TDRI ห่วงฐานะการคลังส่อวิกฤต เลิกอัดฉีดระยะสั้น-หันลงทุนโครงสร้าง

14 พ.ย. 2567 | 03:30 น.

นักวิชาการอาวุโส TDRI ถอดรหัสความท้าทายทางการคลังของไทย ท่ามกลางพื้นที่จำกัดเพียง 3 ล้านล้านบาท พร้อมชี้ทางออกการจัดลำดับความสำคัญของการใช้จ่าย เพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนในยุคที่ประเทศเผชิญความท้าทายทั้งด้านโครงสร้างประชากรและการแข่งขันทางเทคโนโลยี

ประเด็นที่ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง ออกมาระบุว่า เศรษฐกิจไทยเผชิญกับความท้าทายจากการขาดการลงทุนต่อเนื่องและหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น รัฐบาลจำเป็นต้องปรับทิศทางนโยบายการคลังอย่างเข้มงวดเพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับประเทศ โดยเฉพาะเมื่อพื้นที่ การคลังมีจำกัดเพียง 3 ล้านล้านบาท

ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ให้มุมมองกับ "ฐานเศรษฐกิจ" เกี่ยวกับแนวทางการจัดการนโยบายการคลังในระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงความสำคัญของการลงทุนที่ยั่งยืนต่อโครงสร้างเศรษฐกิจในอนาคตที่น่าสนใจ

 

ไทย ขาดการลงทุนต่อเนื่อง

ดร.นณริฏ ฉายภาพให้เห็นว่า การขาดการลงทุนต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในระยะยาว และจะมีผลต่อแนวโน้มการเติบโตของ GDP โดยกล่าวว่า ปกติแล้ว ถ้ามองเฉพาะการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลต้องแบ่งการจัดการออกเป็นระยะสั้นและระยะปานกลางถึงยาว

ระยะสั้น คือ การเติมเงินกระตุ้นเศรษฐกิจยามเศรษฐฏิจชะลอตัว ในขณะที่ในระยะปานกลางถึงระยะยาวจะเน้นการจัดการเชิงโครงสร้าง ซึ่งรวมไปถึงการลงทุนต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ นอกจากในด้านเศรษฐกิจแล้ว เม็ดเงินทางการคลังยังต้องแบ่งให้กับด้านสังคม สิทธิและสวัสดิการต่างๆ ด้วย รวมไปถึงงบในการจ้างงานข้าราชการและลูกจ้างภาครัฐ

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า รายการเพื่อใช้จ่ายของภาครัฐมีมากและรัฐต้องจัดการให้น้ำหนักอย่างเหมาะสมในแต่ละมิติ ทั้งนี้ การลงทุนจะเป็นรายจ่ายในหมวดที่สนับสนุนการเติบโตในระยะยาว ทำให้ประเทศมีรายได้เพิ่มมากขึ้นและช่วยให้ภาครัฐมีรายได้มากขึ้นตามไปด้วย

จึงเป็นรายการที่สำคัญที่สุด ในขณะที่รายการอื่นๆ อาจมองได้ว่าส่งผลแค่เพียงในระยะสั้น หรือ เป็นการตอบสนองทางด้านสังคม เช่น ความเท่าเทียมมากกว่าจะช่วยสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในอนาคต ดังนั้น หากภาครัฐไม่ลงทุนต่อเนื่องย่อมทำให้เศรษฐกิจของประเทศในอนาคตมีแนวโน้มลดลง ยิ่งทำให้ภาครัฐมีรายได้น้อยลงตามไปด้วย เเละเพิ่มปัญหาในระยะยาว

กู้ขาดดุลไม่เกินปีละ 7.5 แสนล้าน เป็นหลักคิดที่ผิด? 

ส่วนเป้าหมายในการกู้ขาดดุลไม่เกิน 7.5 แสนล้านบาทต่อปีในช่วง 4 ปีนี้ มีความเป็นไปได้หรือไม่ และมีข้อจำกัดอะไรบ้างที่รัฐต้องคำนึงถึงในการรักษาระดับการกู้ยืมนี้หรือไม่นั้น 

ดร.นณริฏ ให้ความเห็นว่า การตั้งเป้าขาดดุลให้เต็มเพดาน สามารถทำได้ตามกรอบทางด้านการคลัง แต่อาจจะเป็นหลักคิดที่ผิด คือ ต้องกลับมาทบทวนว่าประเทศมีความจำเป็นมากน้อยเพียงใดที่จะต้องกู้ และที่สำคัญ คือ กู้ไปแล้วจะเอาไปทำอะไรที่จะเกิดประโยชน์ต่อการสร้างเศรษฐกิจในอนาคตเพื่อให้สามารถใช้หนี้ได้อย่างเต็มที่และลดระดับหนี้สาธารณะให้กลับมาอยู่ในระดับต่ำ คือ ประมาณร้อยละ 40-50 ต่อ GDP อีกครั้ง

