที่เดินทางเช็คอินก่อนขึ้นเครื่องบิน สามารถท่องเที่ยว พักผ่อน และช้อปปิ้งได้สะดวกโดยไม่จำเป็นต้องแออัดภายในอาคารผู้โดยสารเพียงอย่างเดียว
สำหรับพื้นที่เชิงพาณิชย์มีลักษณะเดียวกันกับห้างสรรพสินค้า ซึ่งไม่ใช่ร้านสินค้าปลอดภาษี หรือ เอาท์เลต ทางทอท.ยืนยันว่าจะไม่กระทบกับร้านค้าปลอดภาษีที่ให้บริการภายในสนามบิน โดยจะให้บริการแก่ผู้โดยสารที่มาใช้บริการ ตลอดจนประชาชนที่ไม่ได้เดินทางยังสามารถใช้บริการได้เช่นกัน
เมกะโปรเจ็กต์ หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,044 วันที่ 14 - 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567