นายธิบดี วัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นในบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI พร้อมที่จะใช้สิทธิ์แปลงหนี้เป็นทุนในการบินไทยทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์
โดยมูลหนี้ทั้งหมดมีอยู่ประมาณ 7-8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้เก่าที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2563 โดยตามแผนฟื้นฟูกินการของการบินไทยกำหนดให้เจ้าหนี้แปลงหนี้เป็นทุนแบบบังคับจำนวน 24.5% ส่วนที่เหลือ 75.5% ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของเจ้าหนี้
สำหรับเหตุผลที่กระทรวงการคลังพร้อมแปลงหนี้เป็นทุน เนื่องจากประเมินว่า ผลประกอบการของการบินไทยดีขึ้นโดยลำดับ ซึ่งเมื่อการบินไทยกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แล้ว เจ้าหนี้สามารถขายหุ้นออกไปได้หลังจากครบกำหนดการถือหุ้น 1 ปี ซึ่งหากรอรับการชำระคืนหนี้ จะต้องใช้เวลานานประมาณ 11-12 ปี
“ข้อดีของการแปลงหนี้เป็นทุน คือ เมื่อเราถือหุ้นครบกำหนด 1 ปี และราคาหุ้นดีขึ้น เราสามารถขายหุ้นออกไป และได้เงินกลับมา แต่ถ้าเรารอการชำระหนี้ ต้องใช้เวลานาน แม้ว่า จะได้รับอัตราดอกเบี้ยคืนเพิ่มอีก 1.5% ของมูลหนี้ก็ตาม”
นอกจากนี้ คลังเชื่อว่า ทางกลุ่มเจ้าหนี้ก็จะใช้สิทธิ์แปลงหนี้เป็นทุนเช่นเดียวกัน แต่จะมากหรือน้อยขณะนี้ยังไม่ทราบ ซึ่งเจ้าหนี้จะต้องแจ้งก่อนวันที่ 21 พ.ย.นี้ ทั้งนี้ ทางการบินไทยจะต้องแจ้งรายละเอียดของสัดส่วนการแปลงหนี้เป็นทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นรับทราบ เพื่อให้ผู้ถือหุ้นนำมาประเมินว่า จะใส่เงินเพิ่มทุนการบินไทยในสัดส่วนเท่าไหร่ เพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้น
ทั้งนี้ ทางการบินไทยจะต้องแจ้งราคาขายต่อหุ้นสำหรับการเพิ่มทุนของผู้ถือหุ้นในวันที่ 2 ธ.ค.นี้ ซึ่งกระทรวงการคลังจะต้องนำข้อมูลเรื่องการแปลงหนี้เป็นทุนของเจ้าหนี้ทั้งหมด และราคาที่การบินไทยเสนอขายเพื่อเพิ่มทุน เพื่อนำมาประเมินว่า กระทรวงการคลังจะต้องใช้เงินในการเพิ่มทุนจำนวนเท่าไหร่ เพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้นไว้
ขณะเดียวกัน กระทรวงการคลังจะต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติการใส่เงินเพิ่มทุนในการบินไทย เพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้นในระดับดังกล่าว โดยจะต้องเสนอภายในเดือนพ.ย.นี้ เพื่อส่งเรื่องการเพิ่มทุนไปยังการบินไทยภายในวันที่ 11 ธ.ค.นี้
สำหรับหลักการของการถือหุ้นในการบินไทยนั้น กระทรวงการคลังไม่ต้องการให้มีสัดส่วนการถือหุ้นจำนวนมาก เพราะไม่ต้องการให้การบินไทยกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจอีก แต่ก็ต้องรักษาสัดส่วนการถือหุ้นไว้ไม่ให้น้อยเกินไป เพื่อให้มีอำนาจในการบริหารจัดการด้วย โดยสัดส่วนการถือหุ้นที่ต้องการคือระดับประมาณเกินกว่า 40% เล็กน้อย