หากเป็นการกู้ที่ไม่จำเป็น หรือไม่มีแนวคิดที่จะลงทุนให้เกิดรายได้ในอนาคตที่เพิ่มขึ้นย่อมไม่เหมาะสมที่จะกู้ให้เต็มเพดาน

กู้เต็มเพดานไม่ใช่การรัดเข็มขัด

ขณะที่มาตรการรัดเข็มขัดทางการคลังในครั้งนี้ มีความเห็นว่า มาตรการการกู้ให้เต็มเพดานที่อ้างถึง ไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นการรัดเข็มขัดแต่อย่างใด มาตรการรัดเข็มขัด ซึ่งมีต้นแบบ เช่น จากประเทศเยอรมัน คือ การทำงบประมาณเกินดุล หรือมีรายจ่ายน้อยกว่ารายได้ ไม่ใช่การตั้งเป้าจะขาดดุลให้เต็มเพดานอย่างที่รัฐบาลเข้าใจ

ดังนั้น การตั้งงบขาดดุลในระดับที่สูงมากเช่นนี้ ย่อมส่งผลดีต่อเศรษฐกิจอย่างน้อยในระยะสั้น แต่เสี่ยงที่จะติดบ่วงหนี้ในระยะยาวหากเป็นรายจ่ายที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชนฺ์อย่างยั่งยืนที่แท้จริง

กระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นอาจจะไม่จำเป็น

ในประเด็นเมื่อพื้นที่ทางการคลังมีจำกัดเพียง 3 ล้านล้านบาท นักวิชาการอาวุโส TDRI กล่าวว่า การจัดลำดับความสำคัญ คือ การกระตุ้นในระยะสั้นอาจจะไม่มีความจำเป็น ไม่ควรใช้จ่ายในส่วนนี้อีกแล้ว

ยกตัวอย่างเช่น ควรยุติโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาทระยะที่สอง ตลอดจนมาตรการที่ลดรายได้ภาครัฐทางอ้อม เช่น การกระตุ้นรายจ่ายของคนมีฐานะ ให้สามารถเอาใบเสร็จมาหักลดหย่อนได้ ขณะที่รายการที่จ่ายเพื่อสังคมควรจะต้องมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยนำเอาเทคโนโลยี และความเข้มแข็งของชุมชนเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ

หากจะมีต้องเน้นไปที่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องการลงทุน ถ้ามีโครงการที่สร้างรายได้ให้กับประเทศในอนาคตได้อย่างยั่งยืน และเรื่องอื่นๆ เช่น การอุดหุนนเด็กแรกเกิด การปรับปรุงทักษะให้สอดรับกับเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศที่กำลังเข้ามา เป็นต้น

ทั้งนี้ โครงการที่ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจควรมีการกันเงินเพื่อติดตามและประเมินผล เพื่อตรวจสอบให้แน่ชัดว่าเกิดประโยชน์อย่างแท้จริงในภาคปฏิบัติ และเรียนรู้จากบทเรียนที่ผิดพลาด หรือประสบความสำเร็จอย่างจำกัดในอดีต

เตือนไทยเสี่ยงคุมหนี้สาธารณะไม่ได้

ดร.นณริฏ มองว่า ปัจจุบัน องค์กรนานาชาติยังมองว่าสถานการณ์หนี้สาธารณะของไทยอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ ซึ่งมาจากประเทศไทยยังส่งออกได้ และมีภาคท่องเที่ยวที่แข็งแกร่ง แต่ในขณะเดียวกัน ภัยคุกคามในอนาคตยังมีอีกมาก ทำให้การมีหนี้สาธารณะในระดับสูงทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาหนี้สาธารณะที่ไม่สามารถควบคุมได้อยู่เสมอ เช่น TDRI เคยนำเสนอว่าปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจจะทำให้ประเทศถูกปรับลดสถานะเครดิตเรตติ้งได้ในอนาคต ซึ่งจะเพิ่มต้นทุนในการกู้ยืมอีกมาก

ไทยต้องเน้นการเติบโตแบบ "คุณภาพ"

อาจต้องยอมรับว่า ประเทศไทยไม่ได้มีโอกาสในการสร้างเศรษฐกิจได้ดีเท่าเดิม แรงงานเข้าสู่วัยชรา เศรษฐกิจไม่ปรับโครงสร้าง ยังไม่เก่งด้านเทคโนโลยี การศึกษาคุณภาพก็แพ้ชาติอื่นๆ ดังนั้น ต้องหันกลับมาเน้นการเติบโตแบบ "คุณภาพ"

เเละพยายามตอบสนองต่อเม็ดเงินที่ลงทุนจากต่างประเทศให้ดี สร้างคุณภาพการเติบโตจากภาคท่องเที่ยวให้ได้อย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันต้องสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทย และแรงงานไทยได้มีโอกาสเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตโลกอีกด้วย