สรรพสามิตจ่อใช้โครงสร้างภาษีบุหรี่อัตราเดียว คาดรีดรายได้เพิ่ม 5%

18 พ.ย. 2567 | 23:11 น.

“เผ่าภูมิ โรจนสกุล” รมช.คลัง สั่งสรรพสามิตศึกษาใช้โครงสร้างภาษีบุหรี่อัตราเดียว แก้ปัญหาบิดเบือนกลไกตลาด-บุหรี่เถื่อนทะลัก คาดเก็บรายได้เพิ่ม 5%

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การจัดเก็บภาษีบุหรี่ 2 อัตรา หรือ 2 เทียร์นั้น ที่ผ่านมา พบว่า มีการบิดเบือนกลไกตลาด จึงได้มอบนโยบายกรมสรรพสามิต พิจารณาข้อดีข้อเสีย รวมทั้งผลกระทบต่างๆ เพื่อนำไปสู่การปรับใช้โครงสร้างภาษีบุหรี่อัตราเดียว ซึ่งคาดว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น 5% 

อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บรายได้ที่เพิ่มขึ้นไม่ใช่จุดประสงค์หลัก โดยจุดประสงค์หลักของกรมสรรพสามิต คือ การสนับสนุนภาคเศรษฐกิจ ลดความเท่าเทียมความเหลื่อมล้ำ และให้ประชาชนได้รับสิ่งที่ดีที่สุด ยืนยันว่า การจัดเก็บรายได้ไม่ได้เป็นเรื่องที่น่ากังวล แต่สิ่งที่น่ากังวล คือ เรื่องบุหรี่เถื่อน กรมสรรพสามิตก็ได้นำ OR บุหรี่ มาใช้ เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบบุหรี่ที่ผ่านการเสียภาษีอย่างถูกต้อง

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

“ตอนนี้กรมสรรพสามิตกำลังศึกษาถึงข้อดีข้อเสีย และต้องคำนึงถึงผลกระทบหลายๆ มิติ รวมถึงผลกระทบของเกษตรกรด้วย ส่วนจะแล้วเสร็จเมื่อไหร่นั้น ต้องดำเนินการโดยเร็วที่สุด แต่คาดว่าจะไม่ทันภายในปีนี้ ซึ่งจะมีการเร่งรัดต่อไป”

สำหรับการศึกษาใช้โครงสร้างภาษีบุหรี่เทียร์เดียว มีข้อดี คือ ไม่บิดเบือนกลไกตลาด สะท้อนเรื่องการจัดเก็บภาษีทั่วไป เนื่องจากการจัดเก็บภาษีบุหรี่ 2 เทียร์ เป็นการเก็บตามมูลค่าแบ่งเป็น 2 อัตรา คือ  หากราคาขายปลีกแนะนำไม่เกินซองละ 72 บาท เสียภาษีตามมูลค่าในอัตรา 25% ส่วนบุหรี่ที่มีราคาขายปลีกแนะนำเกินซองละ 72 บาท เสียภาษีที่อัตรา 42% 

ทั้งนี้ เราพบปัญหาเรื่องของราคาที่กองกันอยู่ เช่น กำหนดเทียร์ไว้ที่ 72 บาท ราคาก็ไปกองอยู่ที่ 72 บาท ส่วนราคาที่เกิน 72-95 บาท ก็หายไปหมด อย่างไรก็ตาม การใช้อัตราภาษีบุหรี่ 2 เทียร์ ก็มีทั้งข้อดี และข้อเสีย ฉะนั้น จึงได้มอบหมายให้สรรพสามิตไปศึกษาอย่างครอบคลุม 

ขณะที่บุหรี่ไฟฟ้านั้น เป็นเรื่องที่ต้องหารือกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภาพใหญ่ โดยส่วนของกรมสรรพสามิตนั้น ไม่ได้อยู่ในพิกัดที่สามารถจัดเก็บภาษีได้ 

นอกจากนี้ ได้มีการหารือร่วมกับการยาสูบแห่งประเทศไทย โดยได้รับรายงานว่า มีแนวคิดที่จะส่งออกใบยาสูบ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และยังมีแนวคิดที่จะส่งออกบุหรี่ไปชิงส่วนแบ่งการตลาดในต่างประเทศด้วย