ส่องคลังทองคำธนาคารกลางทั่วโลก แรงหนุนราคาทองพุ่ง

19 พ.ย. 2567 | 05:14 น.
อัปเดตล่าสุด :19 พ.ย. 2567 | 05:26 น.

อัปเดตข้อมูลการถือครองทองคำของธนาคารกลางทั่วโลกประจำเดือนพฤศจิกายน 2024 เผยสัดส่วนการสำรองทองคำต่อสินทรัพย์ต่างประเทศ

ข้อมูลวิเคราะห์ ราคาทองคำ จากฮั่วเซ่งเฮง ระบุว่า ราคาทองคำคืนที่ผ่านมาได้รับแรงหนุนจาก 2 ปัจจัยสำคัญ คือ การอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และแรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยท่ามกลางความตึงเครียดของสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน หลังจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน อนุมัติให้ยูเครนใช้ขีปนาวุธ ATACMS ของสหรัฐฯ โจมตีเข้าไปในดินแดนรัสเซีย ส่งผลให้ตลาดกลับมากังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งที่อาจทวีความรุนแรงขึ้น

ด้าน ราคาทองคำโลก ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 2,620 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และกำลังทดสอบแนวเส้นค่าเฉลี่ย 200 ชั่วโมง โดยคาดว่าราคาอาจมีการย่อตัวในระยะสั้นก่อนที่จะฟื้นตัวขึ้นอีกครั้ง หากยังไม่มีปัจจัยใหม่ที่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ ราคาทองคำ อาจเผชิญแรงต้านสำคัญที่ระดับ 2,642 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นระดับที่คาดว่าจะผ่านขึ้นไปได้ยาก

ล่าสุด โกลด์แมน แซคส์ สถาบันการเงินชั้นนำของโลก ได้ออกมาแนะนำให้ "ลงทุนในทองคำ" พร้อมคาดการณ์ว่าราคาทองคำมีโอกาสพุ่งแตะระดับ 3,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ภายในเดือนธันวาคม 2568

โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการซื้อที่เพิ่มขึ้นของธนาคารกลาง และแรงหนุนจากเม็ดเงินที่จะไหลเข้าสู่กองทุน ETF ทองคำ เมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ย

ทองคำ เป็นองค์ประกอบสำคัญของเงินสำรองของ ธนาคารกลาง เนื่องจากความปลอดภัย สภาพคล่อง และผลตอบแทน ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์การลงทุนที่สำคัญสามประการของธนาคารกลาง ดังนั้น ธนาคารกลางจึงถือครองทองคำจำนวนมาก โดยคิดเป็นประมาณหนึ่งในห้าของทองคำทั้งหมดที่ขุดได้ตลอดประวัติศาสตร์

เพื่อช่วยให้เข้าใจภาคส่วนนี้ของ ตลาดทองคำ สภาทองคำโลก จึงเผยแพร่ข้อมูลสำรองทองคำ ซึ่งรวบรวมโดยใช้สถิติ IFS ของ IMF ซึ่งติดตามการซื้อและการขายที่ธนาคารกลาง (และสถาบันทางการอื่นๆ ตามความเหมาะสม) พร้อมกับทองคำเป็นเปอร์เซ็นต์ของเงินสำรองระหว่างประเทศ

สถิติการถือครองทองคำทางการของโลก เดือนพฤศจิกายน 2024

(หน่วย : ตัน)

  • สหรัฐอเมริกา  8,133.5 
  • เยอรมันนี 3,351.5 
  • IMF 2,814 
  • อิตาลี 2,451.8
  • ฝรั่งเศส 2,436.9 
  • รัสเซีย 2,335.9 
  • จีน 2,264.3 
  • สวิตเซอร์แลนด์ 1,039.9
  • อินเดีย 854.7
  • ญี่ปุ่น 846 
  • เนเธอร์เเลนด์ 612.5 
  • ตุรกี 595.4
  • ธนาคารกลางยุโรป 506.5
  • ไต้หวัน 422.7 
  • โปแลนด์ 419.7.7
  • โปรตุเกส 382
  • อุซเบกิสถาน 373.9
  • ซาอุดีอาระเบีย 323.1 
  • สหราชอาณาจักร 310.3
  • เลบานอน 286.8
  • คาซัคสถาน 285.9
  • สเปน 281.6
  • ออสเตรเลีย 280 
  • ไทย 234.5